1 ส.ค. 2020 เวลา 14:55 • ความคิดเห็น
รัฐบาลเอสโตเนียไม่อนุมัติโครงการ 'อุโมงค์รถไฟใต้น้ำยาวสุดในโลก' เพราะไม่ไว้ใจกลุ่มลงทุนจากจีน
มองว่า 'เป็นตัวแทนจากจีน' และอาจส่งผลต่อความมั่นคง
ภาพจาก www.estonianworld.com
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘One Belt One Road’ ถ้าภาษาไทยแบบสวยๆหน่อยก็ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ แต่ถ้าเอาแบบเข้าใจง่าย คือเป็นโครงการที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ต้องการสร้างขยายความร่วมมือจีนกับประเทศอื่นๆทั่วโลก เสมือนเป็นเส้นทางสายไหมยุคใหม่ โดยเส้นทางสายไหม ก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นหูมาเป็นอย่างดี เป็นเส้นทางการค้าของจีนกับชาติอื่นในสมัยโบราณ
หนึ่งในภูมิภาคที่จีนต้องการดีลด้วย และพาเข้ามาในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ คือ แถบยุโรป ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เราเห็นกลุ่มทุนจากประเทศจีนไปลงทุนในประเทศแถบนี้ จากเดิมที่อาจไม่เคยมีมาก่อน
วันนี้อ้ายจงเลยมีเรื่องราวสั้นๆ มาเล่าให้ฟัง เป็นความพยายามของจีน ในการขยายเส้นทางสายไหมใหม่ไปแถบยุโรปเหนือ แต่เจออุปสรรคชิ้นโตเป็น ‘ความไม่ไว้วางใจ’
โครงการ ‘สร้างอุโมงค์รถไฟใต้น้ำยาวที่สุดในโลก เชื่อมเอสโตเนียและฟินแลนด์ ย่านสำคัญแห่งทะเลบอลติก ยุโรปเหนือ’ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงปีสองปีมานี้ เพราะกลุ่มทุนจีน บริษัท Touchstone Capital Partners ทุ่มเงินมากถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 5.3 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนร่วมกับบริษัทจากประเทศฟินแลนด์ในการก่อสร้างโครงการนี้
ตอนแรกก็ดูจะไปได้สวยนะครับ แต่ล่าสุดข่าวเพิ่งมาออกเมื่อวันสองวันนี้เอง ว่า
‘ทางรัฐบาลเอสโตเนียปฏิเสธการดำเนินการโครงการก่อสร้างในครั้งนี้’
โดยให้เหตุผลถึงการศึกษาความเป็นไปได้ทางสิ่งแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่มองแล้วว่า มันเสี่ยงเกินไป ได้แก่ แผนการเงินที่ดูไม่ชัดเจน แผนการประมาณการยอดผู้โดยสารที่ดูสวยหรูเกินไปกว่าความจริง
และจุดสำคัญคือ หน่วยข่าวกรองเอสโตเนียมองว่า การลงทุนของบริษัทเอกชนในจีนก็แฝงไปด้วยเรื่องราวทางการเมือง กล่าวคือ เป็นตัวแทนจากรัฐบาลจีน ดังนั้น มันเลยเกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง
จีนเองเผชิญกับปัญหาความไม่ไว้ใจจากหลายชาติ อย่างอเมริกาและชาติพันธมิตรของอเมริกา โดยเฉพาะในการลงทุนจากกลุ่มทุนจีนที่แม้จะไปในนามเอกชน แต่หลายประเทศก็รู้สึกว่า รัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลัง
ประเด็น แอปTikTok และ Huawei ที่โดนแบนจากอเมริกา และชาติอื่นๆที่อยู่ทีมอเมริกา ก็มีเหตุผลละม้ายคล้ายเรื่องนี้ เพราะมีแกนหลักเหมือนกันคือ 'ตัวแทนจีน'
ปัจจุบันนี้ สงครามระหว่างจีนและประเทศอื่น เริ่มกลายเป็นสงครามตัวแทนผ่านทางธุรกิจการค้า การลงทุนและการสร้างนวัตกรรม น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าจีนจะเดินเกมต่ออย่างไร
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
โฆษณา