30 ก.ค. 2020 เวลา 01:54 • ประวัติศาสตร์
พระฉันเนื้อที่บริสุทธิ์
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สวนอัมพวัน ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ กรุงราชคฤห์ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ เมื่อถวายบังคมแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจง เพื่อสมณโคดม เมื่อพระองค์ทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม และพระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
ผู้ที่กล่าวเช่นนี้ จะได้ชื่อว่าไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริงละหรือ ?”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
“ดูก่อนชีวก ! ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่า กล่าวตรงกับเรากล่าวหามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เรา ด้วยคำอันไม่เป็นจริง
ดูก่อนชีวก ! เรากล่าวว่าเนื้อไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
- เนื้อที่ตนเห็น
- เนื้อที่ตนได้ยิน
- เนื้อที่ตนรังเกียจ
ดูก่อนชีวก ! เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ 3 คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน และเนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ...
ดูก่อนชีวก ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ที่ 2... ที่ 3... ที่ 4 อยู่ ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า โดยความมีตนทั่วไปในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ดูก่อนชีวก ! ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบปาบมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ 5 ประการคือ
1. ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
2. สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
3. ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
4. สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่า ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
5. ผู้นั้นย่อมยังตถาคต และสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อ ที่ไม่สมควรแก่สมณะชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
ดูก่อนชีวก ! ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบปาบมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ 5 ประการนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ...”
ขยายความ
พระสูตรนี้มักจะถูกบิดเบือน จากพระที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ โดยตัดคำว่า “เจาะจง” ออก แล้วก็กลายเป็นว่า พระพุทธเจ้าห้ามพระฉันเนื้อสัตว์โดยสิ้นเชิง โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
นับว่าเป็นนิมิตรดีของชาวพุทธไทยอยู่ข้อหนึ่ง ที่ผู้อ้างตัวว่าเป็นสาวกแท้ ของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ล้วนแต่ไม่รู้ภาษาบาลี และแปลบาลีไม่เป็น มิฉะนั้นคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า จะถูกแปลอย่างเลอะเทอะยิ่งกว่าปัจจุบัน
ความจริงในเรื่องพระกับเนื้อสัตว์นี้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย ผู้ที่ฉันเนื้อสัตว์ที่เขาเจาะจงและรู้อยู่ จะต้องอาบัติก็เพียง"ทุกกฏ"อันเป็นอาบัติหางแถวเท่านั้น
การที่พระฉันหรือไม่ฉันเนื้อสัตว์ มิได้เป็นเครื่องวัดว่าใครเคร่ง หรือดีกว่าแต่อย่างใด ถ้าผู้นั้นยังตามไปด้วยกิเลส ตัณหา มานะและทิฐิ
โดยความจริงแล้ว การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น มิได้อยู่ที่การกินอะไร แต่อยู่ที่การกินอะไรมากกว่า คือกินด้วย ตัณหา มานะ และทิฐิ หรือกินด้วยการพิจารณาถูกต้องตามหลัก “ตังขณิกปัจจเวกขณ์” หรือไม่ ?
เนื้อสัตว์ที่ควรแก่ภิกษุบริโภค ตามพุทธานุญาตนั้น หมายถึงเนื้อที่บริสุทธิ์ตามเงื่อนไข 3 ประการคือ
- เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น ว่าเขาฆ่าเพื่อทำอาหารมาถวายพระโดยตรง(คือนอกเหนือไปจากที่ชาวบ้านเขากินกันโดยปรกติ)
- เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน ว่าเขาพูดกันว่าจะฆ่าสัตว์ตัวนี้ เพื่อทำอาหารเอาไปถวายพระ
- เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ว่าเขาฆ่าเพื่อตนโดยเฉพาะ หรือเพียงแต่ระแวงสงสัย
แต่เป็นเนื้อที่ทำเป็นอาหาร ที่เขาบริโภคกันอยู่เป็นปรกติ แล้วแบ่งเอามาถวายพระ อย่างนี้พระฉันได้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ถ้าได้เห็น ได้ยินหรือเพียงแต่นึกรังเกียจ แล้วยังขืนฉันก็ต้องอาบัติทุกกฏ
ในเรื่องเนื้อสัตว์นี้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้เฉพาะพระเท่านั้น ชาวบ้านไม่เกี่ยว จะกินหรือไม่กินก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดหรือความดีอะไร ถ้าเนื้อนั้นเราไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า ก็ไม่เป็นบาปเป็นกรรมอะไรเลย
ที่พระพุทธองค์ทรงมีเงื่อนไข ในการฉันเนื้อสัตว์ของพระก็เพื่อให้พระทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ไม่เป็นภาระแก่สังคม เขากินอยู่กันอย่างไร ก็ทรงให้คล้อยตามแต่ไม่ถึงกับสนับสนุนให้ เขาฆ่าสัตว์ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ ที่เรียกว่า “เจาะจง” ก็ถือว่าใช้ได้.
โฆษณา