19 ก.ค. 2020 เวลา 23:54 • ประวัติศาสตร์
สยาม
ไม่ใช่ไทย? แล้วใครเรียกไทยว่า สยาม
ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยสอนในชั้นเรียน
ที่คุณ...อาจไม่เคยรู้
ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ระบุเอาไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า คนในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเรียกเผ่าพันธุ์ของตนเองว่า “ไท”
• ในภาษามอญ เรียกคนไทยว่า "หรั่ว เซม" (หรั่ว ภาษามอญแปลว่าพวก)
• ชาวมลายูและผู้มีเชื้อสายมลายูในประเทศไทย ออกเสียงเรียกสยามว่า “สิแย”
• ในภาษาเขมร ออกเสียงว่า "ซี-เอม" โดยเขมรให้ความหมายของคำว่า "สยาม" ว่า "ขโมย"
ในจดหมายเหตุเก่าของจีน เรียกอาณาจักรสุโขทัยว่า "เซียน" (暹国; หมายถึง สยาม ที่สุโขทัย) ซึ่งอยู่ทางเหนือ และเรียกอาณาจักรทางใต้ว่า "หลัววอ" (羅渦国; ซึ่งหมายถึง อยุธยา โดย "หลัววอ" นั้นแต่เดิมจีนใช้ชื่อของ ละโว้ มาก่อน
ซึ่ง "หลัววอ"หรือละโว้ในประวัติศาสตร์จีน เติบโตมาเป็นอยุธยาในเวลาต่อมา โดยในตอนต้นกรุงศรีอยุธยา จีนยังคงเรียกชื่ออยุธยาว่า "หลัววอ" เหมือนเดิม
จนเมื่ออาณาจักร "เซียน" และอาณาจักร "หลัววอ" ได้รวมกันแล้ว ทางราชสำนักจีนจึงได้รวมเรียกชื่ออาณาจักรใหม่ที่เกิดจากการรวมกันดังกล่าวว่า อาณาจักร "เซียนหลัว" (暹罗国; ภาษาจีนกลางยุคปัจจุบัน="เซียนหลัวกว๋อ" ภาษาจีนแต้จิ๋ว = "เสี่ยมล้อก๊ก")
• พม่าในบางตำราบอกว่า เรียกสยามว่า เซี้ยน" โดยในภาษาพม่านั้นอ่านออกเสียงตัว ม เป็นตัว น จึงทำให้เสียงเรียกคำว่า "สยาม" เพี๊ยนเป็น "เซี้ยน"
คนในประเทศพม่ามักจะเรียกชนกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลขร้า-ไทต่าง ๆ ว่า "เซี้ยน" เช่น
“โยดะยาเซี้ยน" (คนสยามโยธยา)
และเรียกคนไทใหญ่ในรัฐชานว่า “ต่องจยี๊เซี้ยน” (สยาม ต่องกี๊)
อ.แม็กกี้ นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวพม่า บอกว่า ชาวพม่าออกเสียงว่า “สยาม” ว่า “ฉาน”
โดยออกเสียงตัว “สย” เป็น “ฉ” และออกเสียง “ม” เป็น “น”
“ฉาน” ที่เราเข้าใจว่าไทยใหญ่ จริงๆ คือ “สยาม”
ในขณะที่”ไทยใหญ่”คือ “ต่องจยี๊”
ถ้าสังเกตให้ดี ชื่อ”สยาม” ที่แต่ละชาติพันธ์เพื่อนบ้านเรียกรัฐไทย ตามสำเนียง และอักขระวิธีของภาษาของตนนั้น คือคำเดียวกัน
แล้วเมื่อชาวตะวันตกมาถึงดินแดนแทบนี้ จึงเรียก”สยาม”ตามที่คนละแวกนี้ทั้งหมดเรียกไทยเราไปด้วย โดยออกเสียงตามอักขระวิธีของตนว่า “Siam” เช่นกัน โดยบางชาติตะวันตกออกเสียงว่า “ไซแอม” บางชาติตะวันตกออกเสียงว่า “เซียม”
แต่ว่า แต่ดั่งแต่เดิมเราคนไทย ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นชาว”สยาม”
ชาวสยาม คือกลุ่มคนที่ผสมผสานระหว่างชาวไทกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ทั้งที่เป็นชนพื้นเมืองเดิมในภูมิภาคนี้และชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่
ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์ ระบุว่า คนในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เรียกเผ่าพันธุ์ของตนเองว่า “ไท” มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา โดยได้บันทึกไว้ว่า
ชาวสยามเรียกตนว่า ไท (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขา
คำว่า สยาม กับ ไทย เป็นสองคำที่มีความแตกต่างกัน แต่หมายถึงพลเมืองของประเทศเดียวกัน
ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้ระบุไว้ในงานเขียน "Description du Royaume Thai ou Siam" (1854) ว่า "...ประเทศที่ชาวยุโรปขนานนามว่า สยาม นั้น เรียกตนเองว่า เมืองไท (Muang - Thai) (ราชอาณาจักรแห่งอิสรชน) ชื่อเดิมนั้นคือ สยาม (แปลว่าชนชาติผิวสีน้ำตาล) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ สยาม (Siam)...
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ศึกษาประวัติที่มาของคำว่า "สยาม" และเขียนเป็นหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ มีความสรุปได้ว่า
สยาม อาจเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า “ศฺยาม” श्याम ซึ่งแปลว่า สีดำ สีคล้ำ สีทอง
ปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนไว้ว่า มีการใช้ชื่อสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนำกฎหมายเก่ามาชำระและรวบรวมเป็นกฎหมายตราสามดวง ชื่อประเทศได้รับการบันทึกเป็นภาษาบาลีว่า "สามปเทส"
สาม หรือ สามะ แปลว่าความเสมอภาค ส่วน ปเทส แปลว่า ประเทศ แต่ฝรั่งออกเสียงเพี้ยน เป็นเซียมหรือไซแอม
สรุป
สยาม (อักษรละติน: Siam, อักษรเทวนาครี: श्याम) เป็นชื่อเรียกประเทศไทยในอดีต แต่มิใช่ชื่อที่คนไทยเรียกตนเอง
ราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า สยามเป็นชื่อเรียกดินแดนและกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ
สยามเพิ่งจะเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของไทยในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง
พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ชื่อ "สยาม" ในการทำสนธิสัญญากับต่างชาติเป็นเวลาหลายศตวรรษ เนื่องจากราชอาณาจักรประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ อาทิ ไท ลาว มอญ ญวน เขมร แขก จีน ฝรั่ง และมลายู
พระมหากษัตริย์ไทยจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ประเทศสยาม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน
อีกทั้ง ชื่อ สยาม นั้น ก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการวิชาการของต่างประเทศอีกด้วย
และได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น "ไทย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
ในสมัยรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ได้ปลุกแนวคิดชาตินิยม ซึ่งจากรายงานการศึกษาในยุคนั้นโดยนักศึกษาประวัติศาสตร์บางคน ได้มีการค้นพบคนไทยที่อยู่ในเวียดนามและจีนตอนใต้ นอกเหนือไปจากจากกลุ่มไทใหญ่ในพม่า ทำให้เกิดกระแสที่ต้องการรวบรวมชนเผ่าไทยเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศ "ไทย" เพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ในที่สุดจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
คำแถลงต่อสภาในปี พ.ศ. 2482 ของจอมพล ป. หรือ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ตามยศถาบรรดาศักดิ์ในขณะนั้น ถึงเหตุที่ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศมีอยู่ว่า
“…นามประเทศของเราที่ใช้เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้ด้วยความเคยชิน หรือได้จดจำเรียกกันต่อๆ มา และได้พยายามให้เจ้าหน้าที่ค้นในทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นคนที่ได้ตั้งขึ้นคราวแรก และตั้งแต่ครั้งใดก็ไม่ทราบ เป็นแต่ว่าเราได้เรียกมาเรื่อยๆ เรียกว่าประเทศสยาม และคำว่า ประเทศสยามนั้น ก็มักจะใช้แต่ในวงราชการ และนอกจากนั้นก็ในวงของชาวต่างประเทศเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนคนไทยของเราโดยทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งตามชนบทด้วยแล้ว เราจะไม่ค่อยใช้คำว่า ประเทศสยาม เราใช้คำว่าไทย…”
“…การที่เราได้เปลี่ยนให้ขนานนามว่า ประเทศไทยนั้น ก็เพราะเหตุว่าได้พิจารณาดูเป็นส่วนมากแล้วนามประเทศนั้น เขามักเรียกกันตามเชื้อชาติของชาติที่อยู่ในประเทศนั้น เพราะฉะนั้นของเราก็เห็นว่าเป็นการขัดกันอยู่ เรามีเชื้อชาติเป็นชาติไทย แต่ชื่อประเทศของเราเป็นประเทศสยาม จึงมีนามเป็นสองอย่าง ดังนี้ ส่วนมากในนานาประเทศเขาไม่ใช้กัน…”
อาจสรุปได้ว่า ชื่อ “ไทย” ของเรามีความหมายว่า ความมีอิสระภาพ และชื่อ “สยาม”หมายถึง “ความเสมอภาค”
คนไทยในสยามประเทศ รวมๆ กันแล้ว น่าจะหมายถึง คนที่มีเสรีภาพ ในดินแดนที่มีความเสมอภาค
ขอความเสมอภาคและเสรีภาพจงเป็นของพวกเราทุกคน
สวัสดีพี่น้องชาวไทย
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง
ที่มา : วิกิพีเดีย และอื่นๆ
โฆษณา