4 ส.ค. 2020 เวลา 22:28 • ปรัชญา
“พระอริยสัจ ๔ ความจริง ๔ ประการ”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๕ สิงหาคม ๒๕๖๓
วันนี้เป็นวันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ใกล้วันสิ้นปีเข้ามา เวลาก็ผ่านไปรวดเร็ว เวลานี้ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับงูใหญ่ งูใหญ่ที่ค่อยๆ เขมือบเหยื่อเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้าไม่สังเกตดูก็เหมือนกับว่า มันไม่ได้กำลังเขมือบเหยื่ออยู่ แต่ถ้าไม่ดูมันสักพัก หันกลับมาดู ก็จะเห็นว่าเหยื่อมันค่อยๆ เข้าไปในปาก เข้าไปในท้องของงู วันเวลาเหมือนกัน ถ้าเราไม่พิจารณา เราจะไม่เห็นว่ามันกำลังเขมือบทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีอยู่ในโลกนี้ไป เช่น ปีนี้ครูบาอาจารย์ก็ร่วงโรย ถูกเวลาเขมือบไป กินไป หมดไป เวลานี้มันจะเคลื่อนไปเรื่อย ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันถอยกลับ เวลามันจะค่อยๆ เขมือบพวกเราไป ตอนนี้พวกเรายังไม่ได้ถูกพวกมันเขมือบเข้าไปหมด เรายังสามารถทำอะไรที่มีคุณมีประโยชน์ ต่อจิตใจของพวกเราได้อยู่ เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้เวลาอันมีค่านี้หลุดไป ลอยไป ผ่านไป โดยที่เราไม่ได้มาทำกิจที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับพวกเรา ให้มาประพฤติมาปฏิบัติกัน กิจที่สำคัญต่อชีวิตจิตใจของพวกเราคืออะไร ก็คือ “กิจในอริยสัจ ๔” นี่เอง ที่เราเรียกว่า “กิจในพรหมจรรย์” ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ก็ประพฤติกิจในพระอริยสัจ ๔ นั่นเอง
 
พระอริยสัจ ๔ คืออะไร ก็คือความจริง ๔ ประการด้วยกัน เป็นความจริงที่เป็นอมตะ เป็นความจริงที่ไม่มีเปลี่ยน ไม่มีหายไป เป็นความจริงตลอดเวลา ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นก่อนสมัยพุทธกาล ก่อนที่มีพระพุทธเจ้ามาทรงตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ พระอริยสัจ ๔ ก็มีอยู่ แต่ไม่มีใครรู้จัก มามีคนรู้จักก็ในยุคของพระพุทธเจ้า ยุคที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ตรัสรู้อะไร ก็ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ทรงเป็นผู้ค้นพบพระอริยสัจ ๔ เมื่อทรงค้นพบแล้ว ก็ทรงนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่สัตว์โลกอย่างพวกเรา เมื่อมีผู้ที่สนใจศึกษาได้น้อมเอาไปปฏิบัติ ก็จะสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ในพระอริยสัจ ๔ ถ่ายทอดในกิจพระอริยสัจ ๔ ให้แก่ผู้อื่นได้ต่อไป ก็เลยมีการถ่ายทอดความรู้ในกิจพระอริยสัจ ๔ นี้ มาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงยุคปัจจุบันนี้
พระอริยสัจ ๔ ก็ยังเป็นพระอริยสัจ ๔ เหมือนเดิม ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อนาคตที่จะมาก็เหมือนกัน พระอริยสัจ ๔ ก็ยังเป็นพระอริยสัจ ๔ มีอยู่ในโลกนี้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่ามีคนรู้จักพระอริยสัจ ๔ หรือไม่ เท่านั้นเอง
ซึ่งตามคำทำนายของพระพุทธเจ้า ทรงได้ทำนายว่า ภายใน ๕,๐๐๐ ปี พระอริยสัจ ๔ ก็จะไม่มีคนรู้จัก เพราะจะขาดการถ่ายทอดต่ออนุชนรุ่นหลังที่จะตามมา พอไม่มีการถ่ายทอด ไม่มีการสืบทอดพระอริยสัจ ๔ ก็จะไม่มีใครรู้จักพระอริยสัจ ๔ แต่พระอริยสัจ ๔ ก็ไม่ได้หายไปไหน อยู่ในยุคว่างจากพระอริยสัจ ๔ จนกว่าจะมามีคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้าคนต่อไป ที่จะมาทรงค้นพบพระอริยสัจ ๔ ใหม่ บุคคลนี้ที่เราเรียกว่า “พระศรีอาริยเมตไตรย” ต่อไปหลังจากที่พระอริยสัจ ๔ ได้หายสาบสูญไปจากความทรงจำของสัตว์โลกแล้ว ก็จะมีพระโพธิสัตว์องค์ใหม่ เช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ออกบวชเป็นสมณะโคดม และได้ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ใหม่ แล้วก็จะนำเอาพระอริยสัจ ๔ นี้มาเผยแผ่ให้แก่ผู้ที่ไม่รู้ต่อไป ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วมีความรู้มีความสามารถ พร้อมที่จะรับพระอริยสัจ ๔ ไปปฏิบัติได้ ก็จะสามารถรับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ได้ คือ ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเวียนว่ายตายเกิด การจะหลุดพ้นได้นี่ต้องเกิดจากการปฏิบัติกิจในอริยสัจ ๔ นี้เอง ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักว่าอริยสัจ ๔ คืออะไร อย่างที่พวกเรารู้กัน พวกเรารู้ว่าอริยสัจ ๔ คืออะไรบ้าง รู้ว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” นี่คือพระอริยสัจ ๔ สัจธรรมหรือความจริง ๔ ประการ เรารู้ว่า “ทุกข์” คืออะไร รู้ว่า “สมุทัย” คืออะไร รู้ว่า “นิโรธ” คืออะไร รู้ว่า “มรรค” คืออะไร แต่เราไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อพระอริยสัจทั้ง ๔ ว่าปฏิบัติอย่างไร
 
พระอริยสัจทั้ง ๔ นี่ มีกิจในแต่ละข้อ ที่ไม่เหมือนกัน เช่น กิจข้อที่หนึ่ง คือ “ทุกข์” กิจในทุกข์คืออะไร คือทุกข์ก็ต้องกำหนดรู้ ต้องระลึกรู้อยู่เสมอ ไม่ให้ลืม ให้รู้ว่าอะไรคือทุกข์ สองกิจในสมุทัย คือต้องละสมุทัยที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ตัวที่สร้างความทุกข์ขึ้นมานี้คือ “สมุทัย” ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการด้วยกัน “กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา” นี่เป็นตัณหาความอยากที่ต้องละ และ “นิโรธ” คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ ต้องทำให้แจ้ง กิจในนิโรธคือต้องทำให้แจ้ง ต้องทำให้การหลุดพ้นปรากฏขึ้นมา และกิจข้อที่สี่คือ “มรรค” ต้องเจริญให้มาก ต้องเจริญให้สมบูรณ์ นี่คือกิจในอริยสัจ ๔ ที่เรามักจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน เราจะได้ยินได้ฟังกันบ่อยคือพระอริยสัจ ๔ เราจะได้ยินว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” แต่เรามักจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องกิจในอริยสัจ ๔ กัน เพราะผู้ที่ปฏิบัติกิจในอริยสัจ ๔ นี้ มีไม่มากนั่นเอง หรือได้ยิน เราก็ไม่รู้ว่าท่านกำลังสอนกิจในอริยสัจ ๔ ส่วนใหญ่เราจะได้ยินกิจข้อที่ ๔ คือ “มรรค” มรรคที่เป็นทางสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ คือ มรรค ๘ หรือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” หรือ “ทาน ศีล ภาวนา” ที่ท่านคอยสั่งคอยสอนให้พวกเราหมั่นปฏิบัติกันอยู่เรื่อยๆ นั่นเอง
 
นี่คือกิจในมรรค คือ “การทำทาน การรักษาศีล การภาวนา” นี้เอง เป็นการทำกิจในอริยสัจ ๔ ข้อที่ ๔ คือมรรค และเป็นกิจที่จะทำให้เกิดกิจในข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓ โดยอัตโนมัติ เพราะการ “ทำบุญทำทาน การรักษาศีล การภาวนา” จะนำไปสู่การกำหนดรู้ทุกข์ จะนำไปสู่การระลึกถึงทุกข์ เช่น เวลาที่เราเจริญปัญญา เราต้องหมั่นพิจารณากันอยู่เรื่อยๆ ว่า “เราเกิดมาแล้วย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ ล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้ ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ ล่วงพ้นการพลัดพรากจากกันไปไม่ได้” ถ้าเราระลึกอยู่เรื่อยๆ ก็แสดงว่าเรากำลังเจริญกิจในข้อที่ ๑ คือ “ทุกข์ต้องกำหนดรู้” เราต้องรู้ว่าอะไรคือความทุกข์ของพวกเรา ความทุกข์ของพวกเราคือการเกิดนี่เอง เพราะเมื่อเกิดแล้ว ก็จะมีการแก่ การเจ็บ การตาย การสูญเสีย การพลัดพรากตามมา พอเกิดการแก่ การเจ็บ การตาย การสูญเสีย การพลัดพรากตามมา ก็เกิดการร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจกันตามมานั่นเอง นี่แหละคือ “ทุกข์” ที่พวกเราไม่อยากจะคิดถึงมันกัน ไม่อยากจะให้มันเข้ามาหาเรา แต่อยากหรือไม่อยากเราหนีมันไม่พ้น เมื่อมีเกิดแล้วมันจะมีแก่มีเจ็บมีตายตามมา มีการสูญเสีย มีการพลัดพรากจากกันตามมาอย่างแน่นอน
 
ถ้าเราไม่ระลึกมันจะทำให้เราทุกข์มากเวลาที่เราจะต้องเจอกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ต้องเจอกับการพลัดพรากจากกัน กับการสูญเสียสิ่งต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ ไป แต่ถ้าเราระลึกรู้อยู่เรื่อยๆ เราจะได้มาเตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์นั้น วิธีรับกับเหตุการณ์นั้นก็คือต้องละตัณหาความอยาก ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เราทุกข์กัน ความจริงแล้วความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ มันไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ เพราะมีบุคคลที่ไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ทุกข์กับการพลัดพรากจากกัน บุคคลที่สิ้นกิเลสคือพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ทุกข์กับการสูญเสีย ไม่ทุกข์กับการพลัดพรากจากกัน เพราะท่านสามารถละตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้วนั่นเอง ตัณหาที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เมื่อไม่มีต้นเหตุของความทุกข์ ทุกข์ก็เกิดไม่ได้นั่นเอง
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา