5 ส.ค. 2020 เวลา 10:30 • ข่าว
เจาะลึกที่มา "แอมโมเนียมไนเตรท" วัตถุอันตราย ต้นเหตุระเบิดถล่มกรุงเบรุตจนราบคาบ
เหตุระเบิดเลบานอนถูกระบุว่าตัวการคือ "แอมโมเนียมไนเตรท" 2,750 ตัน ความแรงเทียบเท่า "TNT" 3,000 ตัน แม้ในทางการเกษตร สารเคมีนี้จะถูกผลิตเป็นปุ๋ย แต่ที่ผ่านมาก็มักถูกนำไปทำอาวุธร้ายแรงโจมตีทั่วโลก
ทางการเลบานอนระบุว่า เหตุระเบิดโกดังที่ท่าเรืออ่าวเซนต์ จอร์จ ในกรุงเบรุต เมื่อเย็นวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เป็นระเบิดแอมโมเนียมไนเตรท โดยนายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดิอับ ระบุว่า มีแอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตันที่เคยถูกตรวจยึดมาได้ ถูกเก็บอยู่ในโกดังแห่งนี้มาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว
สอดคล้องกับรายงานข่าวที่ระบุว่า เคยมีเรือบรรทุกสารเคมีปริมาณเท่านี้มาขนถ่ายของลงที่ท่าเรือแห่งนี้ เมื่อปี 2556 พร้อมระบุว่า ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดรุนแรงในกรุงเบรุต จะต้องถูกนำตัวมาสู่กระบวนการยุติธรรม แม้ทางการเลบานอนยังไม่ได้สรุปว่า เป็นอุบัติเหตุหรือการถูกโจมตี และใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีกลุ่มใดออกมายอมรับว่าลงมือก่อเหตุ แต่สาเหตุนั้นชัดเจนว่าเกิดจากแอมโมเนียมไนเตรท
- แอมโมเนียมไนเตรท คืออะไร
แอมโมเนียมไนเตรท เป็นสารเคมีประกอบ ระหว่างแอมโมเนียกับกรดไนตริก ออกมาเป็นผลึกใสไร้กลิ่น ในรูปแบบของปุ๋ย ประกอบด้วยไนโตรเจนสูง นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมามีการนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทมาใช้เป็นวัตถุดิบผสมกับเชื้อเพลิงทำเป็นระเบิดมานานแล้ว เพราะเป็นระเบิดที่ใช้งานง่าย และราคาถูก จึงนิยมใช้ในการระเบิดเหมืองถ่านหิน ทำเหมืองหิน และเหมืองแร่โลหะ และเคยถูกนำไปใช้ทำระเบิดเพื่อก่อการร้าย เริ่มครั้งแรกที่สหรัฐฯ ในปี 2513 ปัจจุบันประเทศในแถบตะวันออกกลาง อย่างอัฟกานิสถาน ก็ยังนิยมทำและใช้อยู่
เกเบรียล ดา วิลวา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ในออสเตรเลีย เปิดเผยว่า เมื่อดูจากการระเบิดที่เบรุต จะเห็นได้ว่าการระเบิดเกิดขึ้น 2 ระลอก โดยลูกแรกเป็นลูกไฟสีแดงสดปะทุออกมา แม้ยังไม่รุนแรงมาก แต่ก็ทำให้ชาวเบรุตหยิบโทรศัพท์มือถือจำนวนมากมาถ่ายรูป และต่อมาเกิดการระเบิดที่รุนแรงตามมา นั่นเป็นเพราะไนโตรเจนเกิดการออกซิไดซ์ แม้สารเคมีตัวนี้จะไม่ใช่วัตถุระเบิดโดยตรง แต่เมื่อเกิดการออกซิไดซ์ โดยเจอกับออกซิเจนในอากาศและมีประกายไฟ ก็จะเกิดการระเบิด ทำให้เกิดคลื่นสั่นสะเทือน (shock wave) และคลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ดังสนั่น
- เคยถูกนำไปใช้เป็นอาวุธโจมตีในอดีต
ในอดีตที่ผ่านมา แอมโมเนียมไนเตรท เคยถูกผู้ก่อการร้ายนำไปใช้เป็นอาวุธโจมตีหลายครั้ง โดยเมื่อปี 2538 กลุ่มตาลีบัน นำแอมโมเนียมไนเตรทไปผสมกับน้ำมันดีเซล และสารประกอบเคมีอื่นๆ แล้วนำไปโจมตีอาคารรัฐบาลกลางเมืองโอกลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 168 ศพ บาดเจ็บหลายร้อยราย
และต่อมาในปี 2544 ก็ได้เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานเคมี ในเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส คร่าชีวิตประชาชน 31 ศพ ตำรวจพบว่ามีต้นตอมาจากสารแอมโมเนียมไนเตรท 2,300 ตัน และต่อมาเกิดเหตุระเบิดที่โรงงานปุ๋ยในรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ เมื่อปี 2556 คร่าชีวิตประชาชน 15 ศพ โดยในครั้งนั้นศาลพิพากษาว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา
- เก็บไม่ดีกลายเป็นหายนะร้ายแรง
นายกรัฐมนตรีของเบรุตยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดในการเก็บวัตถุแอมโมเนียมไนเตรทไม่ถูกต้อง ระหว่างรอการขนส่งต่อไปแอฟริกา จนเกิดการระเบิดขึ้นมา โดยในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุระเบิดที่ท่าเรือเมืองเทกซัส เมื่อปี 2517 และพบว่าเกิดจากแอมโมเนียมไนเตรท 2,300 ตัน ที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง เหตุระเบิดครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 500 ศพ เกิดระลอกคลื่นสูงกว่า 4.5 เมตร
นอกจากนี้ แอมโมเนียมไนเตรท ยังเป็นสาเหตุการเกิดระเบิดรุนแรงที่โกดัง ท่าเรือเมืองเทียนจินของจีน เมื่อปี 2558 คร่าชีวิตประชาชนไป 173 ศพ ท่าเรือเทียนจินได้รับความเสียหายไปกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (31,000 ล้านบาท)
ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเบรุต เตือนประชาชนที่อยู่อาศัยในกรุงเบรุตให้ระวังก๊าซพิษที่ฟุ้งกระจายออกมาหลังการระเบิด โดยขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย หาผ้าปิดปาก จมูก และอยู่แต่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย.
: ข่าวต่างประเทศ-ไทยรัฐออนไลน์
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา