15 ก.ค. 2020 เวลา 23:00 • การศึกษา
เสพติดช่วยตัวเองไหม เอาอะไรมาวัด
ปุจฉา การช่วยตัวเอง ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม หรือไม่ .. วิสัจชนา ถ้าจะให้ตอบในแง่ของ จารีต ศีลธรรม หรือ ศาสนา อันนี้ก็ตอบยากครับ เพราะฉะนั้นจะข้ามไปตอบ ในแง่ไสยศาสตร์ เฮ้ย .. ในแง่วิทยาศาสตร์ก็แล้วกัน น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด อยากรู้เตรียมน้ำแข็ง แล้วล้อมวงมาครับ
เรื่องของการช่วยเหลือตัวเอง ถือเป็นเรื่องปกติ ในแง่ของการบำบัดอารมณ์ร่างกายครับ ในเมื่อมันเกิดขึ้น จะให้แก้ไขยังไง ที่ไม่เดือดร้อนผู้อื่น นั่นจึงเป็นที่มา แห่งความสุนทรีย์ฉบับ ฉับไว แต่ในบางคนก็อาจไม่ ฉับไว ทุกครั้งไปครับ
มีการศึกษากันอย่างจริงจัง กับผู้ชายจำนวน 32,000 คน ระหว่างปี 1992 – 2010 (ข้อมูลเก่าไปซักหน่อย) ว่าการกระทำชำเราตัวเอง ของคุณผู้ชาย ช่วยลดอัตราความเสี่ยง ในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยบันทึกไว้ที่ เฉลี่ยเดือนละ 21 ครั้ง เป็นอย่างน้อย
ยังไม่นับข้อดีอื่น ๆ ที่ได้จากภาระกิจนี้ ของชายหญิง หลังจากร่างกายหลั่งฮอร์โมน เอ็นโดรฟิน (Endorphin) ออกมา เช่น ผ่อนคลายความเครียด พัฒนาจำนวนสเปิร์มของผู้ชาย เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้หลับสบาย ลดการเกิดอาการไมเกรนบ่อยๆ ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ
แต่เดี๋ยวก่อน เห็นข้อดีเยอะขนาดนี้ ก็อย่าเหมารวมว่ามันจะดีเลิศเลอ เพอร์เฟคไปซะทุกอย่าง เพราะหากคุณ ๆ เธอ ๆ ปฎิบัติการ สานฝันให้ฉันเอง นี้มากเกินไป ก็ส่งผลเสียได้ ไม่น้อยเช่นกัน อาทิ สิ่งที่เรียกว่า “อาการชินมือ” ให้นึกถึงเวลามือที่อยู่ไม่สุข หรือ มือว่างไม่ได้ครับ
บางคนชอบช่วยตัวเอง มากกว่ามีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้จะมีคนรักแล้วก็ตาม และในกรณีเดียวกัน จากผลสำรวจชีวิตครอบครัว หลายคนมักแอบช่วยตัวเองอยู่บ่อยครั้ง อันเนื่องมาจากปัจจัยประกอบหลายอย่าง ทั้งเวลา ความเร่งรีบ ความเครียด หรือภาวะที่เรียกว่า เบื่อหม้อข้าว
การช่วยตัวเอง อาจไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านอารมณ์เพียงอย่างเดียว อาจเป็นผลมาจากความไม่ปกติ ของร่างกายได้อีกด้วย เช่นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ ของสมองส่วนหน้า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองชั้น ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตมากผิดปกติ การรับประทานยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาโรคซึมเศร้า
แล้วอะไรที่จะเป็นตัวชี้วัด ว่าเราเข้าข่าย เสพติดการช่วยตัวเอง ตรงนี้ตอบแบบตรง ๆ ไม่ได้ครับ ต้องขึ้นเครื่องจากกัมพูชา ไปลงลอนดอน ต่อรถไฟมาลงอินเดีย นั่งเรือจ้างมาที่บางกอกน้อยอีกที (นั่นก็อ้อมเกิ๊นนนน..)
วิธีสังเกตว่าเรา เริ่มเข้าสู่ความหมกมุ่นเกินไปหรือเปล่า ให้ลองสังเกต หากเราหยุดการช่วยตัวเอง จะมีความเครียด หรือความกังวลเกิดขึ้นไหม รู้สึกโหยหา หรือขาดไม่ได้หรือเปล่า ถ้าใช่ บอกเลยต้องรีบนั่งเรือกลับ
อีกวิธี คือลองบันทึกการทำภาระกิจเฉพาะตัว ในช่วงที่ผ่านมา ว่ามากน้อยเพียงใด อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ หากว่าความถี่ สำหรับภาระกิจนี้ เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า คุณกำลังจะกลายเป็นแชมป์ นักปั่นทางเรียบแล้วครับ
เรามักมีความเชื่อผิด ๆ อีกประการ เกี่ยวกับการช่วยตัวเองในผู้หญิง ว่าเป็นสิ่งไม่ควร ไม่เหมาะ หรือผิดแปลก ทั้งที่ความจริงแล้ว เพศหญิงก็สามารถกระทำการเช่นนี้ได้ ไม่ต่างจากเพศชาย อันเนื่องมาจากธรรมชาติของร่างกาย ที่มีฮอร์โมนเป็นแรงขับเคลื่อน
ท่านชายส่วนหนึ่ง ตั้งข้อสงสัยว่า การช่วยตัวเองจะทำให้สเปิร์ม ในอสุจิลดลง หรืออ่อนแอลงหรือไม่ ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ยืนยันออกมาแล้วว่า มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นครับ เพราะผลิตผลที่สดใหม่ จะยิ่งเพิ่มความเกรี้ยวกราด ให้เจ้าหนูน้อย
ในผู้หญิงที่วิตกว่า การบำบัดความต้องการของอารมณ์ จะมีผลต่อประจำเดือนหรือไม่ ส่วนนี้จะบอกว่าไม่เกี่ยวกันครับ อันเนื่องมาจากประจำเดือนเกิดจาก การตกไข่ และผนังมดลูกที่หลุดลอกอยู่ภายใน แต่การช่วยตัวเอง เกิดจากการกระตุ้นภายนอก ให้เกิดอาการสุขสม
สุดท้ายแล้วสิ่งที่อยากจะกล่าวก็คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไร การทำทุกอย่างด้วยความพอดีและเหมาะสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป จะทำให้เกิดความสมดุล ทั้งต่อการใช้ชีวิต สุขภาพ รวมถึงการดำรงค์อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขตลอดไป
หากข้อมูลผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
กดไลค์หากถูกใจ แชร์หากเห็นว่ามีประโยชน์ คอมเมนท์เพื่อแนะนำติชม
ติดต่อเราที่นี่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา