5 ส.ค. 2020 เวลา 07:09 • ไลฟ์สไตล์
บ้านโครงสร้างเหล็ก
คราวที่แล้ว พูดถึงการเอาตู้คอนเทนเนอร์มาทำเป็นบ้านไปแล้ว
ครั้งนี้จะขอพูดถึงบ้านอีกรูปแบบหนึ่งที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเหล็กเช่นกัน นั่นคือ
บ้านโครงสร้างเหล็ก
Cr. : Dsign something
ซึ่งบ้านโครงสร้างเหล็กนั้นกำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย เนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยและใช้เวลาก่อสร้างที่รวดเร็วกว่าบ้านปูน
เรามาดูกันนะครับว่า 6 ข้อที่ต้องรู้ในการทำบ้านโครงสร้างเหล็กนั้นมีอะไรบ้าง ?
1.บ้านโครงสร้างเหล็กใช้เหล็กอะไร ?
เหล็กที่นำมาใช้ในส่วนโครงสร้างหลักที่สำคัญของบ้านเช่น เสา คาน  ควรเป็นเหล็กรูปพรรณ (เหล็กที่ผลิตออกมาเป็นหน้าตาต่างๆ)  ซึ่งผลิตด้วยวิธีการรีดร้อน(Hot Rolled) ที่เรามักจะเรียกรวมๆว่าคานเหล็กไอบีม
เหล็กพวกนี้คือเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีหลอมขึ้นรูปให้เป็นรูปร่างต่างๆ ทั้งรูปตัว I (ไอ)  ตัวเอช (H) หรือเป็นท่อกลม เป็นรูป C คล้ายรางน้ำ
ซึ่งเหล็กชนิดนี้จะมีความแข็งแรงมาก เหมาะสำหรับใช้ทำโครงสร้างอาคาร
และถ้าให้สบายใจที่สุดในเวลาใช้ ก็คือ ต้องระบุและสังเกตว่า เหล็กที่ผู้รับเหมานำมาใช้ในได้ มอก.หรือไม่
1
ยังมีเหล็กรูปพรรณที่ใช้ในการก่อสร้างอีกชนิดหนึ่ง คือเหล็กไลท์เกจ (Light gage) เป็นเหล็กรีดเย็น (Cold formed structural steel sections)
คือการเอาเหล็กแผ่นมาพับขึ้นรูป มีหลายรูปร่างคล้ายเหล็กรีดร้อน แต่ความหนาและความแข็งแรงจะน้อยกว่าเหล็กรีดร้อน
ในงานก่อสร้างมักจะเอาเหล็กไลท์เกจพวกนี้ไปใช้ในจุดที่รับน้ำหนักไม่มาก เช่นพวกโครงผนังเบา ราวบันได ระแนงกันแดด โครงย่อยของโครงหลังคา เป็นต้น
ดังนั้นเจ้าของบ้านต้องเช็คดูให้ดีว่า ส่วนไหนคือเหล็กโครงสร้างหลักที่ต้องเน้นความแข็งแรง ส่วนไหนเป็นแค่โครงย่อยนะครับ
Cr. : pinterest
2.ราคาของบ้านโครงสร้างเหล็ก
ในเรื่องของค่าวัสดุ โครงสร้างเหล็กจะมีราคาสูงกว่าบ้านปูนก่ออิฐทั่วไป
แต่ในเรื่องของค่าแรงนั้นจะน้อยกว่าเพราะงานเหล็กเป็นรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป การยกท่อนเหล็กมาประกอบติดตั้งจะใช้เวลาน้อยกว่าการหล่อและเทคอนกรีต
Cr. : บ้านไอเดีย
เมื่อสรุปรวมแล้ว ราคาของบ้านโครงสร้างเหล็กจะสูงกว่าบ้านปูนทั่วไป 10 -15 %
แต่ช้าก่อนครับ
อย่าลืมว่า บ้านโครงสร้างเหล็กนั้น เราสามารถถอนรื้อแล้วเอาเหล็กไปขายต่อหรือไปใช้ต่อได้
ซึ่งถ้าคิดในแง่นี้ บ้านโครงสร้างเหล็กก็จะมีราคาที่ไม่แตกต่างจากบ้านปูนทั่วไป
3.ความแข็งแรง
เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงนะครับ เพราะถ้าทำตามมาตรฐานการออกแบบที่ถูกวิธี ถูกหลักวิชา โครงสร้างเหล็กก็แข็งแรงเหมือนโครงสร้างคอนกรีต โดยที่สามารถทำขนาดของโครงสร้างได้เล็กกว่าโครงสร้างคอนกรีตด้วย
อย่างตึกสูงมากๆหลายตึกในโลกก็สร้างโดยใช้โครงสร้างเหล็ก  เพราะจะช่วยประหยัดพื้นที่ที่ต้องเสียไปให้กับขนาดโครงสร้าง
Cr. : Hongji shunda
แต่บางครั้งที่เราเข้าไปในบ้านโครงสร้างเหล็กแล้วมันรู้สึกเหมือนพื้นบ้านมันกระเด้งนิดๆ นั่นอาจจะเป็นเพราะ เหล็กเป็นวัสดุที่มีลักษณะไม่แข็งตัวเหมือนคอนกรีต ทำให้บางครั้งอาจมีการสั่นตัวได้บ้างแต่ก็ไม่มีผลในเรื่องความแข็งแรง (ในกรณีที่วิศวกรคำนวนไว้ถูกต้องนะครับ)
4.ข้อจำกัดในการก่อสร้างบ้านโครงสร้างเหล็ก
เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุกึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตสำเร็จแล้ว  ดังนั้นเมื่อนำมาใช้คือการประกอบให้เป็นรูปร่าง จึงต้องรู้ในคุณสมบัติทั่วไป เช่น เหล็กที่ขายในท้องตลาดไม่ว่าจะเป็นเสาหรือคานหน้าตาอย่างไร ก็จะมีความยาว 6 เมตร (ดังนั้นโครงสร้างเหล็กส่วนมากจะมีระยะของบ้าน ไม่ว่าช่วงกว้าง ยาว หรือสูง จะเป็นระยะที่หาร 6 ลงตัว เพื่อให้เหลือเศษเหล็กที่ทิ้งน้อยที่สุด)
น้ำหนักของเหล็กก็มีผลนะครับ เพราะถ้าคนงานไม่มีอุปกรณ์ยกก็ยกประกอบติดตั้งไม่ได้
รวมไปถึง ต้องรู้ว่า เหล็กที่ดูเหมือนกลัวน้ำ กลัวสนิมแต่ไม่กลัวไฟนั้น จริงๆแล้วก็ไม่ทนไฟ ก็คือ ถ้าเกิดอัคคีภัยกับโครงสร้างเหล็ก เหล็กอาจจะอ่อนตัวเสียกำลังและอาจจะถล่มลงมาได้
ดังนั้น เมื่อจะใช้โครงสร้างเหล็ก นอกจากจะต้องคิดเรื่องการทาสีกันสนิมแล้ว จะต้องมีการหุ้มโครงสร้างด้วยวัสดุทนไฟ หรือทาสีที่มีสารกันไฟอีกชั้นด้วย
สารทากันไฟ ทั้งแบบพ่นเคลือบ และแบบเป็นสีทา Cr. : Promat / IndiaMART
5.วิธีการก่อสร้าง
อย่างที่บอกว่า เหล็กมาเป็นท่อน จะใช้ก็คือการประกอบ ดังนั้นจุดที่ต้องดูให้ดีก็คือ รอยต่อของเหล็ก ซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบ 3 สไตล์ คือ
- การเชื่อม (Welding)
แบบนี้จะดูเนี๊ยบ สวย แต่ จุดที่ต้องระวังคือ ในจุดที่เข้าไปตรวจสอบได้ยาก ว่าช่างเหล็กจะเชื่อมรอยต่อได้ดีแค่ไหน
- การยึดด้วยหมุดยึด (Rivet)
คือเหล็กที่ใช้จะเจาะรูมาจากโรงงาน และมายึดด้วยหมุดที่จะตอกยึดแน่น
ยกตัวอย่างแล้วเห็นภาพเลยคือ หมุดที่ตอกอยู่บนสะพานพุทธน่ะนะครับ
- การยึดด้วยน๊อต (Bolt & Nut)
ก็เหมือนการยึดด้วยหมุดตอก แต่สามารถคลายน๊อตถอดประกอบได้ ซึ่งข้อดีคือ เอาเหล็กไปใช้งานที่อื่นได้ ข้อเสียก็คือ น๊อตมันอาจคลายเองก็ได้นะ
Cr. : Constructionmanagermagazine.com
ซึ่งถ้าเป็นแบบที่ละเอียด วิศวกรจะกำหนดลงมาในแบบเลยว่า รอยเชื่อมจะเป็นอย่างไร ใหญ่เล็กยาวถี่แค่ไหน หมุดหรือน๊อตมีขนาดเท่าไร
ส่วนเจ้าของชอบลุคแบบไหน มีความต้องการยังไงก็บอกผู้ออกแบบไปว่าจะขอเลือกใช้แบบนั้น
แต่ให้ข้อสังเกตนิดนึงนะครับว่า การยึดด้วยหมุดและน๊อต ช่างต้องทำงานเป๊ะจริงๆ ลองนึกภาพสิครับ เอาเครนยกคานเหล็กที่เจาะรูไว้ทั้งสองตัวมาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อร้อยน๊อต แต่ร้อยน๊อตไม่ได้ เพราะรูที่เจาะไว้เหลื่อมกันอยู่
แหม ! มันน่าเรียกช่างมาเขกหัวจริงๆ
6.องค์ประกอบอื่นๆของอาคาร
การใช้โครงสร้างหลักเป็นเหล็กนั้น เราสามารถใช้องค์ประกอบอื่นๆของบ้านได้เหมือนบ้านปูนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผนังเบาหรือผนังก่ออิฐ ประตูหน้าต่าง ฝ้าเพดาน หลังคา รวมไปถึงตัวพื้น(ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคาร)ก็สามารถใช้แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปมาวางบนคานเหล็กได้เหมือนบ้านทั่วไป
การเทปูนบนโครงสร้างเหล็ก Cr. : pinterset
สิ่งที่ต้องดูให้รอบคอบก็คือ รอยต่อระหว่างวัสดุเหล็กกับวัสดุอื่นๆว่าจะยึดและปิดร่องรอยกันอย่างไรให้เรียบร้อย
Cr. : Conexao Decor
ครับ คงจะพอเห็นภาพกว้างๆของโครงสร้างเหล็ก ซึ่งเรื่องนี้ถ้าเรียนกันในมหาวิทยาลัยก็จะใช้เวลาเรียนเป็นวิชาหนึ่งเลยทีเดียว
เพราะมีรายละเอียดในการออกแบบกันอีกเยอะ
ส่วนสำหรับคนทั่วไป บ้านโครงสร้างเหล็กก็เป็นบ้านอีกรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว ใครที่ชอบแนวอินดัสเทรียลดีไซน์ก็น่าจะลองศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมกันดูนะครับ
ขอให้มีความสุขกับการอยู่อาศัยนะครับ
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา