29 ก.ค. 2020 เวลา 21:52 • ปรัชญา
“ปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓
การฟังธรรมจึงเป็นกุญแจดอกแรกของการเข้าสู่มรรคผลนิพพาน ผู้ที่ปรารถนามรรคผลนิพพานทุกท่านทุกคนไม่ว่าจะเป็นฆราวาส ไม่ว่าจะเป็นนักบวช จำเป็นต้องมีการศึกษาธรรมก่อน เมื่อได้ศึกษาแล้วถึงนำเอาไปปฏิบัติต่อไปได้อย่างถูกต้อง เมื่อปฏิบัติถูกต้อง ผลก็จะปรากฏตามมา ผลเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุคือการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะไม่ได้ผลที่ต้องการ เหมือนเคยเล่านิทานเรื่องฝรั่งชอบกินข้าวผัด ก็อยากจะไปทำข้าวผัดกินเองบ้าง ก็รู้ว่าต้องมีข้าวมีเนื้อมีผักมีอะไร ก็ไปซื้อมาแล้วก็ไปทำ แต่ไม่รู้ขั้นตอนของวิธีทำที่ถูกต้องว่าทำอย่างไร พี่ก็เลยผัดข้าวสารไปเลย แทนที่จะหุงข้าวให้ได้ข้าวสุกก่อนแล้วค่อยมาผัด พี่ก็ไม่รู้นี่ ก็เห็นมีข้าวก็ใส่ข้าวไปในกระทะ ใส่น้ำมันเข้าไป ใส่เนื้อใส่ผักแล้วก็ผัดมันเข้าไป ผัดยังไงมันก็ไม่ได้เป็นข้าวผัดเหมือนกับที่ได้ไปซื้อมาจากที่ร้าน เพราะการกระทำมันไม่ถูกต้อง ผลมันก็เลยไม่เกิด ถ้าไปถามกุ๊กสักหน่อยว่าเขาผัดข้าวผัดกันอย่างไร ขั้นตอนทำอย่างไร จะได้รู้ว่าต้องเอาข้าวสารนี้ไปหุงก่อนให้มันเป็นข้าวสุกก่อนแล้วถึงค่อยมาผัดต่อไป ถึงจะได้ผล ถึงจะได้ข้าวผัดที่น่ารับประทาน อันนี้ก็เหมือนกัน
ธรรมของพระพุทธเจ้านี้ก็มีขั้นมีตอนของเขา ที่เราจะต้องรู้ขั้นตอน ไม่ใช่นึกอยากจะทำขั้นไหนก็ทำเลย ทุกคนใจร้อนอยากได้บุญเยอะๆ ถามทำบุญที่ไหนได้เยอะ บอกว่าวิปัสสนา โอ๊ย เอาเลยทีนี้ นี่ไปเล่นวิปัสสนาเลยทั้งๆ ที่ไม่มีกำลังที่จะไปใช้วิปัสสนาได้ เพราะวิปัสสนานี้มันเป็นธรรมขั้นสูงสุด และจะขึ้นไปสูงสุดได้ก็ต้องขึ้นขั้นบันไดไปตามขั้นของมัน เหมือนเด็กเข้าอนุบาล ก็อยากทำยังไงจะได้จบปริญญาเอกเร็วๆ ไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเลยได้หรือเปล่า ไปเรียนวิชาปริญญาเอกเลยได้หรือเปล่า เขาก็ไม่รับหรอก เพราะว่าต้องผ่านขั้นตอน เรียนอนุบาลก่อนแล้วก็ไปเรียนชั้นประถม จบชั้นประถมก็ไปขึ้นชั้นมัธยม จากมัธยมก็ไปขั้นปริญญาตรี ปริญญาโท แล้วถึงจะไปปริญญาเอก การปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน มีเป็นขั้นๆ ขั้นบุญน้อยไปสู่ขั้นบุญมาก ทำไมถึงต้องทำขั้นบุญน้อยก่อน เพราะมันง่ายกว่าขั้นบุญมากนั่นเอง
บุญยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งยาก ไม่ใช่ว่ามันจะทำได้ ต้องเพิ่มกำลังขึ้นไป เหมือนนักวิ่งมาราธอนนี้ไม่ใช่อยู่ๆ เขาจะไปสมัครวิ่งมาราธอนเลย เขาก็ต้องหัดวิ่งก่อน เอาวันละกิโลก่อน แล้วก็หัดเพิ่มเป็น ๒ กิโล ๓ กิโล เพิ่มกำลังให้มีมากขึ้นไปตามลำดับ พยายามฝึกไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เพิ่มไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้เองมาราธอน ๔๐ กว่ากิโล แต่พอวันเริ่มแรกจะวิ่งกะเขาก็ไปสมัครวิ่งมาราธอนเลย วิ่งไปได้ไม่ถึงครึ่งกิโลก็หอบแล้ว กำลังไม่มี ดังนั้นผู้ที่เริ่มปฏิบัตินี้ต้องตรวจสอบกำลังของตนก่อนว่ามีหรือไม่มี ไม่มีก็ต้องเลื่อนระดับลงมาในขั้นที่ง่ายกว่า ถ้าไม่อยากจะเสียเวลาก็ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน คือเอาจากขั้นต่ำสุดไปก่อน ถ้าเราผ่านขั้นต่ำได้ไม่ยาก เราก็เลื่อนขึ้นไปขั้นที่สูงกว่าขึ้นไปตามลำดับได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่จะพาให้เราไปสู่การหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด สู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน สู่ขั้นพระอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์ ก็ต้องมีการปฏิบัติเริ่มจากขั้นที่ ๑ ไปสู่ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ตามลำดับไป
ขั้นที่ ๑ ของการปฏิบัติก็คือขั้นทาน ขั้นทานเพราะว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ก่อน ทำทานได้หรือยัง ถึงค่อยไปทำขั้นที่ ๒ คือขั้นรักษาศีล จากขั้นที่ ๒ ก็ไปขั้นที่ ๓ คือขั้นสมาธิ จากขั้นสมาธิก็ค่อยไปถึงขั้นปัญญา ขั้นวิปัสสนาต่อไป แล้วถึงจะได้บรรลุธรรมขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ ไปตามลำดับ และในธรรมแต่ละขั้นก็มีหลายแบบด้วยกัน เช่นขั้นที่ ๑ การทำทาน เราต้องเข้าใจคำว่าทานก่อนว่าแปลว่าอะไร ทานแปลว่าการให้ การให้สิ่งที่เรามีแก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ให้ไม่ใช่ให้แล้วให้เกิดโทษกับผู้อื่น ถ้าให้แล้วเกิดโทษนี้เรียกว่าบาป ไม่ใช่บุญ ไม่ใช่ทาน ให้ความเจ็บช้ำน้ำใจ ให้การเจ็บร่างกาย ให้การทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการให้ทานที่เป็นบบุญ การให้ทานที่เป็นบุญนี้ต้องให้ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ให้ในสิ่งที่เขายินดีเขาอยากได้ ได้แล้วเขามีความสุขจากการให้ของเรา
ทานนี้ก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้เงินทองข้าวของอย่างเดียว เพราะบางคนก็อาจจะไม่ร่ำรวยไม่มีฐานะที่จะให้ข้าวของเงินทองได้ ก็ให้สิ่งอื่นที่มีได้ ทานจึงมีแบ่งไว้อยู่ถึง ๔ – ๕ ชนิดด้วยกัน ชนิดที่ ๑ เรียกว่า “วัตถุทาน” วัตถุคือข้าวของต่างๆ ที่เป็นวัตถุ เงินทองอย่างนี้ เงินทองนี้สามารถเอาไปแปลงเป็นวัตถุได้ เอาไปซื้อวัสดุก่อสร้าง สร้างกุฏิ สร้างศาลา สร้างอะไรได้ แต่จะให้วัสดุก่อสร้างก็ได้ถ้าวัดไหนเขามีการก่อสร้าง บางวัดเขาก็บอกขอกระเบื้อง ก็ถวายกระเบื้องไป ถ้าไม่สะดวกไปซื้อกระเบื้องก็ให้เงิน ให้เขาไปซื้อกันเองก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าวัตถุทาน แล้วสถานที่จะทำทานอันนี้ก็มีหลากหลายสถานที่ด้วยกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องทำกับที่วัดอย่างเดียว การให้นี้ให้วัตถุให้ข้าวของเงินทองนี้ ให้ได้กับทุกท่านที่เดือดร้อนที่ต้องการความช่วยเหลือ เบื้องต้นท่านก็สอนว่าให้กับคนที่บ้านก่อน เช่น บิดามารดา ปู่ย่าตายาย บุคคลที่มีพระคุณกับเรา ถ้าท่านขาดแคลนท่านเดือดร้อน เราต้องดูแลท่านก่อน ไม่ใช่ออกไปทำบุญนอกบ้านไปสร้างวัดซะสวย แต่ปล่อยให้บิดามารดาอยู่แบบขอทานอดๆ อยากๆ อย่างนี้ก็ทำผิดขั้นตอน ควรจะดูคนที่ใกล้ชิดเราก่อน โดยเฉพาะคนที่มีพระคุณ เพราะถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณ เป็นความกตัญญูกตเวที เป็นสัญลักษณ์ของคนดี
คนมีความกตัญญูกตเวทีนี้เหมือนกับสินค้าที่ได้รับรองจากองค์กรอุตสาหกรรม ว่าสินค้านี้ดีใช้ได้มีคุณภาพสูง ความกตัญญูก็เป็นเหมือนกับการรับรองของศาสนา ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าการที่เราจะดูคนดี ดูอย่างไร ดูว่าเขามีความกตัญญูกตเวทีหรือเปล่า เขาเลี้ยงดูบิดามารดาปู่ย่าตายายครูบาอาจารย์ของเขาดีหรือเปล่า หรือเขาปล่อยปละละเลย มัวไปเลี้ยงดูแลแฟนดูแลคนนั้นคนนี้ แต่ไม่ดูแลบิดามารดาปู่ย่าตายายครูบาอาจารย์ นี่คือการทำบุญทำทานนี้ ทำได้หลากหลาย กับบุคคลหลากหลายด้วยกัน ถ้าไม่ฟังธรรม เราอาจจะคิดว่าทำได้กับวัดอย่างเดียว บางคนบอกว่าทำกับวัดถึงได้บุญ ทำกับคนอื่นเป็นทานไม่ได้บุญ อันนี้ได้บุญทั้ง ๒ ที่ ทำกับวัดก็ได้บุญ ทำกับผู้อื่นก็ได้บุญ เพราะบุญเป็นผลที่เกิดจากการทำทาน การทำทานแปลว่าการให้ ให้ใครก็ได้ ให้บิดามารดาให้ปู่ย่าตายาย ให้ความสุข ให้ประโยชน์ ให้กับวัดกับครูบาอาจารย์ กับพระสงฆ์องค์เจ้า ให้กับครูที่เคยเป็นอาจารย์เราศึกษาที่สถาบันการศึกษาที่เราเคยเรียน ประสาทวิชาความรู้ให้กับเรา ทำให้เรามีปริญญามีความรู้ที่จะไปสมัครงานได้ มีรายได้ มีรายได้แล้วก็ควรที่จะตอบแทนบุคคลผู้ที่มีพระคุณ คิดถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านอุตส่าห์สั่งสอนเราให้ความรู้กับเรา
ดังนั้นการทำบุญทำทานนี้ทำได้กับทุกบุคคลที่ขาดแคลน ที่ตกทุกข์ได้ยากที่เดือดร้อน หรือถึงแม้ว่าเขาไม่ขาดแคลนตกทุกข์ได้ยาก ก็ทำได้เหมือนกันในกรณีที่เราอยากจะแสดงน้ำใจ อยากจะมีความสุข เช่น วันเกิดของคนที่เขารวยกว่าเรา เราก็ยังไปซื้อของขวัญให้เขาได้ เพราะเราก็อยากจะให้เขามีความสุขจากของเล็กๆ น้อยๆ ของเรา บางทีเขาก็ไม่ได้มองที่ข้าวของหรอก เขามองที่น้ำใจว่า เออ เขามีน้ำใจนะ ถึงแม้เขาจะยากจนแต่เขาก็ยังมีน้ำใจที่จะซื้อข้าวซื้อของมาให้เรา ก็ทำให้เขานี้รักเราชอบเรา ทำให้เรามีความสุข มีคนรักเรานี้กับมีคนเกลียดเรานี้ อย่างไหนดีกว่ากัน มีคนรักเรานี้ดีกว่า เห็นเขาแล้วเขายิ้มแย้มแจ่มใส เขาพูดดีกับเรา กับเจอคนที่เขาไม่ชอบเรา พูดไม่ดีกับเรา อย่างไหนดีกว่ากัน การทำทานนี้ทำได้หลายสาเหตุด้วยกัน ทำด้วยการตอบแทนพระคุณ ความกตัญญูกตเวที ทำเพื่อชนะใจของผู้อื่น คนที่เขาไม่ชอบเราลองให้ของเขาบ่อยๆ เดี๋ยวเขาก็ชอบเราเองแหละ ยิ่งถ้าไปรู้ว่าเขาชอบอะไรนี้ ซื้อให้เขาหาให้เขา เดี๋ยวเขาก็ชอบเราเอง เป็นการชนะใจ มีเพื่อนดีกว่ามีศัตรูนะ มีเพื่อนแล้วเวลาเราทุกข์ยากเดือดร้อนเขาอาจจะมาช่วยเราได้ แต่เราก็ไม่ได้หวังหรอก เราหวังเพียงแต่ว่าให้เราได้ทำทาน เพราะทานนี้มันมีผลในตัวของมัน
เวลาเราทำทานไม่ว่าจะทำกับใครนี้ ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจคือไม่ได้หวังผลตอบแทนสิ่งตอบแทนจากบุคคลที่เราทำทานด้วย เพียงแต่ต้องการจะให้เขามีความสุขหรือให้เขาได้รับประโยชน์จากการทำทานของเรา มันก็จะทำให้เรามีความอิ่มเอิบใจ มีความสุขใจขึ้นมา ดีกว่าไปเสียเงินเสียทองไปเที่ยวที่นั่นเที่ยวที่นี่ ซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อ ที่ไม่จำเป็นจะต้องมี ความสุขที่ได้มาต่างกัน ความสุขที่ได้จากการให้ความสุขกับผู้อื่น ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นนี้มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจ มีความอิ่มเอิบใจมีความสุขใจ และทุกครั้งที่เราคิดถึงการกระทำเหล่านี้ ถึงแม้จะผ่านมานานแล้ว คิดถึงทีไรมันก็ทำให้เรามีความสุขใจ ไม่เหมือนกับการได้ความสุขจากการไปเที่ยวไปซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ เป็นความสุขเดี๋ยวเดียว เป็นความสุขที่แห้งความสุขที่หิว พอซื้อมาแล้วเดี๋ยวไม่กี่วันก็อยากจะซื้อใหม่อีกแล้ว ของเก่าไปดูยังไงก็ไม่มีความสุขเหมือนตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ ต้องไปซื้อใหม่มาอีก เป็นความสุขที่ทำให้หิวให้อยากเพิ่มขึ้น แต่ความสุขที่เกิดจากการทำทานนี้มันเป็นความสุขที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอิบใจ ทำให้เรานี่อยู่เฉยๆ ได้ ไม่ได้ไปเที่ยวก็ไม่เดือดร้อน ไม่ได้ไปช้อปปิ้งก็ไม่เดือดร้อน เพราะเรามีความอิ่มใจสุขใจจากการทำบุญทำทานของเรา
นี่คือการทำบุญ มีหลายเหตุด้วยกัน ทำเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ เรียกว่าความกตัญญูกตเวที ทำเพื่อชนะผู้อื่นคือทำด้วยความเมตตา สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข จะทำให้เขามีความสุข เราก็ต้องมีอะไรให้เขาหรือทำอะไรให้เขา พอให้เขาแล้วเขาก็เกิดความสุขขึ้นมา แล้วสิ่งที่เราจะให้นี้ก็มีหลายอย่างด้วยกัน ข้าวของเงินทองนี้ก็อย่างหนึ่ง ถ้าให้ข้าวของเงินทองเครื่องใช้ไม้สอยอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็เรียกว่าเป็นวัตถุทาน แต่ถ้าเราไม่มีฐานะไม่ร่ำไม่รวย ไม่มีเงินทองที่จะซื้อข้าวซื้อของให้คนนั้นคนนี้ได้ อยากจะทำบุญก็มีอย่างอื่นที่เราให้ได้ ลองดูว่าเรามีอะไรให้ได้ ถ้าเรามีวิชาความรู้ เช่น เราเรียนจบปริญญามา รู้วิชาภาษาอังกฤษ รู้วิชาคณิตศาสตร์ ถ้าเราอยากจะทำบุญด้วยวิชาก็ได้ สอนกวดวิชาให้กับเด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ให้เขาได้มีความรู้เพิ่มเติมเพื่อเวลาที่เขาไปสมัครสอบเอนทรานซ์เขาจะได้สอบได้ อันนี้เราก็เรียกว่า “วิทยาทาน” ให้วิชาความรู้ แล้วไม่จำเป็นจะต้องเป็นวิชาความรู้ที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย วิชาความรู้อย่างอื่นก็ให้ได้ เป็นแม่ครัวนี้ก็ให้ได้ สอนฝรั่งให้ผัดข้าวให้เป็นก็ได้ นี่ก็เป็นวิชาความรู้ เป็นคนที่เย็บปักถักร้อยได้ ตัดเสื้อผ้าได้ ซึ่งช่วงนี้ต้องการหน้ากากกัน ก็มาสอนวิธีเย็บหน้ากากกัน ทำหน้ากากกัน สอนให้คนที่เขาไม่รู้ เขารู้ เขาอยู่ว่างๆ เขาก็จะได้ไปทำหน้ากากแจกกัน อันนี้ก็เรียกว่าเป็นวิทยาทาน ทำแล้วก็มีความสุข เหมือนกับไปซื้อหน้ากากไปแจกให้คนอื่น เพราะว่าผลมันเหมือนกันคือความสุขใจอิ่มใจที่เหมือนกัน เกิดจากการให้ เกิดจากการเสียสละของเรา อีกวิธีหนึ่งก็คือถ้าเราไม่มีวิชาความรู้แต่เรามีเวลาว่าง มีร่างกายที่แข็งแรงก็ไปเป็นอาสาสมัครได้ ไปช่วยงานต่างๆ ไปช่วยมูลนิธิต่างๆ จิตอาสา มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู หรือไปช่วยงานวัดเวลาที่วัดมีงาน หรือที่โรงเรียนมีงาน ที่ไหนมีงานที่เขาต้องการคนไปช่วยเหลือ หรือเวลาไปช่วยบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เราไม่มีเงินซื้อข้าวซื้อของไปช่วยเขา แต่เราไปช่วยขนข้าวขนของแจกกัน เพราะนอกจากซื้อของแล้วก็ยังต้องขนของไปให้คนที่เขาเดือดร้อนเสียหาย ก็อาจจะไปช่วยในส่วนนี้ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการให้กำลังกายให้เวลา เรียกว่าเป็นการรับใช้สังคม เป็นจิตอาสา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นทานอย่างหนึ่ง เป็นการให้อย่างหนึ่ง
ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา