29 ก.ค. 2020 เวลา 01:51 • การศึกษา
วิธีหาไอเดียแปลกใหม่ด้วยการบ่มเพาะความคิด
Photo by Ann H from Pexels
พวกเราคงเคยมีประสบการณ์ว่า พยายามคิดหรือแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งเป็นเวลานาน แต่คิดเท่าไร ก็คิดไม่ออก
แต่อยู่ดีๆ เวลาที่เราทำอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนั้น จู่ๆ ก็คิดคำตอบหรือแก้ปัญหาเรื่องนั้นได้เอง
ตัวอย่างโด่งดังที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การที่อาร์คีมีดิส นักคณิตศาสตร์ชาวกรีกที่แก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ได้ระหว่างนอนแช่ในอ่างน้ำ แล้วดีใจ ลืมตัว วิ่งเปลือยกายในท้องถนน แล้วตะโกนว่า “ยูเรก้า” ที่แปลว่า ฉันพบแล้ว และเป็นตำนานที่นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์รู้จักอย่างดี
แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดกับอาร์คีมีดิสเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักสร้างสรรค์จำนวนมากก็มีประสบการณ์คล้ายๆ กัน
การพยายามแก้ป้ญหาอย่างหนักแล้วปล่อยปัญหาไปสักพัก ให้คำตอบเกิดขึ้นมาเอง เรียกว่า การบ่มเพาะความคิด
ผมใช้เทคนิคนี้หลายครั้ง เช่น เคยอ่านเปเปอร์ทางวิชาการ แต่อ่านไม่รู้เรื่อง ก็เว้นหนึ่งวัน จากนั้น ค่อยมาอ่านใหม่ กลับเข้าใจมากกว่าเดิม
ผมมักแนะนำลูกศิษย์เวลาทำข้อสอบว่า ควรอ่านข้อสอบทุกข้อให้เข้าใจก่อน จากนั้นก็ทำข้อสอบที่ทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามลำดับ ข้อไหนที่ทำไม่ได้ ก็เว้นไว้ก่อน ปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำงานเบื้องหลัง บางที อาจคิดคำตอบได้ตอนใกล้หมดเวลา
มีหนังสือหลายเล่มที่พูดเรื่องการบ่มเพาะความคิด และมีเล่มหนึ่งที่โด่งดังมากในวงการความคิดสร้างสรรค์ ชื่อ Thinkertoys ที่คุณไมเคิล มิชาลโค (Michael Michalko) เป็นผู้เขียน
ผมได้ร่วมแปลหนังสือเล่มนี้กับคุณวันเพ็ญ วงเวียน มีชื่อไทยว่า ติ้งกะตอย ของเล่นนักคิด ซึ่งสำนักพิมพ์ขวัญข้าว’94 เป็นผู้พิมพ์
จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนจากบทที่ 24 ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นเรื่องการบ่มเพาะความคิด มาให้อ่านกันครับ
ครั้งหนึ่งนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งกล่าวว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดมาจากสถานที่แห่งหนึ่งจากสามที่ต่อไปนี้ เรียกว่า 3B คือ รถเมล์ (Bus) เตียงนอน (Bed) และห้องน้ำ (Bath)
บุคคลที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากกล่าวว่า ความคิดดีที่สุดของพวกเขาเกิดขึ้นขณะที่พวกเขาไม่ได้คิดเรื่องการแก้ปัญหา
เบอร์แทรนด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Conquest of Happiness ดังนี้
"ผมพบว่า ถ้าต้องเขียนบทความที่ค่อนข้างยาก วิธีดีที่สุดคือจะต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก คิดอย่างจริงจังมากที่สุดเท่าที่คิดได้ เป็นเวลาสองสามชั่วโมงหรือสองสามวัน และคิดไปจนถึงกำหนดเวลาส่งงาน อาจพูดได้ว่ามีการทำงานชิ้นนี้อย่างลับ ๆ
หลังจากผ่านไปหลายเดือน ผมกลับมาที่บทความนี้ และพบว่างานชิ้นนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ผมค้นพบวิธีการนี้ ผมเคยเสียเวลากังวลเพราะงานไม่มีความคืบหน้า ผมได้วิธีแก้ปัญหาไม่ช้าไปกว่าการเสียเวลากังวล และการเอาแต่กังวลเป็นสิ่งที่เสียเวลาจริงๆ"
Photo by Artem Beliaikin from Pexels
วิธีบ่มเพาะความคิด
1. ระบุปัญหาที่คุ้มค่าแก่การแก้ไข และคิดถึงผลลัพธ์ ถ้าคุณสามารถสร้างภาพโลกที่ปัญหาถูกแก้ไขแล้ว คุณจะถูกดึงให้เข้าไปสู่คำตอบที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์โดยไม่รู้ตัว
2. รวบรวมข้อมูลและหนังสืออ้างอิงที่หาได้ทั้งหมดของปัญหา อ่าน คุยกับผู้อื่น ตั้งคำถามและทำวิจัยให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แก้ปัญหาอย่างมีสติ จนกว่าคุณจะพอใจว่า ได้เตรียมการอย่างครบถ้วนเท่าที่ทำได้แล้ว
3. ออกคำสั่งให้สมองค้นหาคำตอบของปัญหานั้น โดยสั่งว่า “เอาละ หาทางออกของปัญหานี้ให้ได้ ฉันจะกลับมาฟังคำตอบในอีกสองวันข้างหน้า” หรือ “บอกให้ฉันรู้ทันทีที่นายค้นพบคำตอบแล้ว”
4. ปล่อยวางปัญหานั้น ไม่ต้องทำอะไรอีก ลืมมันไปสักระยะหนึ่ง ช่วงเวลานี้อาจยาวหรือสั้นก็ได้ ออกไปเดินเล่นหรือไปอาบน้ำ ไปดูหนัง หรือนอนหลับ การบ่มเพาะความคิดจะเกิดขึ้นในที่สุด
5. ยูเรก้า ! มันอาจใช้เวลาห้านาที ห้าชั่วโมง ห้าวัน ห้าสัปดาห์ ห้าเดือน หรือแค่ไหนก็ตาม แต่ในที่สุดปัญญาจะเกิดขึ้น
Photo by Pixabay from Pexels
ประโยชน์ของการบ่มเพาะความคิด
1. การบ่มเพาะความคิดช่วยให้คุณมองปัญหาได้จากหลายมุมมอง
เอ็ดนา เฟอร์เบอร์ (Edna Ferber) บอกว่า “เนื้อเรื่องจะต้องหมักบ่มอยู่ในน้ำเป็นเวลาหลายเดือนหรือกระทั่งหลายปีกว่าจะพร้อมเสิร์ฟ”
สถาปนิกคนหนึ่งไม่แน่ใจว่าจะจัดวางทางเดินระหว่างตึกไว้ที่ใดในศูนย์รวมสำนักงาน เขาไม่ทำอะไรเลยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปล่อยให้ปัญหา “บ่มเพาะ” วันหนึ่ง เขาสังเกตคนเดินบนพื้นหญ้าระหว่างตึกและทิ้งร่องรอยไว้ เขาจึงสร้างทางเดินที่นั่น ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ใช้อย่างลงตัวและสวยงาม
2. ใช้จิตใต้สำนึกจัดการกับปัญหา
ลองทดลองง่าย ๆ ดังนี้ เขียนตัวอักษร A ถึง Z บนกระดาษในแนวตั้ง จากนั้นเขียนหนึ่งประโยคในแนวตั้ง ถัดจากแถวตัวอักษรที่เขียนไว้ แล้วหยุดเขียนประโยคเมื่อตรงกับตัว Z ตอนนี้เรามีแถวตัวอักษรที่ใช้เป็นอักษรขึ้นต้น
จากนั้นให้นึกชื่อคนดังของตัวอักษรขึ้นต้นแต่ละชุดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (บุคคลในชีวิตจริงหรือในนิยายก็ได้) ภายในสิบนาที ถ้านึกชื่ออักษรในชุดใดชุดหนึ่งไม่ออก แต่กลับไปนึกออกในขณะที่กำลังนึกชื่อชุดอักษรอื่น แสดงว่าเราได้สัมผัสการทำงานของจิตใต้สำนึกแล้ว
3.เมื่อทิ้งปัญหาไว้แล้วกลับมาแก้อีกครั้ง เรามักมีมุมมองต่อปัญหาแตกต่างไปจากเดิม
อาสาสมัครคนหนึ่งในนิวยอร์กเผชิญปัญหาในการหาเงินทุนเพิ่มเพื่องานการกุศลงานหนึ่ง เขาพิจารณาวิธีการหาเงินทุนแบบเดิมและปล่อยวางปัญหาสักสองสามสัปดาห์
วันหนึ่งขณะที่เขากำลังตกปลาอยู่ที่แม่น้ำ เขานึกถึงปัญหานั้นขึ้นมาและสงสัยว่ามีวิธีที่จะรวมการหาเงินทุนเข้ากับกีฬาได้หรือไม่ ความคิดนี้บันดาลใจให้เขาคิดค้นวิธีการหาเงินทุนแบบใหม่ล่าสุดขึ้นมา
ไอเดีย : การแข่งขันเป็ดพลาสติก ติดหมายเลขบนเป็ดที่ทำด้วยพลาสติกความยาว 3 นิ้ว แล้วโยนลงไปในแม่น้ำให้ลอยไปเป็นระยะทางหนึ่งไมล์ตามกระแสน้ำ ผู้ชมต้องจ่าย 5 เหรียญเพื่อพนันว่าเป็ดตัวใดจะชนะและตัวใดจะได้รางวัล
บรรดาอาสาสมัครจะติดตามเป็ดที่ลอยไปโดยใช้เรือแจว จากนั้นก็ใช้สวิงเก็บเป็ด นอกจากนี้ยังมีตาข่ายอีกหลายผืนที่ขึงกั้นแม่น้ำไว้ตรงบริเวณเส้นชัย เพื่อเป็ดจะได้ไม่ทำให้เกิดมลภาวะ
4. การบ่มเพาะความคิดช่วยให้คุณตระหนักเป้าหมายของตนเอง
เขียนเป้าหมายหนึ่งอย่างที่สำคัญต่อคุณ อาจเป็นเป้าหมายระยะสั้นหรือยาวก็ได้ จากนั้น เขียนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหากคุณได้บรรลุเป้าหมายนั้นขึ้นมาจริง ๆ บรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ราวกับว่าเหตุการณ์เหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และเขียนละเอียดมากที่สุดเท่าที่ทำได้
เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เขียนที่ด้านล่างสุดของหน้ากระดาษว่า “ขณะนี้สิ่งนี้หรือสิ่งที่ดีกว่าได้ปรากฏต่อฉันอย่างน่าพึงพอใจมาก” แล้วนั่งเงียบ ๆ นึกถึงภาพที่เป้าหมายกลายเป็นความจริง จากนั้นเก็บกระดาษนั้นเอาไว้ และลืมมันเสีย
หลังจากนั้นหลายเดือนหรือหลายปี เมื่อคุณพบกระดาษแผ่นนั้นและอ่านสิ่งที่เขียนไว้ คุณอาจแปลกใจที่พบว่าเป้าหมายที่คุณเขียนลงไปตอนนั้นได้กลายเป็นความจริง
สรุป
นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งสังเกตว่า แนวคิดดี ๆ ของเขาทั้งหมดเกิดขึ้นในขณะที่เขาไม่ได้พยายามแก้ปัญหาหรือแม้กระทั่งคิดถึงมัน และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเดียวกับเขาส่วนใหญ่ก็ค้นพบสิ่งใหม่ในทำนองเดียวกัน เวลาที่ไอน์สไตน์เผชิญหน้าปัญหา เขาจะล้มตัวลงนอนแล้วหลับสักงีบหนึ่ง
เมื่อคุณกำลังพบทางตันในการแก้ปัญหา จงบ่มเพาะมันเอาไว้ จากนั้น เวลาที่คุณไม่ได้คาดหวังอะไร ท่ามกลางความเงียบ คำตอบจะออกมาราวกับฝูงนกที่บินออกจากต้นไม้
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา