22 ก.ค. 2020 เวลา 09:30
AI กับ นักกฎหมาย แค่ผู้ช่วยหรือตัดสินคดีแทนมนุษย์?
เชื่อว่า AI เป็นคำที่หลายคนได้ยินบ่อยมาก ตัวอย่างง่าย ๆ ใกล้ตัวเราที่สุด คือ สมาร์ทโฟน เพราะทุกค่ายนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งถ่ายรูป ไปจนถึงวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งาน และหากมองไปที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็คงจะเห็นว่า AI เข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือการทำงานของพนักงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งงานด้าน “กฎหมาย” เพราะวันนี้ AI กลายเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาพิจารณาคดีแล้ว จนอดรู้สึกไม่ได้ว่านักกฎหมายจะเป็นอีกอาชีพที่อาจตกงานในอนาคตรึเปล่า?
ปัจจุบัน AI มีบทบาทมากขึ้นในวงการศาลของต่างประเทศ ตัวอย่างกระทรวงยุติธรรมของประเทศเอสโตเนีย ได้พัฒนาหุ่นยนต์ผู้พิพากษาขึ้นมา ใช้งบประมาณราวๆ 7,000 ยูโร เป็นผู้พิจารณาคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อทุ่นแรงผู้พิพากษาที่เป็นคนจริง ๆ ได้ตัดสินใจคดีความที่มีความสลับซ้อนมากกว่า
อีกหนึ่งตัวอย่างในประเทศจีน มีศูนย์บริการดำเนินคดีออนไลน์ และมีผู้พิพากษาที่พัฒนาขึ้นจาก AI เป็นผู้พิจารณาคดีแทนคน คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือผู้เสียหายในการดำเนินคดีต่าง ๆ
อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจทำให้ผู้อ่านอาจตระหนักตกใจว่า AI พัฒนามาถึงขั้นช่วยพิจารณาคดีความต่าง ๆ ที่ซับซ้อนได้แล้วอย่างนั้นหรือ ? คำตอบ คือ ยังไม่ถึงขนาดนั้นครับ
ทุกวันนี้ AI ที่บางประเทศนำมาประยุกต์ใช้กับแวดวงกฎหมาย ยังเป็นเพียงแค่นำมาช่วยวิเคราะห์เอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ในบางคดีที่ไม่สลับซับซ้อน โดยอาศัยการป้อนข้อมูลที่อาจเป็นคดีที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในอดีต เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้และเปรียบเทียบว่าผู้กระทำผิดแต่ละคนมีความผิดจริง ผิดมากน้อยเพียงใด และมีบทลงโทษอย่างไร
Credit: theindianwire.com
AI แค่ที่ปรึกษา หรือแทนนักกฎหมายได้แล้วหรือเปล่า ?
หากว่ากันตามข้อมูลในเวลานี้ AI สามารถเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของนักกฎหมายได้ อาทิ การค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล รวบรวมหลักฐานต่างๆ แต่ในสถานการณ์จริงนักกฎหมายที่เป็นคนจริง ๆ ก็ยังสำคัญสำหรับผู้เสียหายที่ต้องการใครสักคนมาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายเมื่อเกิดคดีความ
ส่วนขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาล ผู้พิพากษาที่เป็นคนจริง ๆ ยังจำเป็น โดยเฉพาะคดีอาญาที่ต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลที่มีความละเอียดเพื่อพิสูจน์ความจริง หรือจะเป็นคดีความด้านศีลธรรม จรรยาบรรณและมนุษยธรรม ที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและจิตวิทยาทางกฎหมาย เพื่อไต่สวนคดีความให้มีความเที่ยงธรรมมากที่สุด
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า AI กับงานกฎหมายในเวลานี้ยังเป็นเพียงก้าวแรกที่เข้ามาช่วยผู้พิพากษาพิจารณาคดีที่มีความซับซ้อนน้อยให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น ช่วยลดปริมาณคดีความในชั้นศาลที่ล้นมือของเหล่าผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี รวมถึงสนับสนุนนักกฎหมายในการค้นหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลจากคดีต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นับเป็นเรื่องดีที่ AI เข้ามาแบ่งเบาภาระของเหล่าผู้พิพากษา งานที่ต้องใช้เวลานาน ๆ งานยุ่งยากจุกจิกที่ไม่ต้องอาศัยความซับซ้อนในการคิด แต่อนาคตเชื่อว่า AI กับนักกฎหมายจะถูกพัฒนาไปก้าวไกลกว่านี้แน่นอน ไม่แน่ว่าอาจพัฒนาไปถึงขั้นตัดสินคดีความได้เอง รู้แบบนี้แล้ว นักกฎหมายทั้งหลายคงไม่สามารถนิ่งเฉยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ การเพิ่มทักษะและการปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เช่นนั้นนักกฎหมายคงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ AI อาจเข้ามาแย่งงานได้ เช่นเดียวกับอีกหลายอาชีพแน่นอนครับ
โฆษณา