12 ส.ค. 2020 เวลา 01:00
เคยมีพายุใหญ่(?)ถล่มไอยคุปต์
“เมื่อเทพเจ้าขุ่นเคืองพระทัย พระองค์จึงบันดาลให้ฝนห่าใหญ่เคลื่อนเข้ามาปกคลุมท้องฟ้าจนมืดมิด พายุใหญ่ส่งเสียงร้องคำรามกึกก้องทั่วท้องฟ้าอย่างไม่มีหยุดหย่อน เสียงของมันดังเสียยิ่งกว่าเสียงกรีดร้องของประชาชน ทรงพลังกว่า...
[ข้อความขาดหาย] ส่วนเสียงฝนจากบนภูเขาก็ดังเสียยิ่งกว่าเสียงจากแหล่งน้ำใต้
ดินของเกาะเอเลเฟนทีนเสียอีก”
ข้อความด้านบนนี้ไม่ใช่องก์แรกของภาพยนตร์ระทึกขวัญ เอาตัวรอดจากภัยพิบัติ
ทว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่จารึกด้วยอักษรภาพอียิปต์โบราณหรือ
เฮียโรกลิฟฟิค (Hieroglyphs) บนศิลาขนาดความสูงราว 1.8 เมตร จากสมัยของ
ฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 (Ahmose I)
พระองค์เป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่ 18 ของราชอาณาจักรใหม่
(New Kingdom) ในอียิปต์โบราณ ทว่าศิลาแผ่นนี้ไม่ได้อยู่ในภาพที่สมบูรณ์
นักตอนที่นักอียิปต์วิทยาเข้าไปค้นพบ มันแตกเป็นออกเสี่ยง ๆ และถูกนำไปใช้เป็น
ส่วนหนึ่งของวัสดุก่อสร้างซุ้มประตูไพลอนลำดับที่สาม (3rd Pylon)
ในมหาวิหารคาร์นัค (Karnak Temple) ที่เมืองลักซอร์ (Luxor)
เมื่อนักอียิปต์วิทยาค้นพบว่าหินเหล่านี้แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเพียงแค่วัสดุก่อสร้าง
ทว่าเป็นการนำเอา 'ศิลาจารึก' จากยุคก่อนหน้ามา 'ใช้ซ้ำ' แถมยังมีอักษรภาพ
ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนด้วย และเมื่อนำเอาชิ้นส่วนของแผ่นศิลามาประกอบกันก็พบ
ว่าศิลาแผ่นนี้มีข้อความจารึกอยู่ทั้งสองด้าน รวมทั้งสิ้นประมาณ 40 บรรทัด
ข้อความด้านหน้าเคยลงสีน้ำเงินและสีแดงเอาไว้ ทว่าข้อความบนแผ่นจารึกด้านหลังกลับไม่เคยถูกลงสีมาก่อน
นักอียิปต์วิทยาจึงเริ่มแปลความหมายบนศิลาแผ่นนี้และก็ได้พบกับข้อความที่บอก
เป็นนัยว่าในสมัยของฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 อียิปต์โบราณเคยเผชิญหน้ากับ 'พายุฝน'
ครั้งใหญ่มาก่อน นักอียิปต์วิทยาจึงตั้งชื่อศิลาจารึกแผ่นนี้ว่า 'ศิลาพายุ'
(Tempest Stela) แต่คำถามต่อมาที่นักอียิปต์วิทยาให้ความสนใจก็คือ
เหตุการณ์พายุใหญ่ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นจะมาจากสาเหตุใดกันแน่ และคำถามที่
น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พายุฝนที่ว่านี้เคยเกิดขึ้นในอียิปต์โบราณมาก่อนจริง ๆ
น่ะหรือ !?
เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพภูมิอากาศของประเทศอียิปต์ในทุกวันนี้ รวมไปถึงใน
สมัยโบราณด้วยนั้นไม่ค่อยมีฝนตกมากนัก โอกาสที่จะเจอพายุก็คงจะหนีไม่พ้นพายุทรายเป็นแน่แท้ แต่ข้อความบนแผ่น 'ศิลาพายุ' กลับพูดถึง 'ฝน' เอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้น้อยครั้งในอียิปต์ปัจจุบันรวมถึงอียิปต์โบราณ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี 'ฝน' ในไอยคุปต์เสียเลยทีเดียว
เพราะชาวอียิปต์โบราณมีคำศัพท์และอักษรภาพที่แปลว่า 'ฝน' รวมถึงเทพเจ้า 'มิน' (Min) ซึ่งเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ก็มีความเกี่ยวข้องกับสายฟ้า (Thunder) และฝนด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องเคยมี 'ฝน' ในอียิปต์โบราณแน่ ๆ เพียงแต่ว่า
'พายุฝน' ที่ตกแบบไม่ลืมหูลืมตาดังเช่นที่ฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 จารึกเอาไว้นี้
จะเคยเกิดขึ้นจริงแท้แค่ไหนกัน?
สมมติฐานของนักอียิปต์วิทยาแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน โดยที่สมมติฐาน
แรกคือฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าเคยมี 'พายุฝน' เกิดขึ้นในอียิปต์โบราณจริง ๆ
นักอียิปต์วิทยากลุ่มนี้เสนอว่าปกติแล้วข้อความที่ฟาโรห์จารึกเอาไว้มักจะเป็น
'โฆษณาชวนเชื่อ' (Propaganda) ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถขององค์ฟาโรห์
ในการนำพาความสงบสุขกลับมายังอียิปต์ และด้วยว่าฟาโรห์อาห์โมสที่ 1
เป็นฟาโรห์องค์แรกของราชอาณาจักรใหม่ที่เพิ่งเอาชนะชาวต่างชาติหรือชนเผ่า
'ฮิคซอส' (Hyksos) ที่เข้ามายึดครองอียิปต์โบราณทางตอนเหนือได้หมาด ๆ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่พระองค์จะเปรียบเทียบการบุกเข้ามาของพวกฮิคซอสเข้ากับ
'พายุใหญ่' ที่ทำลายอียิปต์โบราณจนเสียหาย และฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 ก็คือผู้ที่กอบกู้อียิปต์โบราณให้กลับขึ้นมาผงาดได้อีกครั้ง
ย่อหน้าสุดท้ายของข้อความจาก 'ศิลาพายุ' จารึกเอาไว้ว่าฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 ได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ ที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพดั้งเดิมได้
อีกครา ซึ่งถ้าจะมองจากมุมของนักอียิปต์วิทยาก็มีความเป็นไปได้ว่าข้อความของ
พายุนั้นอาจจะเป็นเพียงอุปมาเพื่อเปรียบเปรยว่าพระองค์ได้ปลดแอกอียิปต์โบราณ
จากฮิคซอสและนำพาความรุ่งเรืองกลับมาสู่ดินแดนของพระองค์ได้อีกคำรบ
แต่ถึงอย่างนั้นนักอียิปต์วิทยาอีกหลายท่านยังไม่เห็นด้วย พวกเขาเสนอว่านี่ไม่ใช่
เพียงแค่การอุปมาหายนะเข้ากับความตกต่ำของอียิปต์ในช่วงที่ต้องตกอยู่ภายใต้
การปกครองของชาวฮิคซอส ทว่านี่คือ 'รายงานสภาพอากาศ' ที่เคยเกิดขึ้นจริง ๆ
ในอดีต และถ้าทฤษฎีนี้ถูกต้อง มันก็จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ
ฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 ไปด้วยเช่นกัน
สิ่งที่นักอียิปต์วิทยาผู้สนับสนุนว่า 'ศิลาพายุ' คือเหตุการณ์จริงเสนอว่า พายุฝนที่
พัดโหมกระหน่ำแบบไม่ลืมหูลืมตานี้คือผลพวงที่ตามมาจากเหตุการณ์
'ภูเขาไฟธีราระเบิด' (Thera Eruption) บริเวณเกาะซานโตรีนี (Santorini)
ประเทศกรีซ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือถ้าอ้างอิงจากประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณที่นักอียิปต์วิทยากระแสหลักใช้อ้างอิง เรายอมรับกันว่าฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 ขึ้นปกครองอียิปต์โบราณและ
สถาปนาราชอาณาจักรใหม่ขึ้นในช่วงประมาณ 1,550 ปีก่อนคริสตกาล
ทว่าเมื่อปี ค.ศ. 2006 ผลจากการตรวจสอบหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสี
(C-14) จากต้นมะกอกที่ถูกฝังอยู่ใต้เถ้าภูเขาไฟธีราพบว่าหายนะในครั้งนั้นได้เกิด
ขึ้นในช่วงประมาณ 1,621 ถึง 1,605 ปีก่อนคริสตกาล นั่นย่อมหมายความว่า
ถ้าหาก 'ศิลาพายุ' คือรายงานสภาพอากาศแปรปรวนอันเป็นผลมาจากภูเขาไฟ
ธีราระเบิดเมื่อราว 1,605 ปีก่อนคริสตกาลจริง ๆ
ฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 ก็จะไม่ได้ขึ้นครองราชย์ในช่วง 1,550 ปีก่อนคริสตกาลอีกต่อไปแล้ว ทว่าพระองค์ได้สถาปนาราชอาณาจักรใหม่ขึ้นมาเร็วกว่าที่นักอียิปต์วิทยากระ
แสหลักยอมรับกันในปัจจุบันถึงราว 50 ปีเลยทีเดียว
แน่นอนว่าสิ่งที่เสนอไปทั้งหมดเป็นเพียงแค่ทฤษฎีที่นักโบราณคดีและนักอียิปต์
วิทยานำมาเสนอ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อยว่าอียิปต์โบราณในช่วงราว 1,605 ปีก่อนคริสตกาลจะเคยเผชิญหน้ากับหายนะจากพายุใหญ่อันเป็นผลมาจากการระเบิดของภูเขาไฟธีราจริง ๆ
และถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริง นักโบราณคดีจะไขข้อข้องใจของความพิศวงที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ตะวันออกใกล้โบราณ (Ancient Near East) ในช่วงนั้นได้อีกไม่น้อย เช่นว่าบางทีสาเหตุที่ทำให้ฟาโรห์อาห์โมสที่ 1
สามารถยกทัพขึ้นไปตีพวกฮิคซอสได้สำเร็จ ในขณะที่เหล่าฟาโรห์ก่อนหน้าพระองค์
ไม่สามารถทำได้นั้นอาจจะมีผลมาจากภูเขาไฟธีราระเบิดจนเกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าทำลายท่าเรือของพวกฮิคซอสที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือจนทำให้กองเรือของพวกเขาอ่อน
แอลง และนั่นจึงทำให้กองทัพของฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 มีชัยเหนือผู้บุกรุกจากต่างถิ่น
ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน เขม่าควันจากการระเบิดก็อาจจะทำให้พืชผลทางการเกษตรและ
เส้นทางการค้าของชาวบาบิโลเนียนโบราณ (Babylonian) เสียหาย
สุดท้ายอาณาจักรบาบิโลเนียในยุคราชวงศ์แรก (First Babylonian Dynasty)
จึงถูกชาวฮิตไทต์ (Hittite) บุกเข้าปล้นทำลายในช่วงราว 1,595 ปีก่อนคริสตกาลจนต้องถึงกาลล่มสลายลงไปในที่สุด
นอกจากสองทฤษฎีนี้แล้ว ยังมีนักวิชาการบางกลุ่มนำเอาเหตุการณ์ 'ความมืด' ที่เกิดขึ้นจากพายุที่บันดาลจากความพิโรธของเทพเจ้าที่สลักไว้บนแผ่น 'ศิลาพายุ'
เข้าไปเชื่อมโยงกับ 'ภัยพิบัติลำดับที่ 9' ในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมที่
กล่าวถึงความมืดที่เขามาปกคลุมอาณาจักรอียิปต์ด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนเพิ่มเติมว่าเหตุการณ์ 'ท้องฟ้ามืดมิด' นี้จะส่งผลไปถึง
พระคัมภีร์ไบเบิลจริงแท้แค่ไหน
'ศิลาพายุ' ของฟาโรห์อาห์โมสที่ 1 จึงเป็นหลักฐานทางโบราณคดีของ
'รายงานสภาพอากาศ' ฉบับแรก ๆ ของโลก และถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง
ศิลาแผ่นนี้จะทำให้ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรใหม่เลื่อนขึ้นมาอีกราว 50 ปี
แถมยังช่วยตอบข้อสงสัยที่เกิดขึ้นกับเหล่าอารยธรรมตะวันออกใกล้โบราณได้ด้วย
เช่นกัน
เรื่อง : ณัฐพล เดชขจร
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
โฆษณา