14 ก.ค. 2020 เวลา 05:15 • หนังสือ
สัมผัสความเจ็บปวดและความซับซ้อนของจิตใจผ่านการอ่าน Creatures of a Day
หนังสือแนวจิตบำบัดเล่มที่สองที่ผมอ่านคือ Creatures of a Day ที่มีชื่อไทยว่า “พลัง ชีวิต และความฝัน : เรื่องเล่าจากห้องบำบัด” เป็นหนังสือที่เหมาะมากที่จะเรียนรู้ความซับซ้อนของมนุษย์และความยากในการฟื้นฟูจิตใจ
ก่อนหน้านั้นผมอ่าน The Examine Life แล้วชอบมาก อ่านง่ายเลยทีเดียว ผมอยากอ่านแบบนี้อีก บังเอิญเจอ Creatures of a Day ก็เลยซื้อแบบไม่ลังเล แต่คราวนี้ผิดคาด อ่านยากจนมึนงง ต้องอ่านถึงสองรอบกว่าจะเก็บเรื่องราวในเล่มได้
ผมว่าถ้าจะอ่านเล่มนี้ควรอ่านแบบจริงจังกันเลยทีเดียว เพราะผู้เขียนคือ คุณหมอเออร์วิน ดี. ยาลอม (Irvin D. Yalom) จะพาเราไปร่วมนั่งฟังในห้องบำบัด ถ้าไม่ตั้งใจให้ดีล่ะก็ คุณจะไม่สามารถซึมซับความรู้สึกของคนที่เข้ามารับการบำบัดได้
Irvin D. Yalom
และผมว่าความยากของนักจิตบำบัดก็คือตรงนี้แหละ พวกเขาต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันตรงหน้าถึงจะทำให้การบำบัดได้ผลออกมาดี
ในเล่มนี้คุณจะได้รับรู้เรื่องราวของคน 10 คนที่มีปัญหาจิตใจในแบบที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ละคนมีความซับซ้อนในแบบของตัวเอง คุณหมอก็ปรับวิธีรักษาให้เข้ากับแต่ละคน ต้องบอกเลยว่างานนี้มีแต่ความไม่แน่นอน คุณหมอยังบอกเองว่า
“ครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้ป่วยในเรื่องเหล่านี้ได้รับประโยชน์ในวิถีทางที่ผมไม่สามารถคาดเดาได้เลย”
อย่างเช่นการรักษาที่ดูงง ๆ ในกรณีของคุณพอล แอนดรูว์
คุณแอนดรูว์เป็นชายอายุ 84 ปี ที่ดูร่วงโรย หลังโก่งโค้งมากเสียจนเหมือนเขากำลังสำรวจอะไรซักอย่างที่พื้น ก่อนจะมาเขาได้ส่งอีเมล์เกริ่นประมาณว่า “คุณหมออยากพบเพื่อนร่วมอาชีพนักเขียนที่มีอาการเขียนไม่ออกมั้ยครับ”
แต่ไป ๆ มา ๆ ก็รู้ว่าเขาไม่ได้อยากรักษาอาการเขียนไม่ออกหรอก เขามีปัญหานี้จริง แต่ที่มาวันนี้ไม่ได้มาเพื่อแก้ปัญหานี้ มันมีอีกเรื่องที่เขาอยากให้หมอทำคือ อ่านเอกสารที่เขาเตรียมมาในวันนี้
การพบกันมีแค่ครั้งเดียวและเวลาก็มีจำกัดแถมเอกสารที่ว่านั่นก็หนามาก มันคือจดหมายตอบโต้ระหว่างคุณแอนดรูว์กับโคล้ด มิวเลอร์ผู้เป็นเหมือนอาจารย์ของเขา หมอยาลอมไม่มีทางเลือกมานักนอกจากต้องอ่าน
“จะให้ทำอะไรล่ะ เขามุ่งมั่นขนาดนี้ ผมได้เตือนไปแล้วว่าเรามีเวลาจำกัด แต่อย่างว่า พอลอาจจะรู้ก็ได้ว่าเขาทำอะไรอยู่ บางทีเขาอาจจะเชื่อว่าจดหมายโต้ตอบเหล่านี้จะให้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเขาที่ผมต้องการ” คุณหมอกล่าว
จดหมายเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างดี ในชุดแรก ๆ ความสัมพันธ์แบบครู - ศิษย์ค่อนข้างชัดเจน มีการมอบหมายงานให้คุณแอนดรูว์กลับไปทำเป็นการบ้าน แต่พอผ่านไปได้ซักครึ่งปี บทบาทนั้นก็ค่อย ๆ หายไป บางครั้งมิวเลอร์ก็ส่งบทกวีให้แอนดรูว์ออกความเห็น และคำตอบของแอนดรูว์ก็มีทุกอย่างยกเว้นความเคารพ
1
เมื่ออ่านไปซักพักหมอยาลอมก็พบจดหมายฉบับหนึ่งที่เป็นกุญแจสำหรับเรื่องนี้ คุณแอนดรูว์เขียนว่า
“คุณเห็นใช่มั้ยโคล้ด สิ่งที่เหลืออยู่สำหรับผมไม่มีอะไรนอกจากการมองหาสติปัญญาที่ประเสิรฐและเฉียบแหลมที่สุดที่ผมจะหาได้
.
ผมต้องการสติปัญญาที่สามารถรับรู้และเข้าใจความอ่อนไหวของผม ความรักที่มีต่อบทกวี และสติปัญญาที่หลักแหลมและอาจหาญมากพอที่จะร่วมบทสนทนากับผม มีคำพูดใดของผมที่ทำให้หัวใจของคุณเต้นแรงบ้างมั้ยโคล้ด
.
ผมต้องการคู่เต้นรำที่มีปลายเท้าแผ่วเบา คุณจะให้เกียรตินี้แก่ผมมั้ย”
ความจริงแล้วมิวเลอร์เสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีก่อน และตอนนี้คุณแอนดรูว์กำลังมองหาคู่เต้นรำคนใหม่ กลายเป็นว่าไม่ใช่หมอยาลอมที่กำลังสัมภาษณ์ แต่เป็นคุณแอนดรูว์ต่างหากที่กำลังสัมภาษณ์หมอ
และในวันนี้คุณแอนดรูว์ไม่ต้องการอะไรนอกจากขอให้หมอพูดถึงความคิดและความรู้สึกที่มีต่อจดหมายเหล่านี้ ฟังดูกว้างจนไม่รู้จะกำหนดกรอบการให้คำแนะนำอย่างไร แต่ “การสังเกตใด ๆ ทุกสิ่งก็ช่วยผมมากที่สุดแล้ว” คุณแอนดรูว์ว่างั้น
หมอยาลอมตอบไปตามสิ่งที่เขารับรู้ได้จากการอ่าน เขารู้สึกว่าทั้งสองคนนี้ต่างโต้ตอบกันในระดับที่เท่าเทียม ต่างคนต่างให้ความเคารพกันอย่างถึงที่สุด
.
เขาสามารถจินตนาการได้เลยว่าเวลาและพลังงานทั้งหมดที่มิวเลอร์ให้กับแอนดรูว์ต้องมากเกินกว่าที่จะสามารถให้กับลูกศิษย์คนไหน ๆ
.
การที่พวกเขายังเขียนถึงกันแม้ว่าแอนดรูว์จะไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้ว แสดงให้เห็นว่าต่างคนต่างเป็นคนสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของกันและกัน
เมื่อพูดจบ นัยต์ตาของคุณแอนดรูว์มีน้ำตาคลอ เขากำลังดื่มด่ำทุกสิ่งที่หมอยาลอมพูดไปและเห็นได้ชัดว่าเขากระหายอยากได้อีก
บุคคลที่คุณแอนดรูว์ต้องการได้เสียชีวิตไปแล้ว และเขาก็เริ่มชราลงเกินกว่าจะเก็บความจริงนี้ไว้คนเดียว เขาต้องการสักขีพยาน ใครซักคนที่มีภูมิรู้ และหมอยาลอมก็ได้รับบทบาทนั้น...
...ชั่วโมงบำบัดจบลงเท่านี้ หมอยาลอมถามว่ายังมีความเจ็บปวดจากการสูญเสียนั้นอยู่หรือไม่ คุณแอนดรูว์ไม่ตอบ แต่เมื่อออกจากห้องบำบัดแล้ว เขาเดินออกไปด้วยท่าเดินที่เต็มไปด้วยพลัง
ยากที่จะเข้าใจในกรณีของคุณแอนดรูว์ แต่มันคือปรากฎการณ์หนึ่งในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า The Crooked Cure
ผู้ป่วยจะถ่ายโอนความรู้สึกของตนที่เคยมีให้กับบุคคลสำคัญในอดีตมายังบุคคลปัจจุบัน ในที่นี้คือนักจิตบำบัด อาการนี้จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเหตุผลและปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพียงแค่ผู้ป่วยรู้สึกว่านักบำบัดเป็นบุคคลพิเศษ การปรากฏตัวของนักบำบัดตรงหน้าผู้ป่วยก็มีผลทางการรักษาแล้ว
แต่ผลเสียคือเมื่ออาการนี้หายไป ผู้ป่วยจะกลับคืนสู่สภาวะเดิม
เป็นความจริงทีเดียวที่จะบอกว่าจิตใจของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อน
1
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นได้ชัดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ความซื่อสัตย์และความเต็มใจที่จะตอบคำถามตรง ๆ ผมว่าเรื่องนี้มันทำได้ยาก มันเหมือนต่างคนต่างแก้ผ้าแล้วมานั่งคุยกัน
สมมติว่าคุณเป็นนักบำบัดที่มีชื่อเสียง อีกฝ่ายเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัญหาด้านจิตใจ เงินที่หาได้ส่วนใหญ่ต้องนำไปรักษามะเร็ง แล้วจู่ ๆ เธอก็เปิดเผยความรู้สึกออกมาว่า
“ทำไมคุณหมอถึงคิดค่ารักษาแพงขนาดนี้ ทำไมคุณหมอถึงต้องการเงินมากมายขนาดนั้น”
คุณจะตอบว่าอย่างไร เห็นได้ชัดว่านี่เป็นคำถามที่ชวนกระอักกระอ่วน คุณร่ำรวยพอที่จะไม่ต้องทำงานแล้วก็ได้ ส่วนอีกฝ่ายพยายามกระเสือกกระสนหาเงินมาเพื่อมารับการบำบัดกับคนที่เก่งที่สุด
วิธีของหมอยาลอมก็คือ พูดความจริง พูดความจริง พูดความจริง
ถ้าตอนที่ได้ยินคำถาม ภาษากายแสดงออกมาชัดว่าไม่สบายใจ ก็พูดออกไปตามตรงว่าไม่สบายใจที่ถูกถามแบบนั้น แล้วบอกความรู้สึกตอนที่ได้ฟังคำถามนั้น จากนั้นก็เสนอทางออกให้อีกฝ่ายสบายใจมากขึ้น
ถ้าเริ่มด้วยความจริงใจแล้ว ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น แบบที่หมอเจอนักเขียนหญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยตีพิมพ์ผลงานเพราะไม่อยากให้ใครเห็น ไม่อยากให้ใครอ่าน ความรู้สึกนั้นรุนแรงมากเพราะตอนอายุ 14 เธอเคยเผาบทกวีของเธอเพราะพ่อแอบมาค้นลิ้นชักมาแล้ว
แต่ความจริงใจของหมอยาลอมก็ทำให้เธอยอมที่จะขนลังกระดาษที่บรรจุงานเขียนแน่นเอี้ยดของเธอมาอ่านให้คุณหมอฟัง
“ดิฉันไม่เคยอ่านงานให้ใครฟัง” หญิงสาวกล่าว
“ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสมไปกว่าเวลานี้อีกแล้ว” หมอยาลอมตอบ
เรื่องการเต็มใจพูดความจริงนั้นเห็นได้ชัดมากในบทที่เป็นเรื่องของนักธุรกิจที่ชื่อว่าชาร์ลส์ เขาเป็นคนมีฐานะดี แต่ภายในใจเขามีแต่ความว่างเปล่า “ความรู้สึกไม่มั่นคงของชาร์ลส์ดูเหมือนจะคงที่และไม่มีความภาคภูมิใจใด ๆ มาเขย่ามันได้” คุณหมอบอก
ชาร์ลส์สูญเสียพ่อเมื่อตอนอายุ 8 ขวบ พ่อของเขาออกไปแล่นเรือตอนเช้าและไม่กลับมาอีกเลย ส่วนแม่ก็ไว้ทุกข์ตลอดชีวิต เขาบอกว่าตัวเขาต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ของตัวเอง
เมื่อเข้าวัยทำงานเขาก็รู้จักนักธุรกิจที่ชื่อว่าเจมส์ เพอรี่ เขาคนนี้ช่วยเหลือชาร์ลส์หลายอย่าง ดูแลชาร์ลส์อย่างดี ทำให้ชีวิตการทำงานไปได้สวย
แต่หลังจากพบกับเพอรี่ไม่นาน ชาร์ลส์ก็มารับการบำบัดกับหมอยาลอม
มันช่างดูขัดแย้ง ชีวิตดีแบบนี้จะมาบำบัดจิตใจทำไมล่ะ สาเหตุก็เพราะความใจดีของเพอรี่นั่นเอง เขาดูแลชาร์ลส์เหมือนพ่อ มันทำให้ความทรงจำที่เจ็บปวดเกี่ยวกับพ่อรื้อฟื้นขึ้นมา
ใครจะไปคิดกันล่ะว่าการได้รับสิ่งดี ๆ จะออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้
แต่แล้วชาร์ลส์ก็ได้รับข่าวร้าย เพอรี่ได้เสียชีวิตลงด้วยเส้นเลือดสมองแตก ช่างน่าสงสาร เขาสูญเสียพ่อไปและเก็บความเจ็บปวดนั้นไว้ พอมาเจอคนดี ๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนพ่อ ความเจ็บปวดก็กลับมาใหม่ และคนที่เป็นเหมือนพ่อคนนั้นกลับต้องเสียชีวิตไปอีก
แต่ความรู้สึกช็อกยังไม่จบสิ้น เขาได้รู้ความจริงว่าที่จริงเพอรี่ไม่ได้ตายด้วยเส้นเลือดสมองแตก แต่เขาฆ่าตัวตาย ความจริงนี้ทำให้เขาสับสนอย่างมาก
ตลอดเวลาที่เพอรี่ทำดีกับชาร์ลส์ ในเวลาเดียวกันเขาก็คิดเรื่องฆ่าตัวตายไปด้วย เพอรี่เป็นคนที่แข็งแกร่ง เป็นคนมีความสามารถ ช่างห่วงใย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังฆ่าตัวตาย แล้วมีใครรู้อะไรอีกบ้าง ภรรยาของเพอรี่รู้อยู่แล้วหรือว่าไม่รู้เลยว่าเพอรี่อยากฆ่าตัวตาย แล้วเขาจะเชื่ออะไรได้อีก ถึงตอนนี้ชาร์ลส์ไม่รู้แล้วว่าอะไรคือความจริง
ผมว่าอาการที่ไม่รู้ว่าจะเชื่ออะไรกันแน่นี่ทำให้หดหู่มาก ๆ มันกดดันจิตใจของเราจนหยุดชะงักทุกอย่าง ชาร์ลส์ถึงขนาดสงสัยว่าหมอยาลอมยังอยู่กับเขาหรือเปล่าหรือคิดเรื่องอื่นกันแน่
หมอยาลอมรู้สึกถึงช่องว่างในใจของชาร์ลส์ที่กว้างมากซึ่งมันจะทำให้การบำบัดไม่ไปไหน
และวิธีที่จะช่วยได้คือพูดความจริง
ชาร์ลส์ถามว่าหมอคิดอะไรอยู่ หมอยาลอมตอบความคิดแรกที่เข้ามาในหัวของเขา ซึ่งเป็นอะไรที่เกี่ยวกับกาแฟ
กาแฟเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ไม่ทราบ ไม่มีใครรู้ได้นอกจากหมอยาลอม แต่นั่นคือความคิดแรกที่เข้ามาในหัวของหมอ และหมอก็อธิบายกระบวนการคิดให้ชาร์ลส์ฟัง
แล้วหลังจากนั้นต่างคนต่างพูดความคิดแรกที่เข้ามาในหัว หมอยาลอมจะถามเป็นระยะว่า
“ตอนนี้เราเป็นอย่างไรกันบ้าง ช่องว่างนั้นมีขนาดเป็นอย่างไร” พวกเขาทำงานตรงนี้กันหนักมาก
การพูดความคิดแรกมันยากตรงไหน มันยากตรงที่เราอาจจะมีความคิดที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวดและเราต้องพูดออกมา ซึ่งมันยากจริง ๆ บางทีต้องพูดเรื่องความตายซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะกล้าพูด เราไม่ได้ถูกฝึกให้พูดกันแบบนั้น แต่สำหรับการบัดบัดนั้นหมอบอกว่า
“ที่นี่เราไม่มีหรือไม่ควรมีข้อห้ามใด ๆ เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ และคุณต้องนึกด้วยว่าคุณไม่ได้ยกเรื่องอะไรที่ผมไม่ได้คิดถึงเองมาก่อนมากมาย จิตวิญญาณของการทำงานด้านนี้คือเปิดตาให้กว้างสำหรับทุกสิ่ง”
ทั้งสองต่างพูดความคิดแรกจนจบชั่วโมง ชาร์ลส์บอกว่า “ผมรู้สึกหมดแรง คุณหมอคงจะรู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน”
“ไม่เลย จริง ๆ แล้วชั่วโมงที่ลึกซึ้งและซื่อสัตย์แบบนี้ทำให้ผมมีชีวิตชีวาขึ้น คุณทำงานหนักในวันนี้ ชาร์ลส์ เราสองคนทำงานหนักด้วยกันทั้งคู่” หมอยาลอมกล่าว
แต่เมื่อชาร์ลส์เดินออกจากออฟฟิศ หมอยาลอมก็กลับมาคิดใหม่ว่าเขาทำพลาดแล้ว เขาจะจบชั่วโมงแบบนี้ไม่ได้ เขาตะโกนเรียกชาร์ลส์แล้วบอกว่า
“ชาร์ลส์ ผมหลุดไปอยู่ในโหมดเดิม ๆ ของผมและทำในสิ่งที่ผมไม่ต้องการจะทำ ความจริงคือว่าผมรู้สึกเหนื่อยจากการทำงานที่หนักและเข้มข้นของเราจริง ๆ และค่อนข้างจะหมดแรง ผมรู้สึกขอบคุณที่ไม่มีผู้ป่วยคนอื่นอีกในวันนี้”
การพูดความคิดแรกออกไปเป็นเวลานานเป็นงานที่หนักจริง ๆ มันไม่ใช่สิ่งเราทำได้โดยอัตโนมัติ เราต้องมีสติที่จะรับทราบความคิดแรกตลอดเวลา
การอ่านรอบที่สองแบบจริงจังทำให้สมองของผมเหนื่อยล้าเลยทีเดียว ผมไม่สามารถเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าหนังสืออ่านเล่นเบาสมองได้เลย ผมต้องเก็บเรื่องราวและความรู้สึกของแต่ละคนตลอดทั้งเล่มถึงจะเข้าใจสิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะสื่อ
เพราะในเรื่องจิตบำบัดแล้ว ทุกความรู้สึก ทุกความคิด ล้วนสำคัญทั้งสิ้น คุณหมอถึงได้ถามเป็นระยะว่า “ตอนนี้รู้สึกอย่างไร” “ช่วยพูดถึงความรู้สึกนี้หน่อยครับ” เหมือนกับที่เชอร์ล็อก โฮล์มส์บอกว่า
“ผมยินดีที่จะฟังรายละเอียดทั้งหมด”
เพราะจุดเล็ก ๆ บางอย่างอาจพาไปหาคำตอบ
ผมคิดว่าการอ่าน Creatures of a Day ในช่วงเวลาที่ต่างกันจะทำให้ได้ข้อคิดกันคนละแบบ การอ่านครั้งนี้ผมอ่านแบบนั่งฝั่งเดียวกับหมอที่ฟังผู้ป่วย แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตผมอาจจะย้ายมานั่งฝั่งผู้ป่วยที่มาขอปรึกษาหมอแทน
และเมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ผมก็รู้สึกได้ถึงสัญญาณอันหนึ่ง ทุกบทที่ผมอ่าน ผมจำได้แม่นที่สุดก็บทของชาร์ลส์ ผมสามารถเขียนเรื่องของเขาได้คล่องโดยที่ไม่ต้องพลิกกลับไปดูจุดที่ผมจดบันทึกไว้บ่อย ๆ
ไม่แน่ว่าสิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณบางอย่างในอนาคตก็ได้
ชื่อหนังสือ : Creatures of a Day and Other Tales of Psychotherapy
(พลัง ชีวิต และความฝัน : เรื่องเล่าจากห้องบำบัด)
ผู้เขียน : Irvin D. Yalom
ผู้แปล : ปริญดา วิรานุวัตร
สำนักพิมพ์ : เอสไอเดีย
โฆษณา