29 ก.ค. 2020 เวลา 13:37 • ข่าว
TALKING OF THAILAND : แผนการที่จะยกเลิกการซื้อขายทองคำด้วยเงินบาทของธนากลางแห่งประเทศไทย อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงโดยไม่ทำให้สหรัฐฯ ขุ่นเคืองใจ ขณะที่รัฐบาลประกาศขยายระยะเวลาของมาตรการฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 4 เพื่อยับยั้งการระบาดของ COVID-19
ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ฺBank of Thailand) ได้วางแผนการที่จะตัดขาดการเชื่อมโยงระหว่างการใช้เงินบาทซื้อขายทองคำ ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่จะจำกัดการแข็งตัวในระยะยาวของค่าเงินบาทโดยไม่ทำให้สหรัฐฯ เกิดความขุ่นเคืองใจในเรื่องของการปั่นค่าเงิน
1
ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยกล่าวว่าพวกเขา "กำลังพูดคุยกับผู้มีส่วนร่วมภายในตลาด" เกี่ยวกับการเปลี่ยนไปใช้เงินดอลลาร์เพื่อซื้อขายทองคำ ซึ่งรวมถึงการซื้อขายในตลาด Futures โดยแผนการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการแข็งตัวของค่าเงินบาท
อนึ่ง ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และร้องเรียนมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับการแข็งตัวของค่าเงินบาทซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ส่งออกภายในประเทศ
ปัจจุบันเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งตัวขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีมานี้ แม้ว่าการระบาดจะยังรุนแรงขึ้นในกลุ่มประเทศใหญ่ ๆ ของโลก และยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ความร้อนระอุที่เกิดขึ้นในตลาดทองคำ ได้มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การทรุดตัวลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และการพุ่งขึ้นของเจ้าแท่งโลหะสีเหลืองนี้ ก็ได้ทำให้คนไทยหลายคนตัดสินใจลดการถือครองทองคำลง และแห่ไปเทขายมากขึ้น
แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ก็จะส่งผลต่อให้ร้านค้าในภาคท้องถิ่นจำเป็นต้องนำทองคำออกไปขายต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถระบายสินค้าภายในประเทศได้ ขณะที่การแลกเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ถือเป็นอีก 1 ปัจจัยที่ช่วยในการฟื้นตัวของค่าเงินบาท
อ้างอิงจากตัวชี้วัดของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements, BIS) ซึ่งระบุเอาไว้ว่า
อัตราแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate, REER)* ของค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 111.4 เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) 10 ปีที่ระดับ 103.7 ทำให้ตีความหมายได้ว่าค่าเงินบาทกำลังอยู่ในสถานะ "Overvalued" หรือมีมูลค่าสูงกว่าที่ควรจะเป็น
* การประเมินความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของค่าเงินบาทในตลาดโลกนั้นจำเป็นต้องใช้มาตรตราวัดที่ละเอียดรอบคอบ ซึ่งต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยดังต่อไปนี้
ก. ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลเงิน ๆ ของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง (ไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว)
ข. สัดส่วนและน้ำหนักตามขนาดและลำดับความสำคัญของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง
ค. ต้นทุนการผลิตและระดับราคาเฉลี่ยของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง
ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (BoT) จึงได้จัดทำดัชนีค่าเงินบาทที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) ซึ่งครอบคลุมปัจจัย ก และ ข เพราะดัชนีดังกล่าวคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับสกุลเงินของประเทศต่าง ๆ อีก 21 ประเทศ ซึ่งเป็นคู่ค้าและคู่แข่งคนสำคัญของประเทศไทย
ดัชนี NEER จะให้น้ำหนักตามความสำคัญทางด้านการค้าของแต่ละประเทศ ซึ่งในกรณนีที่ NEER มีค่าสูงจะหมายถึงการที่เงินบาทกำลังแข็งค่าเมื่อเทียบกับทั้ง 21 สกุลเงินหลัก ๆ (ย้ำว่ามิได้เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว)
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันของค่าเงินบาทนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตและระดับราคาเฉลี่ยของไทยเอง ซึ่งเมื่อใดที่ราคาสินค้าของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง เมื่อนั้นเงินบาทก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลง
BoT จึงได้ขัดเกลาดัชนี NEER ให้มีความละเอียดมากขึ้นเป็นดัชนี Real Effective Exchange Rate (REER) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งปัจจัย ก ข และ ค ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยดัชนี REER อธิบายให้เข้าใจคร่าว ๆ ก็คือการปรับปรุงแต่ละองค์ประกอบของ NEER ด้วยการชดเชยหรือหักลบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ
สรุปก็คือดัชนี REER จะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถที่แท้จริงในการแข่งขันของค่าเงินบาทนั้นเอง
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ของโลก แต่เราก็เป็นถึงผู้ส่งออกทองคำที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 9 ของโลก โดยยอดขายทองคำต่อปีของประเทศไทยคิดเป็นเงินถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5-7% ของขนาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทย (Thai's foreign-exchange market)
(อ้างอิงจาก SCB Securities Co.)
ปัจจุบัน BoT กำลังจับตาดูผลกระทบจากการซื้อขายทองคำด้วยเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจและนโยบายของ BoT กล่าวว่า
"ไม่ใช่แค่การส่งออกทองคำที่สร้างความกดดันให้กับเงินบาท แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ของเงินในการใช้ซื้อขายทองคำอีกด้วย"
นอกจากนี้ ดร.ดอน ยังได้โชว์ข้อมูลการเกินดุลการค้าถึง 64 ล้านดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ขาดดุลอยู่ 595 ล้านดอลลาร์ในทุก ๆ ปี
"ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยได้จับตาดูความเคลื่อนไหวในการแข็งตัวของค่าเงินบาท เนื่องจากถ้าเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ มันอาจกลายเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ"
"เศรษฐกิจอาจกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 หลังจากผ่านจุดต่ำสุด โดยคาดว่า GDP จะหดตัวเป็นจำนวนตัวเลข 2 หลัก (ตั้งแต่ 10% ขึ้นไป) ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns"
เมื่อไม่นานมานี้ UBS Group AG และ ING Groep N.V. ซึ่งเป็น 2 บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินในระดับโลกได้กล่าวเตือนว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในความเสี่ยงซึ่งจะถูกเพิ่มเข้าในบัญชีเฝ้าระวังของสหรัฐฯ ในเรื่องของการปั่นค่าเงิน หลังจากประเทศไทยได้มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์การเฝ้าระวังของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นกังวลใจ เนื่องจากธนาคารได้ชี้แจงถึงแนวทางของนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยจะปรับใช้ให้สหรัฐฯ ทราบแล้วในก่อนหน้านี้ และมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสกุลเงินเพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดทุนของธนาคารกสิกร กล่าวว่า
"ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงใช้การบริหารแบบดั้งเดิมคืออัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เราก็น่าจะถูกเพิ่มลงในรายชื่อเฝ้าระวังของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สำหรับโอกาสในการปั่นค่าเงิน แต่การที่ธนาคารกลางไม่ทำอะไรเลยก็จะเท่ากับว่าปล่อยให้เงินบาทสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับสกุลเงินอื่น ๆ"
"อนึ่ง ไม่ว่าแผนการยกเลิกการซื้อขายทองคำด้วยเงินบาทจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ว่าการคนต่อไปของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะตัดสินใจทดลองใช้มาตรการทางการเงินที่ไม่ใช่แบบแผนเดิม"
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทยคนใหม่แทน วิรไท สันติประภพ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคมปีนี้ และจะนั่งอยู่ในตำแหน่งเป็นระยะเวลา 5 ปี
ขณะเดียวกัน จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทยกล่าวว่า พวกเขาก็กำลังศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับแผนการใช้ดอลลาร์ซื้อทองคำแทนเงินบาท และกำลังหาแนวทางอยู่ว่าจะปรับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง
ภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย แม้ว่าภาคการส่งออกอื่น ๆ จะอ่อนแอก็ตาม
รศ.ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้านักเศรษฐศาตร์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัดมหาชนกล่าวว่า
"การเปลี่ยนแปลงกฎหมายน่าจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาท แต่โดยรวมแล้วเงินบาทจะยังแข็งค่าขึ้นในระยะยาว แม้ว่าเศรษฐกิจในภาค Real Sectors ของประเทศไทยกำลังอ่อนแอ" เขากล่าวโดยการอ้างถึงทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่เหลือเฟือและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในปัจจุบัน
"เงินจากจะแข็งค่าสู่ระดับ 30.75 บาท/ดอลลาร์ภายในปีนี้ และจะแข็งถึง 30 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2021" รศ.ดร. สมประวิณ มันประเสริฐกล่าว
ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนอยู่ที่ระดับ 31.452 บาท/ดอลลาร์แล้ว จากข้อมูลของ Bloomberg
Comment : ตามมุมมองของ World Maker เรื่องนี้คงต้องวิเคราะห์กันลึกหน่อย เพราะการสั่งห้ามไม่ให้ใช้เงินบาทซื้อขายทองคำภายในประเทศ และเปลี่ยนไปใช้ดอลลาร์แทนเนี่ย หมายความว่าเวลาประชาชนจะซื้อหรือขายทองคำ คุณจะต้องนำเงินไปแลกเป็นดอลลาร์ก่อนแล้วค่อยไปซื้อ
หรือไม่ก็คือการนำทองคำไปขายแล้วได้เป็นเงินดอลลาร์กลับมา ถ้าอยากเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันก็ต้องนำไปแลกกลับเป็นเงินบาทอีกทีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามันจะยุ่งยากขึ้น โดยเฉพาะถ้าร้านทองไม่มีมาตรการรับแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์เอง
ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้จะเป็นการบังคับเพิ่ม Demand ของเงินดอลลาร์ภายในประเทศไทยนั่นเอง
หากมองในระยะสั้น นี่อาจเป็นผลดีต่อค่าเงินบาทตามที่ธนาคารได้กล่าวอ้าง แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ การเพิ่ม Demand ของเงินดอลลาร์ภายในประเทศเช่นนี้ก็เปรียบเสมือนการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์ให้มากขึ้น และคำถามก็คือ
"เราสามารถไว้ใจเงินดอลลาร์ได้มากน้อยเพียงใด ในแนวโน้มของโลกปัจจุบันที่ดอลลาร์กำลังจะสูญเสียอำนาจลง"
นี่อาจเป็นปัญหาที่ BoT จะออกคิดให้ได้ในช่วง 5-10 ปีถัดไป ซึ่ง World Maker มองว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงอย่างมาก และการเพิ่มข้อผูกพันระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ แท้จริงแล้วอาจกลายเป็นผลกระทบที่ใหญ่หลวงกว่าการผูกติดค่าเงินบาทไว้กับทองคำเสียอีก
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยได้ประกาศขยายระยะเวลาของมาตรการฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนเป็นครั้งที่ 4 แล้วโดยจะหมดอายุในวันที่ 31 สิงหาคม 2020 โดยโฆษกของรัฐบาลให้เหตุผลถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่า "ต้องการให้ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ Coronavirus น้อยที่สุดในเอเชีย"
จุดเด่นของประเทศไทยก็คือ เราไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแพร่ระบาดภายในท้องถิ่นมานาน 2 เดือนแล้ว ซึ่งโดยรวมทั้งประเทศมีการรายงานผู้ติดเชื้อ 3,298 คน และผู้เสียชีวิต 58 คนจากไวรัส
อนึ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยกล่าวว่าพวกเขายังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการระบาดซึ่งอาจเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น เวียดนาม และเมืองฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจารณ์ฝ่ายค้านกล่าวว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการขยายระยะเวลาออกไปก็เพราะต้องการยับยั้งไม่ให้มีการประท้วงขับไล่รัฐบาล ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกล่าวว่าประเด็นนั้นไม่ได้เป็นปัญหาของพวกเขา
ขณะเดียวกัน ผู้คนหลายพันคน ซึ่งจำนวนมากเป็นกลุ่มนักศึกษาได้มีการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ อีกเล็กน้อยเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และยุบสภา
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่พึ่งพาธุรกิจด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งธนาคารกลางคาดว่า GDP จะหดตัวถึง 8.1% ตลอดทั้งปี 2020 ขณะที่พวกเขาไม่ได้รายงานนักท่องเที่ยวรายใหม่ซึ่งเดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
ตามรายงานของ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกของรัฐบาล ระบุว่า
"ในความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติออกกฏหมายเพื่อผ่อนคลายการปิดกั้นชายแดน"
แผนการครั้งนี้เรียกร้องให้มีการอนุญาติเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า รวมถึงทีมงานภาพยนตร์ต่างประเทศ และแรงงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชา และลาวอีกมากกว่า 100,000 คน
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
อยากลงทุน อยากมีเงินเก็บอย่างจริงจัง แต่ไม่มีพื้นฐาน World Maker มีคอร์สเรียนดี ๆ มาแนะนำให้ครับ รายละเอียดคลิกเลย
References :
4. รายงานการวิจัยเรื่อง "แนวทางการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย" โดย มูลนิธิสถานบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หน้าที่ 53 และ 54

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา