5 ส.ค. 2020 เวลา 08:20
“เลบานอน” ความศิวิไลแห่งตะวันออกลางที่กำลังล่มสลาย
แม้แต่ผ้าอนามัยยังแทบไม่มีเงินจะซื้อ
เหตุการณ์ระเบิดรุนแรงในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ทำให้ชื่อของประเทศนี้กลายมาเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยอีกครั้ง หลายคนคงจะทราบเพียงคราวๆ ว่า ประเทศนี้เป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในแถบภูมิภาคตะวันออกกลาง พอสืบค้นภาพจาก Google ก็จะเห็นรูปสวยๆ ของอาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่สวยงามและทันสมัยในกรุงเบรุต แต่ข้อมูลในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอาจจะยังไม่มีใครทราบว่า ประเทศแห่งนี้คือหนึ่งในประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ
เลบานอน ประเทศเล็กๆ ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียที่มีพรมแดนติดกับประเทศซีเรีย และอิสราเอล มีประชากรราว 6.8 ล้านคน ซึ่งเมืองหลวงก็คือกรุงเบรุต ที่อดีตเคยได้รับสมญานามว่าเป็น “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง” เพราะมีความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมจากยุคสมัยที่ฝรั่งเศสเคยปกครองในฐานะเจ้าอาณานิคม รวมทั้งยังเคยเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นในแถบนี้อีกด้วย
เลบานอนไม่เคยบอกตัวเองว่าเป็นชาวอาหรับแม้จะอยู่ในภูมิภาคนี้ที่รายล้อมไปด้วยประเทศที่เป็นชาติอาหรับก็ตาม เพราะวิถีชีวิตมีความเป็นชาวตะวันตกสูง และสัดส่วนของผู้นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ก็ใกล้เคียงกันคือ อิสลาม 54% คริสต์ 40% ดังนั้นจึงไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบอาหรับชัดเจนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก
ในช่วงระหว่างปี 2007 – 2010 เศรษฐกิจของเลบานอนมีอัตราการเติบโตที่สูงเฉลี่ย 9.1% นับว่าเป็นประเทศที่มี GPD เติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลทำให้รายได้ประชาชาติในตอนนั้นพุ่งสูงขึ้นมาสู่ระดับ 260,200 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่ารายได้ต่อหัวเฉลี่ยรายปีของคนไทยเล็กน้อย
ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ การเงิน โทรคมนาคม และปิโตรเลียม คือรายได้หลักที่สร้างเม็ดเงินมาหาศาลให้กับประเทศเฉลี่ยแล้วก็ราว 1.17 ล้านล้านบาทต่อปี อีกทั้งเลบานอนยังเป็นจุดหมายปลายทางในการพักผ่อนตากอากาศของชาวยุโรปที่เลือกบินมาพักผ่อนที่นี่
แต่แล้วความรุ่งโรจน์ของเลบานอนก็สะดุดลง เมื่อเกิดสงครามในประเทศซีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันทางภาคตะวันออกในปี 2011 ผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นสั่นสะเทือนมาถึงเลบานอน เพราะมันเกิดกับพื้นที่สำคัญของประเทศซีเรียซึ่งก็คือเมืองหลวงอย่างกรุงดามัสกัสที่ตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนของเลบานอนเพียง 100 กิโลเมตรเท่านั้น
สงครามกลางเมืองในซีเรียกระทบต่อเศรษฐกิจของเลบานอนเข้าอย่างจัง จากเมืองที่เคยมีอัตราการเติบโต 9% ร่วงลงไปเหลือเพียงแค่ 1.5-1.7% ในช่วงปี 2011 – 2017 และนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญก็หายไปจากเลบานอนมากกว่า 1 ล้านคน
ความผิดพลาดที่รัฐบาลเลบานอนทำก็คือ การกระโดดเข้าร่วมทำสงครามในซีเรีย ซึ่งเหมือนเป็นการชักศึกเข้าบ้านตัวเอง เพราะทำให้เลบานอนกลายเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายทันที เนื่องจากสงครามในซีเรียนั้นเริ่มต้นมาจากกระแสอาหรับสปริงเพื่อขับไล่ผู้นำเผด็จการอย่าง ประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด ที่มีการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงไร้ความปราณี จนทำบ้านเมืองพังพินาศวอดวาย เปิดช่องให้กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงเข้าแทรกแซงสงคราม จนเกิดเป็นสงครามต่างนิกายระหว่างกลุ่มชีอะฮ์ และกลุ่มกบฏซุนนี พัวพันไปด้วยกลุ่มไอเอส ซึ่งก็ตีกันอีรุงตุงนัง จนบัดนี้สงครามก็ยังไม่สงบ
1
เมื่อเลบานอนกระโดดร่วงวงสงครามทำให้กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลซีเรียก็มองเลบานอนเป็นศัตรูทันที เพราะถือว่าเข้ามาร่วมสงครามเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ทีนี้เลาบานอนก็ไม่สงบสุขอีกต่อไป เพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามมาก็มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในประเทศทั้งแถบชายแดน และในเมืองหลวงอย่างกรุงเบรุต
สงครามและปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำได้เริ่มกัดกินภายในเลบานอน รายได้ของประเทศไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินจากงบประมาณที่ขาดดุลติดต่อกันหลายปีมากถึง -11% ในปี 2018 ส่งผลให้เลบานอนต้องไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่เรารู้จักกันดี "กองทุนการเงินระหว่างประเทศ" หรือ IMF เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้เลบานอนมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึง 155% ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
ในปี 2019 เลบานอนมีหนี้สินสะสมกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่สามารถชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ จึงต้องอยู่ในสภาพผิดนัด การเจรจาขอกู้จากไอเอ็มเอฟยังไม่ได้ผลสรุปเพราะการระบาดของไวรัสโควิด – 19
รัฐบาลเลบานอนก็คงคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรที่จะหาเงินมาใช้จ่ายและใช้หนี้ได้ เพราะจะไปกู้เงินอีกก็คงไม่มีใครให้กู้แล้ว เนื่องจากหนี้สินทะลุเพดานไปไกลและหาเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้ไม่ได้ ทางเดียวที่ทำได้จากภายในก็คือการขึ้นภาษี
ภาษีหลายรายการถูกเก็บเพิ่มขึ้นทั้งภาษีเหล้า บุหรี่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโรงเรือน รวมทั้งการเก็บภาษีการใช้สัญญาโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดีย พูดง่ายๆ ก็คือใครที่เล่น Line WhatApp Facebook จะโดนเก็บภาษีวันละ 6 บาท
1
ซึ่งพอเจอภาษีโซเชียลมีเดียเข้าไปคราวนี้ประชาชนก็ไม่ทนออกมาประท้วงรุนแรงกลางเมือง เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาดดำดิ่งไปสู่ทิศทางแห่งการล่มสลาย
ทุกวันนี้โครงสร้างพื้นฐานในประเทศเลบานอนอยู่ในภาวะเสื่อมถอยอย่างหนัก ไฟฟ้า น้ำประปา และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ติดๆ ดับๆ ไหลๆ หยุดๆ แม้แต่ในกรุงเบรุตเมืองหลวงของประเทศ ธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ ทั้งร้านอาหาร โรงแรม ผับบาร์ คาเฟ่ ต่างก็ปิดกิจการล้มหายตายจากไป เพราะไม่มีใครจะออกมาใช้จ่ายเงิน
ค่าเงินปอนด์เลบานอนร่วงลงไปกว่า 85% ทำให้มูลค่าของเงินแทบไม่ต่างอะไรกับกระดาษ เกิดธุรกิจซื้อขายเงินดอลลาร์ในตลาดมืดในอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมาก เพราะแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ประชาชนก็ไม่อยากเอาเงินไปฝาก ยิ่งเอาเงินไปแลกแล้วไม่ต้องหวัง เพราะธนาคารก็ไม่มีเงินสกุลต่างชาติให้แลกเช่นกัน
อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การซื้อสินค้าเพื่อการดำรงชีพสักชิ้นยังเป็นเรื่องยาก แค่จะซื้อผ้าอนามัยสักห่ออาจต้องใช้เงินนับพันปอนด์ จากเดิมแค่ไม่กี่สิบปอนด์ หรือหนักกว่าก็คือต้องหาของมาแลกของแทน
อีกทั้งการคอรัปชั่นในรัฐบาลที่สูงยิ่งทำให้อนาคตของเลบานอนยังคงมืดมัว ซึ่งเลบานอนเป็นประเทศที่มีอัตราการคอรัปชั่นสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ใกล้เคียงกับประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ เช่น ปาปัวนิวกินี ยูกันดา และบังกลาเทศ
หลังจากเกิดเหตุระเบิดนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการซ้ำเติมเลบานอนอย่างหนัก เพราะท่าเรือหลักของประเทศก็มีเพียงท่าเรือเบรุตที่คอยรับ – ส่งสินค้าเข้าออกประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจไม่กี่อย่างที่เหลืออยู่
ไม่มีใครคาดคิดว่าประเทศที่เคยเป็นเหมือนกับดินแดนแห่งความเริศหรูในตะวันออกกลาง เมืองหลวงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาของภูมิภาคว่าทันสมัย สวยงาม และคุณภาพชีวิตดีจนมีไลฟ์สไตล์ที่น่าอิจฉา ชิคๆ คูลๆ แพงๆ ที่สุดแห่งหนึ่ง จะตกต่ำไปเพียงนี้ แต่มันเกิดขึ้นแล้วในเลบานอน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเลบานอนจะกลับมาเป็นดินแดนสวรรค์แห่งเมดิเตอร์เรเนียได้อีกครั้งหรือไม่
โฆษณา