30 ก.ค. 2020 เวลา 22:36 • ปรัชญา
“กรรม”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
ทำใจให้เย็น ให้สงบ ให้สบาย ให้เป็นอุเบกขา ไม่ว่าอะไรจะมาสัมผัสมากระทบ จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใจได้เลย อย่างนี้แหละจึงจะวิเศษ ถ้ายังถูกกระทบอยู่ ควรพยายามแก้ไข อะไรที่ทำให้วุ่นวายใจ กังวลใจ ต้องแก้ให้ได้ แก้ด้วยปัญญา เพราะปัญหาเกิดจากการขาดปัญญา หรือความหลงนี่เอง มองไม่เห็นว่าสิ่งที่ไปหลงไปกังวล ก็เป็นแค่ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา คือ
๑. เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใคร ก็เหมือนกันทั้งนั้น เดี๋ยวก็ต้องแก่เจ็บตาย
๒. เป็นกรรม เขาไหลไปทางหนึ่ง แต่เราพยายามดึงให้ไหลไปอีกทางหนึ่ง ดึงอย่างไรก็ไม่ไปหรอก จะไหลไปตามทางของเขา เขาถนัดมือซ้าย เราอยากจะให้เขาใช้มือขวา ถ้าถูกบังคับจริงๆเขาก็อาจจะใช้มือขวา พอไม่มีใครบังคับ เขาก็จะกลับไปใช้มือซ้าย เขาชอบสีแดง เราจะให้เขาชอบสีเขียวได้อย่างไร
เรื่องของกรรมเป็นอย่างนี้ ต้องยอมรับ จะได้ไม่ทุกข์ ไม่เช่นนั้นก็จะทุกข์ เขาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่เราไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตา อนัตตาก็คือกรรมนี่แหละ การที่เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเหมือนอนัตตา เพราะเราไปควบคุมบังคับไม่ได้ อยากให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ถ้าไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา เราก็จะทุกข์ ถ้าเห็นแล้วจะไม่ทุกข์
กำลังใจ ๓๒, กัณฑ์ที่ ๓๓๕
วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัด ชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา