4 ส.ค. 2020 เวลา 14:49 • การเมือง
ลีกวนยูและพรรคกิจประชาผงาด
สืบเนื่องจากบทความ การเมืองสิงคโปร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของเรา ซึ่งเล่าถึงภาพใหญ่ของการเมืองการปกครองในสิงคโปร์พอสังเขป ตั้งแต่ยุคอาณานิคม อังกฤษปกครองสิงคโปร์และแหลมมลายู มะละกา ทั้งหมด เป็นเจ้าอาณานิคมในดินแดนนี้เรื่อยมา จนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งนำโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามายึดสิงคโปร์ได้สำเร็จ ซึ่งปกครองไม่ต่างจากอังกฤษ อีกทั้งกดขี่ผู้คน หาผลประโยชน์เพื่อสนับสนุนญี่ปุ่นในสงครามโลก
ทว่าเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษก็กลับเข้ามาอีกครั้ง กระแสโลกการเมืองสมัยใหม่เริ่มโหมกระหน่ำการประกาศเอกราชของรัฐอาณานิคมทั่วโลก รวมทั้งสิงคโปร์ เรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ ประกาศเอกราชออกจากอังกฤษ เจ้าอาณานิคมรู้ดีว่ายุคมหาอำนาจกำลังถึงจุดสิ้นสุด ไม่อาจต้านทานกระแสน้ำเชี่ยวกรากของยุคสมัยใหม่ได้ ก็เตรียมจะไฟเขียวเรื่องการประกาศเอกราช ปล่อยให้มีการเลือกตั้งผู้แทนจากคนในท้องถิ่นมากขึ้น
เดวิด มาร์แชล (ซ้ายสุด) กับข้าหลวงอังกฤษ
แต่การเมืองก็ยังเป็นการเมือง เป็นเรื่องของเกมเกมหนึ่ง ในด้านกระบวนการผลักดันการประกาศเอกราชนั้น อังกฤษและกลุ่มชนชั้นนำ เหล่าอนุรักษ์นิยมพยายามเตะถ่วงให้กระบวนการล่าช้า ทั้งยังพยายามผสานกับกลุ่มการเมืองที่ลุแก่อำนาจ ต้องการเป็นใหญ่ มาสนับสนุนอังกฤษ แม้การเตะถ่วงในการเมืองช่วงนั้น ยังมีรัฐบาลมาจากชาวสิงคโปร์เป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่อิทธิพลที่ครอบงำการเมืองสิงคโปร์นั้นยังดำรงอยู่ ผู้นำรัฐบาลพรรคแรงงานไม่อาจต่อสู้กับระบอบเจ้าอาณานิคมได้ทันใจ การถือกำเนิดของลีกวนยูและพรรคกิจประชา (People's Action Party) จึงเริ่มฉายแสงขึ้น หาญสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างจริงจัง (สำหรับผู้อ่านที่ต้องการปูพื้นการเมืองสิงคโปร์ยุคหลังสงครามโลก https://www.blockdit.com/articles/5f005745ac6f280cb33f01c2/#)
ป้ายหาเสียงนายลีกวนยูในการเลือกตั้งปี 1955
แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งแรกๆของสิงคโปร์หลังสงครามโลก เก้าอี้ผู้แทนน้อยมาก เป็นการเลือกตั้งที่เสมือนเป็นพิธีกรรมมากกว่า ก็เป็นผู้แทนที่มีการคัดเลือกเข้าไปในรัฐบาลอาณานิคม ไม่ใช่ผู้แทนที่กุมเสียงนำรัฐบาล ประชาชนแทบไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงเลย ต่อมาเมื่อจะเกิดการเลือกตั้งในปี 1955 สัดส่วนเก้าอี้ผู้แทนในสภาที่มากขึ้น ในวงสังคมเกิดการตื่นตัว มีพรรคที่นำโดยชาวสิงคโปร์เกิดขึ้นมากมาย เช่น พรรคแรงงานนำโดย เดวิด มาร์แชล และพรรคกิจประชาที่นำโดย ลีกวนยู (Lee Kuan Yew) ส่วนากพรรคเหล่านี้ชูนโยบายต่อต้านเจ้าอาณานิคม เรียกร้องการประกาศเอกราชโดยเร็ว ในที่สุด เดวิด มาร์แชล แห่งพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลผสมจนได้เสียงมากมาย ดำรงตำแหน่งเป็นมุขมนตรี (chief minister) หัวหน้ารัฐบาล ส่วนพรรคกิจประชาของลีกวนยูได้ผู้แทน 4 ที่นั่งรวมลีกวนยูด้วย
พรรคกิจประชา
4 ที่นั่งกับพรรคน้องใหม่อย่าง PAP นับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลย ซึ่งพรรคกิจประชา (People's Action Party หรือ PAP) เพิ่งถือกำเนิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งไม่นานนัก จุดเริ่มต้นของกลุ่มการเมืองนี้มาจาก โตชินไช (Toh Chin Chye) หรือ ตู้จิ้นไฉ (杜进才), โกะเคงซวี (Goh Keng Swee) หรือ อู๋ชิ่งรุ่ย (吴庆瑞), และ ลีกวนยู หรือ หลี่กวงเย่า (李光耀) ทั้งสามคนเป็นกลุ่มนักเรียนนอกที่จบจากอังกฤษทางด้านกฎหมาย ทั้งสามคนนั้นเคยตั้งกลุ่ม Malayan Forum ซึ่งมีความคิดการประกาศเอกราชจากอังกฤษ หลังกลับมาสิงคโปร์แล้ว คณะสามคนเดินหน้าการทำงานทางความคิดในสังคมคนสิงคโปร์ในเรื่องการประกาศเอกราช ถึงเวลาแล้วที่สิงคโปร์ต้องกำหนดทิศทางประเทศด้วยประชาชนสิงคโปร์เอง ไม่ใช่เจ้าอาณานิคมเช่นอังกฤษ ต่อมา เอส ราชารัตนัม (S. Rajaratnam) นักเขียนฝ่ายต่อต้านอาณานิคม ก็ได้มาเข้าร่วมแนวร่วมการเมืองนี้ด้วย
ในขณะเดียวกัน ลีกวนยูก็ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เป็นกระบอกเสียงช่วยเหลือสหภาพแรงงาน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ความเท่าเทียมในการทำงานและเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการต่างๆ ชื่อเสียงของลีกวนยูค่อยๆขยายในวงกว้าง เป็นผู้ช่วยเหลือชนชั้นแรงงาน คนยากจน ซึ่งพวกเขาไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษ สื่อสารกับผู้ปกครอง รัฐบาลได้นั่นเอง บทบาทสำคัญของีกวนยูอีกประการหนึ่ง คือ ช่วยเหลือด้านกฎหมายเรียกร้องรัฐบาลต่อการจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงนำโดยเหล่านักเรียนจีน ซึ่งไม่พอใจรัฐบาลเจ้าอาณานิคมในด้านการไม่สนับสนุนโรงเรียนจีน และการปราบปรามผู้เห็นต่าง
เพื่อดำเนินแผนยุทธศาสตร์ครองใจเหล่าชนชั้นแรงงานมากขึ้น กลุ่มการเมืองของลีกวนยู จึงได้ชักชวนกลุ่มชาตินิยมและฝ่ายซ้ายมาเข้าร่วมกันเป็นพันธมิตร ภายใต้อุดมการณ์ต่อต้านรัฐบาลเจ้าอาณานิคม เรียกร้องการประกาศเอกราชโดยเร็ว จึงทำให้โครงสร้างของกลุ่มการเมืองนี้ในเวลาต่อมา ซึ่งคือพรรคกิจประชา ประกอบไปด้วยกลุ่มนักเรียนนอกผู้มีการศึกษาจากอังกฤษ ชนชั้นกลาง กลุ่มชาตินิยม กลุ่มต่อต้านอาณานิคม กลุ่มการเมืองแนวคิดฝ่ายซ้ายจัด หรือ กลุ่มลัทธิสังคมนิยม กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ แม้กระทั่ง กลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ เพราะว่าพรรคมีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ที่ต้องการโค่นล้มระบอบเก่านั่นเอง เป็นพรรคที่มีความหลากหลายทางความคิด แต่โดยจุดยืนของลีกวนยูนั้นเป็นกลุ่มทางสายกลาง ต่อต้านอังกฤษ เรียกร้องการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่กลุ่มที่มีแนวคิดซ้าจัดหรือคอมมิวนิสต์ ซะทีเดียว
หลังจากการเลือกตั้งปี 1955 เดวิด มาร์แชล ผู้ดูเหมือนจะได้รับความเชื่อมั่นจากชาวสิงคโปร์ ทว่าภายใต้การกดดัน เดวิด มาร์แชลไม่สามารถต้านทานอิทธิพลอังกฤษในก้านการเมืองการปกครองได้ ลิมยิวฮ็อคจึงเข้ามารับไม้ต่อจากเดวิด มาร์แชล เป็นมุขมนตรีหัวหน้ารัฐบาลคนต่อมา แทนที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้งหลัง ลิมยิวฮ็อคกลับหันเข้าหาอังกฤษ เป็นพันธมิตรกับเจ้าอาณานิคมเพื่ออำนาจทางการเมืองของตัวเอง ปราบปรามผู้ประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรงเสียเอง ทั้งที่ลิมยิวฮ็อคเคยมีจุดยืนต่อต้านเจ้าอาณานิคม และที่สำคัญคือนโยบายการปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์
จากนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวคิดฝ่ายซ้าย และกลุ่มคอมมิวนิสต์ ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงคลื่นลูกนี้ยังพัดเข้าหาพรรคกิจประชาอีกด้วย การเมืองภายในพรรคกิจประชาเองในปี 1957 กลุ่มฝ่ายซ้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ภายในพรรคชนะการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคกิจประชา กลุ่มทางสายกลางนำโดยลีกวนยูและโกะเคงซวีนั้น ประกาศจะไม่เข้ามามีบทบาท เนื่องจากไม่อยากให้ใครเข้าใจว่าตัวเองเป็นฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ และแล้วคลื่นก็พัดเข้ามาถึงพรรคจริง นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลทำให้เกิดการกวาดล้างกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เป็นชนชั้นนำของพรรคกิจประชาจนหมด
ลีกวนยูจึงได้โอกาสเข้ามาฟื้นฟูกิจการพรรคกิจประชาอีกครั้ง พร้อมกับแนวร่วมกลุ่มทางสายกลาง กลุ่มลีกวนยูกลับเข้ามามีบทบาทและอำนาจในการกำหนดทิศทางพรรค กลุ่มฝ่ายซ้ายที่หลงเหลือในพรรคก็เริ่มลดบทบาทลง เหตุการณ์ขณะนี้เกิดขึ้นภายในช่วงรัฐบาลของลิมยิวฮ็อค
ปี 1959 หลังจากการเจรจาที่ลอนดอนเรื่องการประกาศเอกราชนั้นมีแนวโน้มในทางบวก จึงมีการเลือกตั้งใหม่ จากความนิยมที่ตกต่ำของรัฐบาลนายลิมยิวฮ็อค ซึ่งไม่สามารถครองใจชาวสิงคโปร์โดยรวม ไม่ว่าจะนโยบายกวาดล้างฝ่ายซ้ายก็ดี หรือการปราบปรามนักเรียนนักศึกษาโรงเรียนจีน ซึ่งต่อมาจบด้วยความรุนแรง ท่าทีของลิมยิวฮ็อคที่ไม่เคยเป็นมิตรกับคนสิงคโปร์เลยในการถูกเลือกปฏิบัติ ทำให้ลีกวนยูนำพรรคกิจประชาคว้าเก้าอี้ผู้แทน 43 ที่นั่งจาก 51 ที่นั่ง ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา จัดตั้งรัฐบาล ลีกวนยูเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสิงคโปร์ ทางด้านลิมยิวฮ็อค ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาไม่ได้สังกัดพรรคแรงงานของเดวิด มาร์แชล แต่ตั้งพรรคพันธมิตรประชาชนสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรค UMNO ของมาเลเซีย
เมื่อข่าวการชนะเลือกตั้งของพรรคกิจประชานั้นพือสะพัดในวงกว้าง ด้วยภาพลักษณ์ที่มีกลุ่มคอมมิวนิสต์ภายในพรรค เหล่านักธุรกิจ นายทุนหวาดกลัวความเป็นฝ่ายซ้ายสุดโต่ง หรือพวกคอมมิวนิสต์ในพรรคกิจประชาเป็นอย่างมาก หลายกิจการหนีไปอยู่ที่มาเลเซีย นายกลีกวนยูก็รับรู้ถึงกระแสการเมืองดี จึงให้นักการเมืองจากขั้วคอมมิวนิสต์ไปรับตำแหน่งในรัฐบาลแค่ส่วนน้อย ส่วนกุนซือหลักๆของลีกวนยูยังคงเป็นเหล่าแกนนำพรรคที่ร่วมอุดมการณ์มาแต่ต้น เช่น โกะเคงซวี โตชินไช เอส ราชารัตนัม เป็นต้น
ด้วยความที่สังคมสิงคโปร์นั้นมีความหลากหลายในเชื้อชาติ เพื่อต้องการครองใจประชาชน จึงต้องให้ความสำคัญทางด้านวัฒนธรรม ภาษา จึงเป็นที่มาของกระทรวงวัฒนธรรมโดยมีโกะเคงซวีเป็นรัฐมนตรีว่าการ อีกทั้งผลักดันให้ภาษามาเลย์ อังกฤษ ทมิฬ และจีน เป็นภาษาทางราชการทั้งสิ้น โดยให้ความสำคัญกับภาษามาเลย์เป็นพิเศษ เนื่องจากต้องการผลักดันสิงคโปร์ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย
ลีกวนยูในวันแยกตัวจากมาเลเซีย
ในปี 1963 สิงคโปร์ได้เป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย การควบรวมดินแดนครั้งนี้ทำให้เกิดการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ยังคงเป็นลีกวนยูที่ชนะเสียงส่วนใหญ่ จัดตั้งรัฐบาลสิงคโปร์ได้ ปกครองท้องถิ่น โดยมีรัฐบาลกลางจากมาเลเซียปกครองทั้งสหพันธรัฐ แต่เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มการเมืองสิงคโปร์กับชนชั้นนำทางการเมืองของมาเลเซีย การที่มาเลเซียเองออกนโยบายเลือกปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญชาวมาเลย์เป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ชาวสิงคโปร์หรือคนเชื้อสายจีนโดยมากเป็นพลเมืองชั้นรอง เช่น ชาวมาเลย์ 17% เป็นผู้เสียภาษี ในขณะที่ชาวสิงคโปร์ 35% ของทั้งหมดเป็นผู้เสียภาษี
ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและภาคการเมืองที่ไม่ลงรอยกันกล่าวได้สร้างความร้าวลึกทางการเมืองไปทีละขั้นๆ จนท้ายที่สุดสิงคโปร์จึงขอออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเองในวันที่ 9 กันยายน ปี 1965 หลังการประชุมประกาศแยกตัวออกจากมาเลเซียแล้ว นายกรัฐมนตรีลีกวนยูได้กล่าวว่า "ไม่มีอะไรที่ต้องวิตกกังวล หลายๆอย่างจะดำเนินการไปตามเดิม เรากำลังเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ สิงคโปร์เราจะเป็นตัวอย่างให้เห็น สิงคโปร์ไม่ใช่ชาติของชาวมาเลย์ เป็นชาติจีน หรือชาติของชาวอินเดีย ทุกคนจะเสมอภาคไม่ว่าจะภาษา วัฒนธรรม และศาสนา"
โฆษณา