14 ก.ค. 2020 เวลา 11:56 • การศึกษา
ปิดกั้นทางเดินขึ้นอาคาร อาจมีความผิดข้อหาบุกรุกได้!?
ความผิดข้อหาบุกรุกนั้น ไม่ได้จำกัดแต่เพียงการ “เข้าไป” ในบริเวณบ้าน อาคาร ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ของผู้อื่นเท่านั้น
การ “ปิดกั้น” ไม่ให้คนเข้าไปยังสถานที่ที่เขามีสิทธิครอบครอง ก็อาจเป็นความผิดในข้อหาบุกรุกได้เช่นเดียวกัน
และถึงแม้ว่า “ผู้ที่ปิดกั้น” นั้น จะมีสิทธิ “บางส่วน” ในอาคาร หรือสถานที่นั้นก็ตาม
เรื่องมีอยู่ว่า.. ชายใหญ่ (นามสมมติ) อนุญาตให้ชายกลางใช้สอยอาคารพาณิชย์บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ที่ตนครอบครองอยู่ เพื่อใช้เป็นสถานประกอบการและเก็บสินค้าได้
ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบแทนที่ชายกลางออกเงินทดรองให้ตนยืมไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองกับธนาคาร
อยู่มาสักพัก ชายใหญ่ไม่อยากให้ชายกลางใช้อาคารอีกต่อไป จึงมีหนังสือแจ้งให้ชายกลางขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารดังกล่าว
ชายกลางจึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังชายใหญ่ว่า ตนยังคงมีสิทธิอาศัยอยู่ในอาคาร จนกว่าชายใหญ่จะชำระหนี้เงินทดรองจ่ายค่าไถ่ถอนจำนอง
ในเมื่อบอกกันดี ๆ ไม่รู้เรื่อง ชายใหญ่จึงใช้วิธีปิดล็อกประตูชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งเป็นทางเชื่อมเดียวที่ชายกลางและพนักงานของเขาจะไปสู่อาคารชั้น 3 และชั้น 4 ได้
ชายกลางจึงได้ฟ้องชายใหญ่เป็นคดีอาญา เนื่องจากตนและพนักงานได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถเข้าไปยังสถานประกอบการได้
ซึ่งคดีนี้ ศาลได้วินิจฉัยได้อย่างน่าสนใจว่า..
แม้ประตูชั้น 2 จะอยู่ในความครอบครองของชายใหญ่หรือไม่ก็ตาม
ชายใหญ่ก็ไม่มีอำนาจโดยพลการ ที่จะปิดล็อกประตูชั้น 2 ซึ่งเป็นทางเข้าออกทางเดียว ทำให้ชายกลางและพนักงานของเขาไม่สามารถเข้าไปในชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารได้
การกระทำของชายใหญ่จึงเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของชายกลาง ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปทำการ “รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์” ของผู้อื่นโดยปกติสุข
ซึ่งเป็นความผิดข้อหาบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3633/2562)
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวสารหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา