18 ก.ค. 2020 เวลา 09:35 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.3 : ภาพครอบครัว
[ Bronzino’s Portrait ]
กรอบรูปทั้งใหญ่และเล็กที่แขวนอยู่บนผนังห้อง ประดับไปด้วยภาพของผู้คนต่างช่วงวัยที่มีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกัน
1
ทุกคนล้วนแต่งกายสวยงามราวกับออกงานสังคม ท่วงท่าการจัดวางร่างกาย รวมถึงแสงไฟและฉากล้วนถูกออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อให้ภาพที่ออกมานั้นดูสง่างาม สมกับความภาคภูมิใจของเจ้าของภาพ
‘ภาพครอบครัว’ คือสิ่งที่พวกเรากำลังมองดูอยู่ นอกจากภาพใหญ่สามสี่รูปที่เป็นจุดเด่นแล้ว ยังมีภาพย่อย ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ภาพวัยเด็ก ภาพงานรับปริญญา ไปจนถึงภาพคู่แต่งงานในชุดบ่าวสาว
“ไม่ยักกะรู้ว่าบ้านมรึงมี Hall of Fame ด้วยว่ะ”
เสียงแซวจากใครคนหนึ่งดังขึ้น ชวนให้คนอื่น ๆ ฮาครืนแบบไม่เกรงใจเจ้าของบ้าน
“เออ แม่กรูชอบ”
เสียงตอบขุ่น ๆ จากชายร่างใหญ่หน้าโจร ที่มองยังไงก็ดูเป็นคนละคนกับคุณชายชุดสูทสุดเนี้ยบในภาพบนฝาผนัง
1
บ่ายวันนั้นผมและเพื่อน ๆ สมัยเรียน มีนัดกินข้าวที่บ้านของเพื่อนที่เพิ่งเป็นคุณพ่อหมาด ๆ ตั้งแต่มีลูก เขาและภรรยาก็ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านพ่อแม่เป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยกันดูแลเจ้าตัวน้อย นี่จึงเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้มาเยือนบ้านหลังนี้
1
นอกจากความเฮฮาของการพบปะสังสรรค์แล้ว ภาพบันทึกช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ที่ถูกประดับไว้บนผนังห้องเพื่อให้ผู้มาเยือนได้ชื่นชม ก็ชวนให้ผมนึกถึงบ่ายอีกวันหนึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ครั้งนั้นผมได้ไปเยือนสถานที่ซึ่งเคยเป็นสำนักงานของผู้พิพากษาฟลอเรนซ์ นามว่า คอสซิโมที่ 1 เดอ เมดิชี แกรนด์ดยุกแห่งทัสคานี (Cosimo I de' Medici, Grand Duke of Tuscany)
สถานที่แห่งนี้รู้จักกันในนามปัจจุบันว่า หอศิลป์อุฟฟิซิ ในเมืองฟลอเรนซ์ (Uffizi = Office ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะอันทรงคุณค่ามากมายภายใต้การครอบครองของตระกูลเมดิชี
1
Portrait of Eleanor of Toledo and Her Son, 1544–45, oil on wood, Uffizi Gallery, Florence
และในห้องหมายเลข 65 ที่ผมกำลังนึกถึงนี้ ก็เป็นที่ประดับภาพครอบครัวของคอสซิโม
ที่ตระหง่านอยู่กลางห้องคือภาพของหญิงผู้เป็นภรรยาของเขา เอเลเนอร์แห่งโทเลโด (Eleanor of Toledo) และบุตรชายวัยสองขวบนามว่าจิโอวานนี (Giovanni de' Medici)
“ดูใบหน้าของเธอสิ ทำไมเย็นชาขนาดนี้”
เสียงวิพากษ์ของใครคนหนึ่งที่กำลังพิจารณาดูภาพอยู่ข้างหลังผม ดังขึ้นแว่ว ๆ ให้พอได้ยิน
จะว่าไปผมก็แอบคิดแบบเดียวกันในครั้งแรกที่ได้เห็นภาพนี้ ประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดในยุคศตวรรษที่ 21 ของเรา ทำให้เคยชินกับภาพของแม่ลูกที่แสดงความรักใคร่ต่อกัน ต่างจากภาพนี้ซึ่งไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ มาวัด ก็รู้สึกได้ว่าห่างไกลจากความอบอุ่นไปมากโขทีเดียว
1
อันที่จริงสิ่งที่ดึงดูดสายตามากที่สุด ไม่ใช่อารมณ์ของภาพ แต่คือเครื่องแต่งกายอันวิจิตรงดงามของเอเลเนอร์ ซึ่งถ่ายทอดออกมาด้วยสีน้ำมันที่ดูเหมือนจริงอย่างที่สุด
1
[ เบื้องหลังภาพวาด ]
‘บรอนซิโน’ หรือ แอกโนโล ดิ คอสสิโม (Agnolo di Cosimo) คือศิลปินที่อยู่เบื้องหลังภาพวาดนี้ รวมถึงภาพ Portrait ของสมาชิกครอบครัวเมดิชีคนอื่น ๆ
ช่วงเวลานั้นคือกลางศตวรรษที่ 16 ซึ่งนับเป็นยุคปลายเรอเนสซองส์ (Late Renaissance) ที่ต่อจากช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดของยุค (High Renaissance) ที่มีศิลปินก้องโลกอย่าง ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี ราฟาเอล หรือ มิเคลันเจโล งานศิลปะได้พัฒนาทั้งในด้านของเทคนิกและวิทยาการความรู้ในยุคใหม่ สะท้อนออกมาเป็นความงามในสัดส่วนอนาโตมีที่ดูสมจริงเป็นแบบแผนตามธรรมชาติ
1
แต่สิ่งเหล่านี้กลับเกิดเป็นวิกฤติในใจของบรรดาศิลปินรุ่นต่อมา รวมถึงบรอนซิโน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือความท้าทายใหม่ ๆ ในการการถ่ายทอดงานศิลปะ และนั่นคือจุดกำเนิดของสไตล์แมนเนอริสม์ (Mannerism)
ภาพวาดสไตล์ Mannerism จุดเด่นคือความสง่างามของบุคคลในภาพ ด้วยสัดส่วนมุมมองที่ดูเกินจริง พื้นหลังมักจะดูไม่ชัดเจนว่าสื่อถืออะไร มีการให้แสงเงาที่ดู dramatic (Portrait of a Young Man, c. 1550–55, London, National Gallery)
ย้อนกลับมาที่ภาพของเอเลเนอร์ สีหน้าที่ดูเรียบเฉย รูปร่างที่ดูยาวระหงกว่าธรรมชาติ ความสง่างาม รวมถึงแสงเงาที่ตกกระทบล้วนทำให้บุคคลในภาพดูน่าทึ่ง และแฝงไปด้วยความลึกลับที่ชวนค้นหา ทั้งหมดนี้คือ ‘ฉากหน้า’ ที่ถูกถ่ายทอดในแบบแมนเนอริสม์
ภาพวาดในสไตล์นี้จึงไม่ใช่การสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของบุคคล แต่เป็นการสะท้อนภาพ ‘เกินจริง’ ที่ต้องการจะสื่อ
[ ภาพสะท้อนของเอเลเนอร์ ]
หลังจากที่ผมค้นพบแล้วว่าสิ่งที่มองเห็นนั้น แท้จริงแล้วคือภาพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
ฉากหน้าของภาพเอเลเนอร์และจิโอวานนีลูกชายของเธอนั้น คือภาพที่สะท้อนถึงอำนาจ ความมั่งคั่ง และความอุดมสมบูรณ์ของตระกูลเมดิชี
เสื้อผ้าที่เธอสวมอยู่นั้นเรียกว่าเป็นชุดในฝันของหญิงสาวในยุคนั้นก็คงไม่ผิด ผ้าไหมและซาตินชั้นดี ประดับลวดลายสีดำอันวิจิตร พร้อมด้วยงานปักไหมบนกำมะหยี่ โดยมีเส้นทอง เส้นเงิน สอดประสานถักทอเข้าด้วยกัน รวมถึงไข่มุกเม็ดโตน้ำงามที่สุดถูกนำมาร้อยเรียงเป็นสร้อยและตกแต่งบนเครื่องประดับศีรษะแสดงถึงความมั่งคั่งของตระกูล
รายละเอียดของลวดลาย และวัสดุดูสมจริงด้วยเทคนิกสีน้ำมันของบรอนซิโน
ลวดลายผลทับทิมบนผ้าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมารดา โดยในขณะที่เอเลนอร์เป็นแบบวาดภาพนี้ ในปีค.ศ.1545 เธอเป็นแม่ที่ให้กำเนิดบุตรชายและบุตรสาวแล้ว 4 คน
จิโอวานนีคือบุตรชายคนที่สองของเธอ การมีเขาอยู่ในภาพนี้จึงเป็นองค์ประกอบที่แสดงถึงความมั่นคงในการสืบเชื้อสายของตระกูลเมดิชี
[ ตัวตนหลังฉาก ]
Portrait Cosimo I de' Medici in armour, c. 1545
การแต่งงานของเอเลเนอร์กับคอสซิโม จุดเริ่มต้นนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ระหว่างตระกูล
สำหรับจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Charles V, Holy Roman Emperor) ตระกูลเมดิชีคือผู้ถือครองทรัพย์สมบัติมากมายจากธุรกิจด้านการเงิน
1
และสำหรับคอสซิโมการได้คู่ครองอย่างเอเลเนอร์แห่งโทเลโด ผู้มีสายเลือดใกล้ชิดกับองค์จักรพรรดิ นับเป็นการยกระดับชั้นทางสังคมและเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างตระกูลเมดิชี และบรรดาราชวงศ์ในยุโรปได้อย่างแน่นแฟ้น
แม้จะมีที่มาเช่นนี้ แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลับก็เป็นไปด้วยดีจนน่าประหลาด เมื่อเทียบกับยุคสมัยนั้น
คอสซิโมเองก็ไม่เคยมีภรรยาอื่นนอกเหนือจากเอเลเนอร์ในช่วงเวลาที่เธอมีชีวิตอยู่ ในช่วงเวลา 14 ปี เธอให้กำเนิดทายาทแก่เขา รวมทั้งหมดถึง 11 คน
Portrait of Eleonora of Toledo, c. 1539
แม้ภาพวาดของเอเลเนอร์ที่แสดงต่อสาธารณชน จะดูเย็นชาและน่าเกรงขาม แต่ตัวตนของเธอตามที่ได้รับการบันทึกไว้ คือหญิงสาวที่มีสเน่ห์ เฉลียวฉลาด รักการท่องเที่ยว และเล่นพนัน
คอสซิโมเองก็มักจะขอคำปรึกษาด้านการเมืองจากเธอเสมอ รวมถึงแต่งตั้งให้เธอปกครองฟลอเรนซ์ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ (Regent) ในยามที่เขาติดภารกิจด้านอื่น
[ ส่งท้าย ]
จากภาพวาดของครอบครัวเมดิชี มาจนถึงยุคปัจจุบัน ภาพถ่ายครอบครัวบนผนังบ้านเพื่อนผม หรือแม้แต่ภาพเซลฟี่ ภาพโปรไฟล์ของเราที่โพสต์ลงในโซเชียล
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือภาพเหล่านี้ล้วนถูกคัดเลือกมาเพื่อสะท้อนภาพบางอย่างที่เราต้องการจะสื่อกับผู้ชม ซึ่งอาจจะตรงกับความจริง น้อยกว่า หรือมากกว่านั้น อาจจะมีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้
หากจะรู้จักตัวตนจริง ๆ ของกันและกัน สิ่งที่ทำได้ อาจจะเป็นการมองผ่านฉากหน้านั้นด้วยใจที่ปราศจากอคติ
เมื่อถึงเวลานั้น เราอาจจะแปลกใจกับสิ่งที่ได้ค้นพบก็ได้ครับ :)
แล้วพบกันใหม่ในชมรมศิลปะนอกเวลาครั้งหน้าครับ 💙
แถมท้าย : หนึ่งในภาพครอบครัวที่อยู่ในห้องหมายเลข 65, ภาพของ Bia ลูกสาวนอกสมรสของคอสซิโมก่อนการแต่งงานกับเอเลเนอร์ ภาพนี้ถูกวาดขึ้นเพื่อรำลึกถึงความทรงจำของเด็กน้อยที่จากไปเมื่อวัย 5 ขวบ (Portrait of Bia de' Medici, 1545)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา