13 ก.ค. 2020 เวลา 10:24 • ประวัติศาสตร์
เร็วๆนี้อดีตกรรมการแบงก์ชาติและกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเผยแพร่บทความเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ “แบงค์ชาติ” [1] นอกจากแนะนำนโยบายการเงินแล้วก็นำเสนอด้านการบันทึกประวัติศาสตร์ของแบงค์ชาติด้วย กล่าวคือ
“6. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้ผู้ว่าคนใหม่ได้ฟื้นฟูเกียรติภูมิของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง สำนักงานธนาคารชาติไทยซึ่งต่อมาก็คือธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เพราะที่ผ่านมาได้มีความพยายามลดบทบาทของรัฐบุรุษผู้นี้ที่มีต่อการจัดตั้งแบงก์ชาติ นอกจากนี้ควรกล่าวยกย่องสามัญชนอีกท่านหนึ่ง คือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เจ้าของหนังสือ "ทรัพย์ศาสตร์" ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกและผู้เสนอแนวคิดการจัดตั้งธนาคารกลางตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475”
ข้อเสนอนี้มีมูลความจริง เป็นข้อเสนอที่เพิ่มเติมจากการเชิดชูภาพวีรบุรุษของ“ป๋วย อึ๊งภากรณ์”ในประวัติศาสตร์แบงค์ชาติในรูปแบบต่างๆ อาทิ การก่อตั้งสถาบันวิจัยป๋วย การแจกรางวัลป๋วย การอ้างอิงถึงสถานะ“ลูกจีนรักชาติ”โดยเฉพาะเวลาอดีตนักเรียนทุนแบงก์ชาติอยากทำงานให้นายพลหลังรัฐประหาร เนื่องจากเขาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติภายใต้เผด็จการทหารนานถึง 12 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2502 ถึงพ.ศ. 2514
1
บทความนี้ขอชวนผู้อ่านให้ตามไปดู “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพศ.2485” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกเพื่อก่อตั้งแบงก์ชาติ [2] จะได้เห็นว่าใครเป็นใครในยุคก่อตั้งแบงค์ชาติ มีความจริงสำคัญ 3 ประการในพรบ.นี้
1. หน้าแรกของพรบ. : กฎหมายนี้ตราในเดือนเมษายน พศ. 2485 โปรดสังเกตว่าเป็นเวลา 4 เดือนหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในเดือนธันวาคม พศ. 2484
1
2. หน้าแรกของพรบ. : คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงชื่อว่า “อาทิตย์ทิพอาภา” และ “ปรีดี พนมยงค์”
3. หน้าสุดท้ายของพรบ. : นายกรัฐมนตรีผู้ลงนามในหน้าสุดท้ายชื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม”
จอมพล ป. อยู่ที่ไหนในประวัติศาสตร์แบงค์ชาติ?
ในมโนทัศน์ของ“คนรักปรีดี”และ“คนรักป๋วย” ไม่มีจอมพล ป. ในประวัติศาสตร์แบงค์ชาติ
ในประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดยแบงค์ชาติเอง มีการพาดพิงถึง จอมพล ป. สั้นๆเพียงว่า [3]
“ต่อมาเมื่อ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง...”
ส่วนประวัติศาสตร์ตอนก่อตั้งแบงก์ชาตินั้นอ้างอิงถึงพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยซึ่งเป็นผู้ว่าการแบงค์ชาติคนแรกและรัฐบาลไทยโดยรวม ไม่มีการอ้างอิงถึงจอมพล ป. แบงก์ชาติบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไว้ว่า [3]
“ญี่ปุ่นนำกำลังทหารเข้ามายังประเทศไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และได้เสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้างานต่างๆ เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลไทยไม่อาจยอมให้เป็นเช่นนั้นได้ จึงมอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อเปลี่ยนฐานะของสำนักงานธนาคารชาติไทยให้เป็นธนาคารกลาง และให้ประกาศใช้โดยเร็วที่สุด พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ..๒๔๘๕”
การไม่มีที่ปรึกษาเป็นชาวญี่ปุ่นทำให้แบงค์ชาติเป็นอิสระได้จริงหรือ? หลังไทยเข้าร่วมสงครามฝ่ายอักษะเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ธนาคารอังกฤษในไทยก็โดนปิด ทำให้ทำธุรกรรมข้ามชาติในสกุลปอนด์และดอลลาร์ไม่ได้
การผลักดันให้ก่อตั้งแบงก์ชาติหรือธนาคารกลางโดยรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นทำเช่นนี้ในดินแดนอื่นที่ยึดครองก่อนแล้ว เช่น ธนาคารแห่งโชเซนที่เกาหลี ธนาคารแห่งแมนจูเรีย เมื่อไทยกลายเป็นพันธมิตรและออกกฎหมายเพื่อก่อตั้งแบงค์ชาติ แบงก์ชาติก็ดำเนินนโยบายการเงินแบบร่วมมือกับญี่ปุ่น มีการพิมพ์ธนบัตรให้กองทัพญี่ปุ่นใช้จ่ายเหมือนกับธนาคารกลางอื่นๆในดินแดนในบังคับของญี่ปุ่นก่อนญี่ปุ่นแพ้สงคราม มูลค่าเงินประมาณ 5-6% ของจีดีพีในขณะนั้น อัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเยนก็โดนกำหนดให้คงที่ หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกก็ชดเชยด้วยการโอนทองคำให้แบงค์ชาติ [4]
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง
แบงก์ชาติเพิ่งอายุ 78 ปีดังนั้นประวัติศาสตร์แบงค์ชาติก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง น่าสนใจว่าตราของแบงก์ชาติคือ “พระสยามเทวาธิราช” แบงค์ชาติบันทึกไว้ว่า [3]
“ตราธนาคารแห่งประเทศไทย คือ พระสยามเทวาธิราชในเหรียญเสี้ยว อัฐ โสฬส ที่ออกใช้ในรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง และเพิ่มถุงเงินในพระหัตถ์เบื้องขวา ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงผู้คุมถุงเงินของชาติ อันเป็นหน้าที่หลักของธนาคารแห่งประเทศไทย พระแสงธารพระกรในพระหัตถ์ซ้าย เพื่อคอยปัดป้องผู้ที่มารุกราน แต่ได้เปลี่ยนตอนปลายจากรูปดอกไม้มาเป็นลายดอกบัว”
1
ไม่ปรากฎชัดเจนว่าแบงค์ชาติใช้ตรานี้ตั้งแต่ก่อตั้งในปี พศ.2485 หรือไม่? กรมพระคลังข้างที่ยุครัชกาลที่ 5 และสำนักงานธนาคารชาติไทยยุครัชกาลที่ 8 ก็ไม่ใช่สถาบันที่พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พศ. 2485 จัดตั้งขึ้น
ในอนาคต ประวัติศาสตร์แบงก์ชาติจะจัดวางจอมพล ป. ไว้ตรงไหน?
หมายเหตุ
[1] อดีตกรรมการ ธปท. เสนอแนวนโยบายทางการเงินเร่งด่วนหลังภาคส่งออกทรุดตัวเร็ว
[2] พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พศ. 2485
[3] ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย
[4] Saito, Makoto (2017) “On wartime money finance in the Japanese occupied territories during the Pacific War: The case of instant reserve banks as bad central banks.” Discussion Papers, Graduate School of Economics, Hitotsubashi University, No. 2017-03.
โฆษณา