25 ก.ค. 2020 เวลา 04:26 • ประวัติศาสตร์
นอกสนามกลาดิเอเตอร์ ตอนที่ 2:
ดาราถือดาบ งานหยาบยามรบ ทำไมกลาดิเอเตอร์ถึงไม่เหมาะจะเป็นทหาร?
จินตนาการตามกันดูนะครับ
คุณใช้เวลาทั้งหมดตั้งแต่หัวละหมอนยันตัวถึงเตียงไปกับการออกกำลังและซ้อมรบ คุณต้องแสดงโชว์เสี่ยงตายห้ำหั่นกับเชลยศึกคนเถื่อนและนักสู้มืออาชีพต่อหน้าคนนับพันนับหมื่น ขายอิสระภาพให้กับโรงฝึกเพื่ออาหารมื้อต่อไป ทำให้นายได้ทุกอย่าง เป็นเครื่องจักรสังหารตามสั่ง
นี่แหละชีวิตของกลาดิเอเตอร์โรมัน
...แต่เคยคิดไหมว่าทำไมไม่มีคนเอากลาดิเอเตอร์ไปเป็นทหาร?
ก่อนอื่นเลย แล้วทหารโรมันเป็นยังไงล่ะ?
กองทหารลีเจี้ยน (legion) เป็นตัวเชิดหน้าชูตาของประวัติศาสตร์โรมันเลยทีเดียว 1 ลีเจี้ยนมักจะมีทหารอยู่ราว 4,000-4,800 นาย กระจายอยู่ 20-30 ลีเจี้ยนทั่วอาณาเขตโรมัน ถนัดตั้งแนวรบด้วยโล่ยาว สู้ด้วยดาบผสมหอกขว้าง สามารถสร้างถนน เดินทัพ และตั้งค่ายได้อย่างรวดเร็วโดยแทบจะไม่ต้องพึ่งขบวนส่งเสบียงที่เชื่องช้า ทั้งหมดนี้ทำได้ด้วยระเบียบวินัยแน่นปึ้กและการฝึกรากเลือด พิชิตมาแล้วทั้งทัพช้างแอฟริกาและคนป่าเยอรมัน ความเร็วในการเดินทัพ ความแข็งแกร่งของแนวโล่ และวินัยที่เพอร์เฟคคือจุดแข็งของทหารโรมัน
แล้วกลาดิเอเตอร์ไม่ดีตรงไหน?
จุดเด่นของนักสู้กลาดิเอเตอร์อยู่ที่ความสามารถในการรบระยะประชิด แต่ในสงคราม การต่อสู้ตัวต่อตัวไม่ใช่ทุกอย่าง ทหารลีเจี้ยน (legionnaire) ของโรมันถูกฝึกมาให้รบเป็นกอง ใช้น้อยชนะมาก อีกทั้งยังสามารถหากินจากพื้นที่ พึ่งพาตัวเองได้
ซึ่งที่ว่ามานี่กลาดิเอเตอร์ทำไม่ได้เลยซักอย่าง
ปกติเหล่ากลาดิเอเตอร์มักจะอยู่ในโรงฝึกตลอด จะกินก็มีให้กิน จะพักก็มีที่ให้พัก ในการรบจริงพวกเขาจะไม่มีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองนอกสมรภูมิเลย จะตั้งค่ายอย่างมีระบบหรือหาน้ำกินก็ต้องมีคนทำให้ กลายมาเป็นภาระของคนอื่นทันทีที่การรบจบ นอกจากนี้พวกเขายังไม่สามารถทำตามคำสั่งของนายพลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะขาดการฝึกเป็นหมู่คณะ ไม่เหมาะกับการเอามาลงสนามจริงเท่าไรนัก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของกองทัพกบฏของสปาร์ตาคัส (Spartacus) ที่ประกอบไปด้วยนักรบกลาดิเอเตอร์แหกคุกและทาสหลบหนีหลายหมื่นคน แม้จะประสบความสำเร็จในการรบพุ่งตรง ๆ กับทหารโรมันอย่างมากในตอนแรก แต่พอเจอกับการตั้งค่ายปิดล้อมที่หนาแน่นของกองทัพลีเจี้ยน (อะไรที่คนทั่วไปทำไม่เป็นแน่นอน) บวกกับปัญหาแตกแยกภายในเนื่องจากไม่มีระบบบังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพ พวกกบฎกลาดิเอเตอร์ก็ถูกปราบในที่สุด แม้จะรบชนะมาเยอะและมีแม่ทัพที่เก่งอย่างสปาร์ตาคัสแต่ก็แพ้สงครามเพราะไม่ถนัดรบเป็นทีม
ถึงจะอย่างนั้น ในประวัติศาสตร์เองก็เคยมีแม่ทัพที่เอากลาดิเอเตอร์เข้ากองทัพให้เห็นเรื่อย ๆ เพราะสถานการณ์คับขัน แต่นักสู้สังเวียนเหล่านี้ก็มักจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ ในกรณีนึงช่วงยุคสงครามกลางเมืองหลังการตายของจักรพรรดิเนโร ทหารกลาดิเอเตอร์ที่ถูกใช้เฝ้าเมืองกองนึงพากันเลี้ยงฉลองเพลินจนไม่มีใครออกเวรยาม ปล่อยให้ทหารโรมันฝั่งตรงข้ามบุกเข้ามาได้ แต่พวกเขาก็ดันทำงานได้ดีเยี่ยมยามต้องสู้ตัวต่อตัวกับศัตรู ถึงจะไม่ได้แย่ไปซะหมด แต่ทหารปกติคงไม่พลาดปล่อยศัตรูเข้าเมืองมาง่าย ๆ แบบนี้เหมือนกัน
อีกมุมที่น่าสนใจคือ การฝึกทหารที่เป็นงานอยู่แล้วให้รบเก่งขึ้นนั้นง่ายกว่าการฝึกคนธรรมดาให้มีวินัย จูเลียส ซีซ่าร์ (Julius Caesar) เองก็เคยนำวิธีฝึกกลาดิเอเตอร์บางส่วนมาปรับใช้กับกองทัพ โดยเฉพาะการจับคู่ซ้อมดวลกันต่อตัว ซึ่งดูจะได้ผลกว่าการเอานักสู้ของเรามาใช้ตรง ๆ
นอกจากเรื่องวินัยแล้ว ที่ยืนทางสังคมอันง่อนแง่นของพวกกลาดิเอเตอร์ก็เป็นอะไรที่เราต้องดูกันด้วย
ในโลกโรมัน เกียรติยศเป็นตัววัดคุณค่าบุคคลที่สำคัญมาก คนที่ขายอิสรภาพตัวเอง เป็นทาส หรือเชลยศึกต่างชาติอย่างกลาดิเอเตอร์จึงถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีเกียรติอย่างที่อารยชนพึงจะมี (แบบโรม ๆ) ในการว่าจ้างกลาดิเอเตอร์ ผู้จ้างยังถือเป็นธรรมเนียมเลยว่าต้องทำผ่านคนกลางเท่านั้น ไม่ควร "ลดตัว" ไปทำเองเพราะฐานะทางสังคมที่ต่างกัน ซึ่งสถานะของกลาดิเอเตอร์นี่ไม่ใช่แค่การเหยียดกันเฉย ๆ แต่เป็นสถานะทางกฏหมายจริง ๆ ใครที่เคยเป็นกลาดิเอเตอร์มาแล้วจะถูกจัดเป็นบุคคลไร้เกียรติ (infamis) ที่มีสิทธิ์ทางกฏหมายน้อยกว่าประชาชนโรมันคนอื่น ๆ ไปตลอดชีวิต! (อาชีพอื่น ๆ ที่เข้าข่ายไม่พึงประสงค์นี้ก็จะมีโสเภณีกับนักแสดง) การเอากลาดิเอเตอร์มารบจึงไม่ต่างจากการประกาศให้คนอื่นรู้ว่ากองทัพตนเองขาดความชอบธรรม ต้องใช้เงินซื้อทหาร ไม่สามารถชักชวนประชาชนมาเข้าร่วมได้ด้วยวิธีปกติ หากไม่จวนตัวจริง ๆ ก็ไม่เหมาะกับสถานะของแม่ทัพคนนั้นเลย
ด้วยการใช้งานที่เฉพาะทาง ผลลัพธ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และชื่อเสีย การใช้กลาดิเอเตอร์ในสนามรบอย่างเป็นกิจวัตรจึงไม่เคยเกิดขึ้น มีให้เห็นเรื่อย ๆ เพียงปริบปราย
สรุปแล้ว
ไม่แปลกที่เราจะคิดว่ามือสังหารอาชีพอย่างเหล่ากลาดิเอเตอร์จะเป็นวัตถุดิบสร้างกองทัพชั้นดี แต่มันก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างทหารมืออาชีพกับนักรบอยู่ สงครามมีมากกว่าแค่การจ้วงแทงกันซึ่ง ๆ หน้า ระเบียบวินัย การทำงานเป็นทีม และความสามารถในการพึ่งพาจัดการตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ เราอาจจะติดภาพกองทัพฝึกหัดที่จับผลัดจับพลูสร้างปาฏิหาริย์กันได้ในหนัง แต่ก็นะครับ มันก็เป็นได้แค่ในหนังสนุก ๆ นี่แหละ
ขอบคุณครับ
ปล นี่เป็นบทความที่สองในซีรียส์ชีวิตนอกสนามของกลาดิเอเตอร์นะครับ ตอนต่อไปเรามาดูกันเรื่องการรับจ๊อบนอกสังเวียนกัน ใครสนใจตอนแรกเรื่องอาหารการกิน (และหุ่น) ของนักสู้ของเราก็เชิญทางนี้ครับ
1. ดารานักสู้ ตุ้ยนุ้ยมรณะ ทำไมกลาดิเอเตอร์กินถั่วผสมขี้เถ้าจนท้วม?
อ้างอิง
Gladiator: The Roman Fighter's [Unofficial] Manual by Philip Matyszak
Legionary: The Roman Soldier's (Unofficial) Manual by Philip Matyszak
Third Servile War by Brittannica
Marian Reforms and their Military Effects by Kings and Generals
โฆษณา