18 ก.ค. 2020 เวลา 03:05 • การศึกษา
รู้หรือไม่ แม้ทรัพย์หลุดจำนำไปแล้ว ผู้รับจำนำก็ยังขายทรัพย์นั้นทันทีไม่ได้ และหากฝ่าฝืนอาจเป็นความผิดทางอาญาอีกด้วย!?
1
เมื่อพูดถึงโรงรับจำนำคงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักธุรกิจประเภทนี้ เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย
คนไม่มีเครดิต หรือคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ เพียงมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันการกู้เงินก็สามารถได้เงินไปใช้หมุนเวียน เอาตัวรอดไปก่อนได้
ส่วนวิธีการจำนำ ผมคงไม่พูดถึงในบทความนี้แล้ว เพราะเชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์ตรง หรือถ้าไม่เคยก็คงจะค้นหาในอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยาก
ประเด็นที่อยากจะพูดถึงก็คือ ในกรณีที่ทรัพย์สินหลุดจำนำนั้น จะมีผลให้ผู้รับจำนำมีสิทธิ “บังคับจำนำ” เอากับทรัพย์สินที่นำมาจำนำได้
แต่ปัญหาก็คือ “วิธีการ” บังคับจำนำจะต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 746 ได้กำหนดวิธีการบังคับจำนำเอาไว้ โดยผู้รับจำนำจะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดก่อน
ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตาม ผู้รับจำนำจึงมีสิทธินำทรัพย์สินที่หลุดจำนำออกขายได้ แต่ต้อง “ขายทอดตลาด”
เมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้รับจำนำจะต้องขายทรัพย์สินด้วยวิธีขายทอดตลาด
แต่ถ้าผู้รับจำนำไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่นำทรัพย์สินหลุดจำนำออกขายเองล่ะ จะมีผลเป็นอย่างไร?
มีคดีอยู่เรื่องหนึ่ง จำเลย (ผู้รับจำนำ) ได้รับจำนำรถกระบะไว้กับผู้เสียหาย (ผู้จำนำ)
ต่อมาผู้เสียหายขาดส่งเงินตามกำหนดซึ่งมีผลทำให้รถกระบะหลุดจำนำ จำเลยจึงขายรถกระบะดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย
แม้ผู้เสียหายรวบรวมเงินได้ครบถ้วนพร้อมที่จะไถ่ถอนรถกระบะดังกล่าวจากจำเลยหลังจากพ้นเวลาที่จำเลยผ่อนผันให้แล้วก็ตาม
ซึ่งตามกฎหมายแล้ว การบังคับจำนำจะทำได้ด้วยการขายทอดตลาดเท่านั้น จำเลยไม่มีสิทธิขายรถกระบะด้วยวิธีการอื่น
การที่จำเลยขายรถกระบะให้แก่บุคคลอื่นจึงเป็นการขายโดยไม่มีสิทธิ ถือว่ากระทำโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8392/2561)
.
.
สรุป..
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 วรรคแรก คือการที่ผู้กระทำความผิดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต..
ผู้เขียนเห็นว่า หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็น..
จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายให้ขายรถกระบะเพื่อชำระหนี้ได้ และจำเลยได้ขายรถกระบะให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้ขายทอดตลาด
ซึ่งแม้ว่าอาจไม่ถูกต้องตามกฎหมายแพ่งฯ ในเรื่องการบังคับจำนำก็ตาม
แต่การที่ผู้เสียหาย “ยินยอม” ให้จำเลยขายรถกระบะได้ น่าจะทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ในข้อหายักยอกทรัพย์อีกต่อไป
เพราะถือว่าจำเลย ไม่มีเจตนา “เบียดบัง” ทรัพย์สินของผู้เสียหาย อันเป็นองค์ประกอบความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์แล้วนั่นเอง
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวสารหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา