19 ก.ค. 2020 เวลา 04:37 • ท่องเที่ยว
วัดไชยวัฒนาราม … ยังมีรักที่อโยธยา
ฝนตกฝนหากตก ... แก้วกับอกอย่างโกรธฝน
ลมพัดรับขวัญบน .. แก้วโกมลมานอนเนา
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ..... เย็นแหล่งหล้าในภูเขา
ไม่เย็นในอกเรา ... เพราะคู่เคล้าเจ้าอยู่ไกล
จากพระนิพนธ์ในบทรำพึงรำพันถึง “คู่รัก” ยามต้องห่างกัน.. ทำให้คนที่รักบทกวีของเจ้าฟ้ากุ้ง.. ชอบกินก๋วยเตี๋ยวเรือ.. ชื่นชมมรดกทางประวัติศาสตร์ ..และรักปลาตะเพียนสานของอยุธยาอย่างฉัน .. ต้องมายังอยุธยาโดยเร็ว เพื่อมุ่งหน้ามากราบคารวะเจ้าฟ้ามหากวีที่วัดไชยวัฒนาราม
ปลายเขตทุ่งประเชต ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระตำหนักสิริยาลัย เป็นที่ตั้งของวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2173 ในรัชสมัยของประเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 - 2198) กษัตริย์องค์ที่ 24 ของกรุงศรีอยุธยา .. สมเด็จพระบรมวงส์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าพระเจ้าปราสาททองสร้างวัดนี้เพื้อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชชนนี
วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดที่มีแผนผังจำลองภาพจักรวาลตามความเชื่อโบราณ เหมือนกับจะเป็นการสื่อว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองคือกษํตริย์ผู้ยิ่งใหญ่.. เป็นผู้สร้างจักรวาล
จักรวาล .. ความเชื่อในอดีต .. จักรวาล ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆมากมาย ล้อมรอบไว้ด้วยภูเขา จักรวาล แกนกลางของจักวาลคือภูเขาที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุด ชื่อว่า ‘เขาพระสุเมรุ’ บนยอดเป็นสวรรค์ชั้นดาวน์ดึง เป็นสถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่าง เช่น พระเจดีย์จุฬามณี ซึ่งประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วและพระเกศาของพระพุทธเจ้า และยังเป็นสวรรค์ชั้นที่ประทับของพระอินทร์ ผู้ปกครองดูแลจักรวาล
รอบเขาพระสุเมรุ มี “นทีสีทันดร” หรือแม่น้ำ 7 สาย และ “สัตตบริภัณฑ์” หรือภูเขา 7 ลูก ล้อมสลับกัน 7 ชั้น ถัดออกไปที่ทิศทั้ง 4 มีทวีปใหญ่ๆตั้งอยู่ .. “ชมภูทวีป” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ คือที่อยู่ของมนุษย์
วัดไชยวัฒนาราม ได้จำลองภาพจักรวาล ด้วยการออกแบบให้พระปรางค์ประธานเป็นเขาพระสุเมรุ ปรางค์เล็กๆ 4 องค์ อาจเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือทวีปทั้งสี่ และระเบียงคดก็คือภูเขาจักรวาล
ความสวยงามของวัดนี้อยู่ที่ปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นปรางประธานของวัด สูง 35 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส และที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำทั้งสี่มุม ที่แปลกไปคือ มีการนำเอาศิลปะเขมรมาใช้ออกแบบด้วย เพราะในยุคนั้นได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจการปกครอง
ส่วนบนของปรางค์ประธาน อาจจะเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายใน สื่อแทนพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ .. ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก ให้ผู้คนที่มาเยือนได้กราบไหว้
นอกจากนั้นยังมีระเบียงคดรอบปรางค์ประธาน เดิมสันนิษฐานว่ามีหลังคาคลุม ภายในระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย รวมทั้งสิ้น 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงกั้นเขตศักสิทธิ์เอาไว้ ..
ที่น่าสะเทือนใจ .. เมื่อพบเห็นคือ พระพุทธรูปทุกองค์ปราศจากเศียรทั้งสิ้น แต่ยังคงมีพุทธลักษณะที่งดงาม .. ชวนให้คิดว่า หากพระพุทธรูปอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จะสวยงาม มลังเมลืองสักแค่ไหน ..
พระอุโบสถอยู่ด้านหน้า ด้านทิศตะวันออกนอกระเบียงคด ใบเสมาของพระอุโบสถทำจากหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยาม และลายก้านขด .. ปัจจุบัน พระอุโบสถพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงฐาน
ด้านบนพระอุโบสถมีพระพุทธรูป 2 องค์ ที่ถึงแม้จะยังมีพระเศียร .. แต่ก็มีร่องรอยของการชำรุด ทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด ..
พระพุทธรูปที่ยังคงเหลืออยู่
ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ กว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร เป็นเจดีย์คู่ .. เชื่อกันว่าอาจเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิ หรือถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชชนกและพระราชนนีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เมรุทิศเมรุราย .. ตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น 8 หลัง ผนังภายในมีจิตรกรรมรูปใบไม้ลายกนก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว นักโบราณคดี อธิบายว่า เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยพบอาคารก่ออิฐที่มีลักษณะเช่นนี้มาก่อน
ที่สำคัญคืออาคารที่เรียกว่า “เมรุทิศเมรุราย” นี้ มีลักษณะเหมือนพระเมรุมาศไม้ ที่ใช้ในการถวายพระเพลิงพระศพเจ้านาย เลยชวนให้คิดว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองคงสร้างอาคารเช่นนี้ เพื่อระลึกถึงพระราชชนนีที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ประหนึ่งว่าทรงสร้างพระเมรุมาศถวายอย่างสมพระเกียรติ์
ผนังด้านนอกของเมรุทิศเมรุราย มีภาพปูนปั้นเป็นเรื่องราวพุทธประวัติอยู่ทุกหลัง ไล่เรียงกันไปตั้งแต่งานอภิเษกสมรสของพระราชบิดาและพระราชมารดา ต่อด้วยประสูติ เสด็จออกจากพระราชวัง ออกบวช ตัดพระเมาลีริมฝั่งแม่น้ำอโนมา นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส มารผจญ ปฐมเทศนา ยมกปาฏิหารย์ โปรดพุทธมารดา เสด็จลงจากดาวน์ดึง
ภายในพระเมรุทิศเมรุราย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง 12 องค์ ทุกองค์ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ อาจสื่อถึงพระพุทธเจ้าจำนวนมากมาย หรืออาจหมายถึงความเป็นพุทธราชาของพระมหากษัตริย์ที่แผ่ไปทั่วจักรวาล .. ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ที่ฝ้าเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน
ตามพงศาวดารกล่าวว่า .. เมื่อปี พ.ศ. 2310 พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนาราม ถูกดัดแปลงเป็นค่ายรบ หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้าง มีคนร้ายโขมยเศียรพระ ลักลอบขุดหาสมบัติ และขนอิฐไปขาย
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพกวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการประพันธ์บทร้อยกรอง ผลงานของพระองค์ยังคงเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน .. เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศน์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) และเจ้าฟ้าสังวาลย์
พงศาวดารอธิบายไว้ว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศน์ แม้จะดำรงพระยศเป็นถึง กรมพระราชวังบวรฯ มีพระชายาและเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกหลายคน แต่ก็ยังไม่วายเกิดอารมย์พิศวาสกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อสายอยุธยาอีกองค์หนึ่ง ... ซึ่งว่ากันว่า .. ทั้งสองพระองค์เคยรักกันมาก่อนตั้งแต่ครั้งเป็นหนุ่มสาว ก่อนที่ชะตาชีวิตลิขิตให้เจ้าฟ้าสังวาลย์ต้องรับการส่งตัวขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดของเจ้าฟ้ากุ้ง .. ดังบทเพลงที่คัดเอามาตอนหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการขอความรักจากกวีเอกพระองค์นี้
“สงสารกระต่ายป่าพฤกษาชาติ
จะวายชีวาตน์ ดับจิตด้วยพิศวง
แสนคนึงถึงเสน่ห์ที่จำนง
ก็เหมือนดังกระต่ายดงที่หลงเดือน
โอ้สุดคิดสุดฤทธิ์เหนสุดรัก
เพราะต่ำภักตรไม่มีศักดิ์เสมอเหมือน
ใครจะช่วยบำรุงรักให้ตักเตือน
โอนับเดือนก็จะลับไปนับวัน”
ความรักเมื่อครั้งหนุ่มสาวยังคงประทับอยู่ในใจไม่ลบเลือน แม้เจ้าฟ้าสังวาลย์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสีองค์ที่ 3 ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีโอรสธิดา 4 พระองค์ .. ในที่สุดเจ้าฟ้ากุ้งกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ก้ไม่อาจหักห้ามใจได้ ทรงลักลอบติดต่อกัน
เจ้าฟ้ากุ้งมีศัตรูซึ่งเป็นพระโอรสต่างมารดา คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี เรื่องการลักลอบนี้จึงถูกนำไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว โดยกรมหมื่นสุนทรเทพ .. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อทราบความก็สั่งให้ชำระ และนำตัวทั้งสองมารับพระราชอาญา โดยการโบยเจ้าฟ้ากุ้ง โดยเฆี่ยน 4 ยก 180 ที จึงดับสูญพระชนม์
ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลย์ ให้เฆี่ยนองค์ละยก 30 ที อยู่ได้ 3 วันก็สิ้นพระชนม์ สมด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จีงโปรดฯให้เอาพระศพทั้งสองพระองค์ไปฝังไว้ด้วยกันที่วัดไชยวัฒนาราม สมดังปรารถนาที่เจ้าฟ้ากุ้งเขียนไว้ในเพลงยาวอีกตอนหนึ่งว่า ..
“จึงจำจากเพราะวิบากให้วิบัติ
ขอกอดสัตย์ไปจนสิ้นชีวาสัญ
ไม่ตั้งใจมิตรจิตคิดผูกพัน
ขอหมายหมั้นกว่าจะม้วยชนมาน
ถ้าดับชีวิตไปสวรรค์ชั้นใดไฉน
ขอตามไปร่วมทิพย์พิมานสมาน
ทุกมหันต์มหรรณพเอนกนาน
จนสู่สถานที่สถิตย์นิพพานเมือง”
นับว่าเป็นความรักอมตะ และได้อยู่คู่กันแม้วันตายตามพระประสงค์ เป็นความรักอมตะแบบคลาสสิกไม่น้อย ดังนั้นการไปเที่ยววัดไชยวัฒนาราม จึงเป็นการรำลึกถึงเจ้าฟ้ามหากวีเอกของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้ทรงนิพน์ กาพย์เห่เรือ ที่ใช้ในพระราชพิธี จนถึงทุกวันนี้
เชื่อกันว่า .. ภายหลังได้มีการนำพระศพขึ้นมาถวายพระเพลิง แล้วนำพระอัฐิบรรจุลงในพระเจดีย์ทรงระฆัง ด้านข้างของระเบียงคด .. อย่างไรก็ตามประเด็นนียังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดนี้ถึง 4 ครั้ง
ในปี พ.ศ. 2534 ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ได้สนพระทัยเป็นพิเศษ พร้อมมีรับสั่งให้บูรณะปฏิสังขรณ์ ทำให้หน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนา จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติ์ พระชนม์มายุ 60 พรรษา ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปี พ.ศ. 2535
เราอยู่ที่วัดไชยวัฒนารามจนเวลาล่วงเข้ายามเย็น .. ฉันนั่งมองพระพักตร์พระพุทธรูปยามตะวันกำลังจะกล่าวลาโลก และมวลหมู่สรรพสัตว์น้อยใหญ่ ..
เส้นแสงสีส้มทองอมชมพู สาดส่อง ..พาดผ่านองค์ปรางค์ประธานและพระปฏิมา .. สิ่งต่างๆรอบๆตัวดูสงบ สร้างความสุข ให้ก่อเกิดภายในดวงใจอย่างน่าอัศจรรย์ .. เหมือนจะสอนใจดวงน้อย ให้ตระหนักว่า .. เราทุกคนต่างเดินออกมาจากกล่องแคบๆ มายืนอยู่ใต้ขอบฟ้าที่กว้าง ที่มีทั้งดวงจันทร์ ดวงดาว ..
ธรรมชาติที่เตือนให้เราสำนึกว่า ตัวเรานั้นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ดำรงอยู่ในโลกที่กว้างใหญ่นี้ .. อย่าไปหลงไหลได้ปลื้ม หรือยึดติดกับรางวัล วัตถุ หรือผู้คนให้มากจนเกินพอดี …
ขอบคุณ .. ข้อความบางส่วนจากหนังสือ อยุธยา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา