31 ก.ค. 2020 เวลา 10:46 • กีฬา
ทำไมนิวคาสเซิล ได้แค่ "เกือบ" จะเป็นสโมสรฟุตบอลที่รวยที่สุดในโลก เกิดอะไรขึ้นทำให้การเทกโอเวอร์ของกลุ่มทุนซาอุดิอาระเบียล้มเหลว และใครบอกว่าการเมืองกับกีฬาไม่เกี่ยวกัน เรื่องราวดราม่าทั้งหมดวิเคราะห์บอลจริงจังสรุปมาให้แล้ว
เป็นอีกครั้งที่แฟนบอลนิวคาสเซิลต้องเจ็บปวด เมื่อการเทกโอเวอร์ล้มเหลว เพราะมันหมายความว่าสโมสรยังต้องเป็นของไมค์ แอชลีย์เหมือนเดิม
ก่อนหน้านี้ พวกเขามีโอกาสจะกลายเป็นสโมสรที่รวยที่สุดในโลก แต่ปัญหาคือ พรีเมียร์ลีก "ดึงเวลา" ไม่ยอมอนุมัติการเทกโอเวอร์จากกลุ่มทุนซาอุดิอาระเบีย นานถึง 16 สัปดาห์เต็ม
ฝั่งทุนซาอุฯ รอคอยคำตอบ 4 เดือน ว่าพรีเมียร์ลีกจะตกลงให้ซื้อทีมได้เมื่อไหร่ คือเงินน่ะมีพร้อมแล้ว เหลือแค่รอคำอนุญาตเท่านั้น
สุดท้ายจนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้คำตอบเสียที ทำให้ฝั่งซาอุฯ รอไม่ไหวแล้ว ประกาศแคนเซิลการซื้อทีมในที่สุด ไม่เอาก็ไม่เอา จะได้ move on ไปซื้อทีมอื่นซะที เสียเวลามานานเกินไปแล้ว
นี่ถือเป็นเคสแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษที่ การซื้อขายทีมโดนบล็อกนานถึง 4 เดือน คือปกติถ้าคนซื้ออยากซื้อ คนขายอยากขาย ไม่เกิน 3 วันก็เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นมันจึงนำมาสู่คำถามว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เราจะค่อยๆ ไล่เรียงเหตุการณ์ไปด้วยกัน ว่าปัญหามันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่
แฟนนิวคาสเซิลทนใช้ชีวิตในยุคของไมค์ แอชลีย์ มายาวนานถึง 13 ปี และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ "ทีมไม่ดีขึ้น"
แอชลีย์ไม่ได้ใส่ใจสโมสรขนาดนั้น แนวทางการบริหารทีมของเขาคือ "Can't win, why try?" คือลงทุนเท่าไหร่ ทีมก็ไม่ได้แชมป์อยู่แล้ว แล้วจะเสียตังค์ไปโดยใช่เหตุทำไม สู้ประคองตัวไปเรื่อยๆทุกปี แค่ให้รอดตกชั้นก็พอ
มันคือแนวคิดของ Loser ซึ่งอยู่แบบนี้ต่อไป มันไม่เห็นอนาคต ดังนั้นแฟนบอลจึงอยากให้แอชลีย์ขายทีมทิ้งไปซะที
ไมค์ แอชลีย์
นักวิเคราะห์ในอังกฤษก็คิดคล้ายๆกัน คือนิวคาสเซิลมีองค์ประกอบทุกอย่างของทีมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลที่หนาแน่นมาก สนามสวยงามระดับ State of art รวมไปถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีตำนาน มีสตอรี่มากมาย แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จซะที เพราะเจ้าของไม่จริงใจนี่ล่ะ
มีการอ้างอิงไปถึงลิเวอร์พูลว่าตอนหงส์แดงมีปลิงอเมริกัน จอร์จ ยิลเลตต์ กับ ทอม ฮิคส์คอยดูดเลือด สโมสรก็มีแต่จะตกต่ำลง แต่พอเปลี่ยนเจ้าของเป็นเฟนเวย์ สปอร์ตกรุ๊ปเท่านั้นล่ะ อะไรๆก็ค่อยๆดีขึ้น
ซึ่งนิวคาสเซิลก็ควรจะประสบความสำเร็จได้แบบนั้น เพราะอย่างอื่นสโมสรดีหมด ขาดอย่างเดียวคือเจ้าของทีมที่มีทัศนคติของผู้ชนะมากกว่านี้
ลองคิดดูว่าตอนจะเลือกผู้จัดการทีมสักคน ไมค์ แอชลีย์ ยังตระเวนหาคนที่ราคาถูกที่สุดในตลาด ก่อนจะลงเอยที่สตีฟ บรูซ กับค่าจ้าง 1 ล้านปอนด์ต่อปี เป็นผู้จัดการทีมที่มีค่าจ้างต่ำสุดในบรรดา 20 ทีมของลีกในซีซั่น 2019-20
แนวคิดอย่างนี้ มันจะไปประสบความสำเร็จได้ไง ยิ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ แอชลีย์คิดจะเก็บนิวคาสเซิลไว้เรื่อยๆ เพราะแค่ทีมเล่นในพรีเมียร์ลีก ก็ได้เงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด มากกว่า 100 ล้านปอนด์แล้ว ถ้าหากซื้อตัวผู้เล่นน้อยๆหน่อย ก็จะเหลือเงินจำนวนหนึ่ง กลายเป็นกำไรให้เขาในแต่ละปี
แอชลีย์คือเสือนอนกิน โกยเงินไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดจะลงทุนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นั่นทำให้แฟนนิวคาสเซิลรับไม่ได้
1
ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอหลายครั้ง ให้แอชลีย์ขายทีม แต่เขาไม่ขาย คือถ้าไม่ได้กำไรดีพอ สู้เก็บสโมสรไว้ทำเงินเรื่อยๆดีกว่า
แต่แล้วในเดือนมีนาคม 2020 กลุ่มทุนชื่อ PIF (Public Investment Fund of Saudi Arabia) ประกาศว่าต้องการเทกโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
PIF
PIF คล้ายๆกับเทมาเส็กของสิงคโปร์ นั่นคือเอาเงินจากรัฐ ไปลงทุนในธุรกิจของประเทศต่างๆ คือก่อนหน้านี้ PIF ก็ไปซื้อหุ้นส่วนของสโมสรหลายทีม อย่างโปฮัง สตีลเลอร์ของเกาหลีใต้นั่นก็ใช่ ซึ่งคราวนี้ พวกเขาตั้งใจจะเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจฟุตบอลยุโรปบ้าง
PIF ไม่ใช่กองทุนเก๊แบบ 1MDB แต่เป็นกองทุนของจริง พวกเขามีโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุฯ เป็นประธานบริษัท สินทรัพย์โดยรวมมีสูงถึง 382,000 ล้านดอลลาร์ นี่คือกลุ่มทุนที่รวยที่สุดในโลก
นั่นแปลว่าถ้าการเทกโอเวอร์เกิดขึ้น นิวคาสเซิลจะมีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาอย่างอันลิมิเต็ด ให้อารมณ์เดียวกับตอนชีค มันซูร์ ซื้อแมนฯซิตี้ แบบนั้นเลย และด้วยเงินมหาศาลขนาดนี้ ทีมสาลิกาดงจะอัพเกรดกลายเป็นทีมลุ้นแชมป์ทันที
ไมค์ แอชลีย์ พอรู้ว่า PIF สนใจ จึงเรียกเงินก้อนไป 300 ล้านปอนด์ ลองวัดใจว่าจะจ่ายให้ไหม ซึ่งถือว่าเป็นการฟันกำไรเกิน 2 เท่าจากตอนที่แอชลีย์ ซื้อสโมสรมา (แอชลีย์ซื้อนิวคาสเซิลในราคา 133 ล้านปอนด์) ปรากฏว่า PIF ไม่มีต่อราคาใดๆ เซย์เยส พร้อมซื้อทีมทันทีในตัวเลขนี้
นั่นทำให้ทุกอย่างลงตัวหมด แอชลีย์พร้อมขาย คนซื้อพร้อมซื้อ แฟนบอลเตรียมเฮ ทุกอย่างน่าจะจบลงเสียที แฟนนิวคาสเซิลจะได้หลุดพ้นจากความมืดมน ไปสู่หนทางสว่างภายใต้เจ้าของใหม่เสียที
PIF ประกาศแผนงานล่วงหน้าว่าจะใช้เงิน 250 ล้านปอนด์ และสร้างทีมให้มีลุ้นแชมป์ใน 5 ปี ซึ่งแผนการทุกอย่างชัดเจน และเป็นมืออาชีพมาก
กลุ่มทุนจากซาอุฯ รวยจริง จ่ายจริง เงินไม่อั้น แปลว่าพวกเขาพร้อมกว้านซื้อนักเตะระดับโลกมาสู่ทีมแน่ๆ ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า ถ้าดีลจบเมื่อไหร่ 11 ตัวจริงของนิวคาสเซิลจะไม่ใช่ B กับ C อีกแล้ว แต่จะเป็นเกรด A เน้นๆ
ทุกอย่างดูดี ดูสวยงาม อย่างไรก็ตาม ฝันที่ดูใกล้แค่เอื้อม ก็ยังไม่เป็นจริงเสียที นั่นเพราะมีคน "เบรก" เอาไว้ ไม่ให้มันลุล่วง
การซื้อขายสโมสรฟุตบอลนั้น แค่เพียงผู้ซื้อกับผู้ขาย ตกลงกันได้ ยังไม่พอ แต่ต้องได้รับการเห็นชอบจากพรีเมียร์ลีก และสมาคมฟุตบอลอังกฤษด้วย
1
พรีเมียร์ลีกจำเป็นต้องดูภาพลักษณ์ของคนมาซื้อสโมสร ว่าไม่ทำลายชื่อเสียงโดยรวมของลีก คิดเล่นๆแบบสุดโต่ง ถ้ามีพ่อค้ายาปาโบล เอสโคบาร์ คิดจะมาซื้อสโมสรเพื่อฟอกเงิน แบบนี้พรีเมียร์ลีกก็คงอนุมัติให้ไม่ได้ เพราะมันจะทำให้โดนสังคมประณามแน่ และพรีเมียร์ลีกก็อาจเสื่อมความนิยมในระยะยาวได้
ดังนั้นตราบใดที่พรีเมียร์ลีกไม่มีเอกสารยินยอมให้ซื้อขาย ทุกอย่างก็ต้องชะงักต่อไป ซึ่งเรื่องของนิวคาสเซิลกับกลุ่ม PIF ติดอยู่ที่ตรงนี้ คือพรีเมียร์ลีกไม่อนุมัติเสียที
2 เหตุผลที่พรีเมียร์ลีกยังคงลังเลใจอยู่ คือเรื่อง การลักลอบถ่ายทอดสดของซาอุฯ กับ เรื่องการลอบสังหารจามาล คาช็อคกี
ไปที่ข้อแรกกันก่อน ปกติเวลาพรีเมียร์ลีกขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ พวกเขาจะขายแยกเป็นประเทศต่อประเทศ แต่ก็จะมีบางกรณีเหมือนกัน ที่ขายเหมารวมในภูมิภาค อย่างในอาเซียน ก็ขายให้ทรูวิชั่นส์ รับเหมาถ่ายทอดสด ในไทย ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
สำหรับในตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกาตอนเหนือทั้งหมด บีอินสปอร์ต เป็นคนกว้านซื้อลิขสิทธิ์เอาไว้ได้ 100% เท่ากับว่าทุกประเทศที่จะถ่ายพรีเมียร์ลีก จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มของบีอินสปอร์ตเท่านั้น
ประเด็นคือ บีอินสปอร์ต เป็นบริษัทของประเทศกาตาร์ ซึ่งนับจากปี 2017 มา กาตาร์กับซาอุฯ มีปัญหาขัดแย้งอย่างรุนแรง ซาอุฯขับไล่ชาวกาตาร์ออกนอกประเทศ และห้ามประชาชนในประเทศเดินทางไปกาตาร์ นอกจากนั้นยังปิดพรมแดน ห้ามเครื่องบินของกาตาร์ผ่านน่านฟ้าซาอุฯอีกด้วย
ซาอุฯ ให้เหตุผลว่า กาตาร์เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และบ่อนทำลายความสามัคคีในโซนตะวันออกกลาง ซึ่งนับจากปี 2017 มา บรรยากาศของสองประเทศนี้จึงเต็มไปด้วยความตึงเครียดมาก
แม้ซาอุฯ ไม่คิดจะข้องเกี่ยวกับกาตาร์ แต่ปัญหาคือ บีอินสปอร์ตซึ่งเป็นบริษัทของกาตาร์ ดันมาซื้อลิขสิทธิ์ของพรีเมียร์ลีกไปแล้ว ถ้าซาอุฯยอมให้บีอิน ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกในประเทศ ก็แปลว่าต้องยอมใช้ธุรกิจของกาตาร์ไปโดยปริยาย
และซาอุฯ ยอมไม่ได้ สรุปคือซาอุฯ ประกาศแบนบีอินสปอร์ต ห้ามถ่ายทอดทุกรายการในราชอาณาจักร และในเวลาต่อมา สั่งยกเลิกไลเซนส์ของบีอินสปอร์ตเป็นการถาวร
คำถามคือ พรีเมียร์ลีก ดันเป็นลีกที่คนซาอุฯ นิยมอันดับ 1 แล้วแบบนี้คนจะดูบอลกันยังไง? คำตอบคือ ซาอุฯ จงใจเปิดแพลตฟอร์มผิดลิขสิทธิ์ขึ้นมาเองเลย เพื่อใช้ในประเทศ
หลังบีอินสปอร์ตโดนห้ามถ่ายทอดสด ในช่วงเดือนมิถุนายน 2017 หลังจากนั้นแค่ 1 เดือน มีบริษัทเอกชนของซาอุฯ เปิดตัวขึ้นมาใหม่ และเดินหน้าขายกล่องเถื่อน ที่ชื่อ beoutQ (บีเอาต์ คิว) ขึ้นมา โดย beoutQ ดูดสัญญาณพรีเมียร์ลีกจากบีอินสปอร์ตมาซึ่งหน้า แล้วแปะโลโก้ beoutQ ทับมันดื้อๆไปเลย
รัฐบาลซาอุฯ รู้ทั้งรู้ว่ามีกล่องนี้ แต่ก็ปล่อยเบลอให้ถ่ายทอดสดไปเรื่อยๆ 3 ฤดูกาลเต็มๆ โดยฝั่งกาตาร์วิเคราะห์ว่าเผลอๆ รัฐบาลซาอุฯ จะเป็นแบ็กอัพเองด้วย
เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะบีอินสปอร์ต ซื้อลิขสิทธิ์แบบเหมาทั้งภูมิภาคไปแล้ว พวกเขายอมจ่ายแพง เพื่อทำการตลาดได้ทุกประเทศ แต่ซาอุฯกลับไม่อนุญาตให้เข้าไปถ่ายได้ คือถ้าแบนไม่ให้ถ่าย ยังเข้าใจ แต่นี่รัฐบาลก็เห็นๆกันอยู่ว่า มีแพลตฟอร์มเถื่อนแต่ไม่คิดจะปราบปรามจริงจัง ปล่อยให้ถ่ายเถื่อนกันโต้งๆถึง 3 ปี
ในมุมของพรีเมียร์ลีก ประเทศคุณจะทำสงครามยังไงก็ไม่สน แต่เรื่องลิขสิทธิ์คุณจะละเมิดไม่ได้ ดังนั้น พรีเมียร์ลีกจึงมีประเด็นขัดแย้งกับซาอุฯ ในเรื่องนี้ และเมื่อกลุ่มทุนของซาอุฯ (PIF) จะมาเทกโอเวอร์นิวคาสเซิล จึงเกิดคำถามว่า ประเทศคุณยังให้ท้ายการถ่ายทอดสดแบบเถื่อนอยู่เลย แล้วจะมาเป็นเจ้าของทีมงั้นหรือ
1
ริชาร์ด มาสเตอร์ส ซีอีโอของพรีเมียร์ลีกกล่าวว่า "สิ่งที่พรีเมียร์ลีกต้องการคือความพยายามของซาอุดิอาระเบีย ที่จะอนุญาตให้ผู้ถือลิขสิทธิ์เข้าไปถ่ายทอดสดอย่างถูกต้อง" แต่ทางซาอุฯไม่สน เพราะประเด็นนี้มันเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นภาพใหญ่กว่า
มีคนอาจจะบอกว่าแล้ว PIF ที่มาเทกโอเวอร์นิวคาสเซิลเกี่ยวอะไร คำตอบคือเกี่ยวอยู่ เพราะมีคนของรัฐบาลมากมายเป็นกรรมการของกองทุนนี้ ซึ่งถ้าพรีเมียร์ลีกสนับสนุนให้เทกโอเวอร์ ก็เหมือนกับสนับสนุนผู้ที่จงใจละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง
และถ้าชาติอื่นเห็นว่า พรีเมียร์ลีก Soft ในเรื่องลิขสิทธิ์แบบนี้ อนาคตใครจะมาซื้อพรีเมียร์ลีกแพงๆอีก ต่อไปคนก็ละเมิดกันกระจุยไปหมด เพราะรู้ว่าพรีเมียร์ลีกไม่เอาจริงเอาจัง
ล่าสุด beoutQ ถูกระงับสัญญาณชั่วคราว แต่ในเมื่อซาอุฯยังไม่ยอมให้บีอินสปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงกลับไปถ่ายได้ในประเทศ เดี๋ยวสักพักก็มี beoutQ v.2 , beoutQ v.3 งอกมาใหม่ได้อีก
นี่คือจุดสำคัญเรื่องแรก ที่พรีเมียร์ลีก จำเป็นต้องเดินเกมให้ดี จริงอยู่ อาจดูใจร้ายกับนิวคาสเซิล แต่ถ้าพรีเมียร์ลีกเดินหมากพลาด อาจจะเสียหายหนักกว่านั้น
เหตุผลข้อที่ 2 คือเรื่องการลอบสังหาร จามาล คาช็อคกี นักข่าวจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์
คาช็อคกี เป็นชาวซาอุฯ แต่อพยพไปอยู่ที่อเมริกา โดยทำงานเขียนคอลัมน์ให้วอชิงตันโพสต์ ซึ่งจุดเด่นของเขาคือเป็น นักเขียนฝั่งซ้าย ที่ชอบวิจารณ์รัฐบาลและราชวงศ์ของซาอุฯอย่างเผ็ดร้อน
คาช็อคกีอยู่อเมริกา จึงมั่นใจในสิทธิเสรีภาพของตัวเอง เขาอยากจะวิจารณ์ใครที่ซาอุฯก็ได้ ซึ่งคนที่เป็นเป้าหมายเบอร์หนึ่งของคาช็อคกี คือ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เจ้าชายแห่งราชวงศ์ซาอุฯนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคม 2018 เขาเขียนบทความว่า "เจ้าชายบิน ซัลมาน จะเล่นงานทุกคนที่เห็นตรงข้ามกับนโยบายของเขา ต่อให้เป็นความเห็นที่มีประโยชน์แค่ไหน เขาก็ไม่สน"
ตุลาคม 2018 ระหว่างไปทำงานที่ตุรกี คาช็อคกีไปทำเรื่องเอกสารที่สถานกงสุลซาอุฯ ในเมืองอิสตันบูล ปรากฏว่าเขาโอนอุ้มหายไปเลย โดยทั้งสถานทูตไม่มีวงจรปิดให้เป็นหลักฐานแม้แต่คลิปเดียว ซึ่งในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจตุรกีฟันธงว่า คาช็อคกีน่าจะโดนลอบสังหารไปแล้ว
หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ (CIA) และตำรวจตุรกีสืบสวนจนพบว่า คนอยู่เบื้องหลังการสังหารคาช็อคกี คือโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และคนที่ร่วมกันอุ้มฆ่า ความจริงคือหน่วยสืบสวนพิเศษของรัฐบาลซาอุฯทั้งสิ้น
ฝั่งซาอุฯ บอกว่าจะสืบสวนเรื่องนี้เอง ในเดือนธันวาคม 2019 บทสรุปคดีจากศาลซาอุฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นั่นทำให้นานาชาติกดดันซาอุฯอย่างหนัก โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ กล่าวว่า ซาอุฯ สมควรโดนลงโทษอย่างหนักถ้าคาช็อคกีโดนฆ่าในสถานกงสุลจริง
ทั่วโลกไม่พอใจการจัดการของซาอุฯ เช่นเดียวกับ รัฐบาลของสหราชอาณาจักรก็ไม่พอใจด้วย นั่นเพราะ UK มีจุดยืนเข้มแข็งมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน แค่คนวิจารณ์อย่างเสรีลงสื่อ คุณไปไล่ฆ่าเขาแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้นฝั่งอังกฤษ จึงต่อต้านการกระทำของซาอุฯ ในกรณีคาช็อคกีด้วยเช่นกัน
ซึ่งในประเด็นนี้ มันจึงถูกเชื่อมโยงมากับเรื่องของนิวคาสเซิลอย่างช่วยไม่ได้
กล่าวคือ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นประธานกลุ่มทุน PIF แต่เขาก็เป็นคนเดียวกันกับที่ CIA บอกว่าสั่งฆ่าจามาล คาช็อคกี
ดังนั้นถ้าอังกฤษยอมให้บิน ซัลมาน เข้ามาเทกโอเวอร์ และมีสโมสรฟุตบอลได้ มันจะเป็นว่าไปขัดกับแนวทางของรัฐบาลหรือไม่ ที่จะไม่สนับสนุนคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
พรีเมียร์ลีกไม่ปฏิเสธคนรวย ไม่อย่างนั้นก็ปฏิเสธอบราโมวิชตอนซื้อเชลซี หรือชีค มันซูร์ตอนซื้อแมนฯซิตี้ไปแล้ว แต่คนรวยที่มาพร้อมชนักติดหลัง มันไม่ง่ายเลย ที่จะตอบตกลง
แอมเนสตี้ หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ออกมาเตือนพรีเมียร์ลีกว่า "เจ้าชายบิน ซัลมาน ต้องการใช้พรีเมียร์ลีกเป็นอุปกรณ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับซาอุฯ ทั้งๆที่พวกเขายังไม่ตอบคำถามชาวโลกเรื่องจามาล คาช็อคกีด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ซาอุฯจะสนับสนุนฟุตบอลจริงๆหรือ ในเมื่อผู้หญิงซาอุฯ ยังไม่สามารถไปดูบอลในสนามได้เลย"
2 เหตุผลรวมกันมันเป็นสิ่งที่ทำให้ พรีเมียร์ลีกรู้สึกกดดัน
ฝั่งการเมืองก็บีบคั้นว่าอย่าปล่อยให้ทุนซาอุฯ มาซื้อสโมสรฟุตบอลได้ องค์กรสิทธิมนุษยชนก็จี้ตลอด รวมถึงหลายๆทีมในพรีเมียร์ลีกก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวจะทำให้ภาพลักษณ์เสีย
พรีเมียร์ลีกเป็นฟุตบอลของคนทุกเพศทุกวัย แต่ที่ซาอุฯ ผู้หญิงยังเข้าสนามบอลไม่ได้ มันไม่เป็นผลดีต่อแบรนด์ของพรีเมียร์ลีกถ้ามีเจ้าของทีมที่มีแนวคิดแบบนี้
ขณะที่เรื่องการถ่ายทอดสดก็สำคัญ เพราะทุกชาติกำลังจับตาดูอยู่ว่า ซาอุฯที่สนับสนุนแพลตฟอร์มเถื่อน นอกจากจะไม่โดนลงโทษแล้ว พรีเมียร์ลีกยังจะอนุมัติให้ซื้อทีมอีกหรือ
ในมุมของแฟนนิวคาสเซิล อยากให้การซื้อขายเกิดขึ้น อยากให้ยุคของไมค์ แอชลีย์มันจบเสียที ซึ่งเงินในมือบิน ซัลมานก็พร้อมแล้ว แต่สำหรับพรีเมียร์ลีกนั้น อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า caught in the middle คือติดอยู่ตรงกลาง
จะบอกปฏิเสธอย่างไร ในเมื่อเขาก็มาซื้อทีมอย่างปกติ ทำตามกฎหมาย แต่ถ้าตอบตกลง จะมีคนไม่พอใจมากมาย พรีเมียร์ลีกต้องตอบคำถามเยอะมาก และจะส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่า
ดังนั้น สิ่งที่ริชาร์ด มาสเตอร์ส ซีอีโอของพรีเมียร์ลีกทำคือ ปล่อยเบลอ ยืดเวลาไปเรื่อยๆ ไม่ยอมตอบตกลงเสียที จาก 1 สัปดาห์ ลากยาวมาจน 16 สัปดาห์ ยื้อให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
และในเชิงธุรกิจ เมื่อคุณโดนคู่ค้าลากยาวไม่ตอบตกลงแบบนี้ 4 เดือน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะรอคอยแบบไร้จุดหมาย ทาง PIF จึงตัดสินใจแคนเซิลการซื้อในที่สุด จากนี้ค่อยไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆแทน
หลังจาก PIF ยกเลิกดีล มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความแฮปปี้ ตัวอย่างเช่น คู่หมั้นของคาช็อคกีกล่าวว่า "นี่คือชัยชนะของสิทธิมนุษยชน และเป็นความพ่ายแพ้ของบิน ซัลมาน กับความพยายามที่เขาจะใช้กีฬาเป็นเครื่องฟอกตัว ฉันรู้สึกยินดี ที่พรีเมียร์ลีก ให้คุณค่าของสิทธิมนุษยชนมากกว่าผลกำไร"
แต่แน่นอน คนที่ฝันสลายคือนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เพราะนี่คือการเข้าใกล้การเทกโอเวอร์มากที่สุดในรอบทศวรรษ และคนที่คิดจะซื้อก็ไม่ใช่เศรษฐีเก๊ แต่เป็นคนที่รวยมากๆ สามารถยกระดับทีมได้ในพริบตา
ยิ่งถ้าจุดประสงค์ของบิน ซัลมาน คือการจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เขายิ่งต้องเปย์เงิน พาทีมยิ่งใหญ่ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งคนที่จะแฮปปี้ก็คือแฟนๆทีมสาลิกาดง ที่จะเห็นทีมตัวเองแข็งแกร่งเสียที
บทสรุปตอนจบคือ คือการเทกโอเวอร์ล้มเหลว และนิวคาสเซิลต้องอยู่กับไมค์ แอชลีย์เป็นปีที่ 14 ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้า
แต่จุดนี้ถ้ามองในมุมของพรีเมียร์ลีกเอง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hands are tied เหมือนมือโดนมัดอยู่ พวกเขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆ
ส่งท้ายในเรื่องนี้ มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ ใครบอกว่ากีฬากับการเมืองไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ถ้าเป็นสัก 200 ปีก่อน อาจจะใช่ แต่ในยุคนี้ เราเห็นชัดเจนว่า มันมีความเชื่อมโยงกันเสมอ
ซาอุฯเอง ใช้การเมือง นำมาสู่การตัดสินใจที่จะแบนบีอินสปอร์ตของกาตาร์ แล้วเลือกซัพพอร์ทการถ่ายทอดสดแบบเถื่อน
ฝั่งอังกฤษเอง ก็ใช้การเมืองเช่นกัน ในการตัดสินใจว่าทำไมไม่ควรตอบตกลง ให้ทุนซาอุฯ มาเป็นเจ้าของทีมนิวคาสเซิล
ดังนั้นต่อให้เราสนใจการเมืองหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สุดท้ายแล้ว การเมืองจะมีอิทธิพลต่อเราอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
#Newcastle
โฆษณา