28 ก.ค. 2020 เวลา 11:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สะพานแห่งกาลเวลา : อัพเดต 5จี ในเอเชีย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
การระบาดของโควิด-19 ทำเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างหยุดชะงัก หลายคนคิดว่าพัฒนาการของเครือข่ายไร้สายรุ่นที่ 5 หรือ 5จี จะกระทบไปด้วย
อันที่จริงก็หยุดไปพักใหญ่เหมือนกันครับ แต่พอตั้งหลักได้ หลายประเทศในเอเชียก็เร่งมือเรื่องนี้อีกครั้ง
เพราะโควิด-19 ไม่เพียงทำให้กิจกรรมบนโลกออนไลน์สูงขึ้นมากเท่านั้น แต่สภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวลงในทุกหัวระแหง รัฐบาลของทุกประเทศ จำเป็นอยู่ดีที่ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
5จี เป็นห่วงโซ่สำคัญเพื่อการนั้น
พัฒนาการล่าสุดของ 5จี ในเอเชียเกิดขึ้นพร้อมๆ กับคำถามสำคัญแต่เดิม ที่ยิ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้น
คำถามที่ว่า จะเลือก “หัวเว่ย” ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญของโครงข่าย 5จี ในอนาคตหรือไม่?
หลังสุด “สตาร์ฮับ เอ็มวัน” บรรษัทสิงคโปร์ กับ “สิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเกชันส์” ที่รับผิดชอบโครงข่าย 5จี ของที่นั่น ตัดสินใจเลือก “อีริคสัน” ของสวีเดน และ “โนเกีย” ของฟินแลนด์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงข่าย 5จี หลักของประเทศ
เป้าหมายคือให้สามารถเปิดบริการได้ในเดือนมกราคมปีหน้านี้
ในไทย เอไอเอสบอกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า กันเงินเอาไว้ 1,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับลงทุนในเครือข่าย 5จี โดยเฉพาะ
เป้าที่ตั้งไว้ก็คือ ถึงสิ้นปีนี้จะให้บริการ 5จี ให้ครอบคลุมราว 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ
ข้อชวนสังเกตก็คือ เอไอเอสทำงานร่วมกับหัวเว่ย ในด้านโครงข่าย 5จี อยู่ในเวลานี้
ทรู คอร์ป ประกาศเมื่อเมษายนว่า เลือกอีริคสันเป็นผู้จัดหา เรดิโอ แอคเซส ซิสเต็ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่าย 5จี
ที่เวียดนาม เวียตเทล, โมบิโฟน และวินาโฟน 3 ค่ายยักษ์ที่หน่วยงานรัฐบาลเป็นเจ้าของ ก็เพิ่งทดลองเครือข่ายในเมืองใหญ่ๆ แล้วเสร็จไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ใครที่ติดตามสถานการณ์โลกสักหน่อยจะเห็นได้ว่า เกิดความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในเอเชียขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นปัญหากับสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อหัวเว่ยโดยตรง ปัญหาในทะเลจีนใต้ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเวียดนาม หรือปัญหาพรมแดนกับอินเดีย ที่ส่งผลต่อกิจการของจีนในประเทศนั้นพร้อมๆ กันไปหมด ตั้งแต่ติ๊กต๊อก ไปจนถึงวีแชต และหัวเว่ย กับแซดทีอี
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้จังหวะเวลาของการตัดสินใจเรื่องผู้พัฒนาเครือข่ายไม่ดีต่อหัวเว่ยมากๆ
การที่สิงเทลในสิงคโปร์เลือกอีริคสันกับโนเกีย ส่งผลให้นักวิเคราะห์ด้านการตลาดบางคนเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อหัวเว่ยในเอเชียไม่น้อย
ด้วยเหตุที่ว่าสิงเทลไปถือครองหุ้นในบริษัทโทรคมนาคมและการสื่อสารอยู่ในหลายประเทศ
ตั้งแต่เอไอเอสในไทย เทลคอมเซลในอินโดนีเซีย โกลบเทเลคอมในฟิลิปปินส์ เรื่อยไปจนถึงภารตีแอร์เทลในอินเดีย
แต่จริงๆ แล้วการตัดสินใจของสิงคโปร์ส่งผลน้อยมาก หรืออาจไม่มีผลเลยในแง่ของการแข่งขันกันในระดับโลก เหตุผลหนึ่งก็คือ แม้จะเลือกรายอื่นเป็นผู้รับผิดชอบใน “คอร์ เน็ตเวิร์ก” แต่สิงคโปร์ก็ไม่ได้ปฏิเสธหัวเว่ย ยังคงเปิดทางให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบนอกเครือข่ายหลักต่อไป
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การเลือกของสิงเทลไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในประเทศอื่น ซึ่งเห็นได้ชัดมากในกรณีของเอไอเอสในไทย
หัวเว่ยยังคงมีพาร์ตเนอร์อยู่ในอีกหลายประเทศ เช่น แม็กซิสในมาเลเซีย แล้วก็โกลบเทเลคอมในฟิลิปปินส์ ซึ่งทำงานร่วมกับหัวเว่ยใน “5จี ไพล็อท โปรเจกต์” อยู่ในเวลานี้
ส่วนกัมพูชา ก็แน่นอนว่าคงเลือกหัวเว่ยสำหรับโครงการ 5จี ของตนอย่างแน่นอน
คนในแวดวงระบุว่า ข้อดีของหัวเว่ยอยู่ตรงที่พัฒนาระบบ 5จี มานานกว่า มีอุปกรณ์ครอบคลุมในทุกส่วนที่จำเป็นสำหรับโครงข่าย 5จี พัฒนาการในบางด้านสูงกว่าคู่แข่ง
ที่สำคัญก็คือ “ราคา” ต้นทุนของโครงข่าย 5จี ถูกกว่าคู่แข่งถึง 30 เปอร์เซ็นต์
แต่ประเด็นทางเทคนิคไม่ได้เป็นปัจจัยอย่างเดียวสำหรับการตัดสินใจของแต่ละประเทศในการเลือกใช้โครงข่าย
บางประเทศให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนเครือข่ายสูงสุดอีกด้วย
แต่ไม่ว่าจะให้ความสำคัญกับปัจจัยไหนสูงสุด สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ การตัดสินไม่ควรยืนอยู่บนเหตุผลด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยถาวรนัก
การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
บางครั้ง แค่การเดินทางครั้งเดียว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็เปลี่ยนสถานการณ์ไปทั้งหมด
โครงข่าย 5จี ของประเทศคงอยู่นานกว่านั้นมากครับ
โฆษณา