5 ส.ค. 2020 เวลา 12:28 • ความคิดเห็น
เบรุตห่างไกลความสงบ
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
https://www.middleeasteye.net/news/lebanon-beirut-massive-unexplained-explosion-rocks
14 กุมภาพันธ์ 2548 เกิดคาร์บอมบ์ที่กรุงเบรุต เลบานอน ทำให้นายกรัฐมนตรีรอฟิก ฮารีรี และผู้บริสุทธิ์อีก 22 คนเสียชีวิต
ทันทีที่เกิดระเบิด ผมและลูกชายคนโต คือนายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย เร่งเดินทางไปจอร์แดน นั่งรถเข้าซีเรียและไปที่ชายแดนของเลบานอนทันที
7 สิงหาคม 2563 มะรืนนี้ คณะตุลาการศาลพิเศษของสหประชาชาติที่กรุงเฮกมีกำหนดอ่านคำพิพากษาผู้ต้องสงสัยในคดีคาร์บอมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2548
อัยการเชื่อว่าคดีนี้เกี่ยวกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
https://www.washingtonpost.com/world/powerful-explosion-rocks-downtown-beirut/2013/12/27/bcdf6f9c-6ecc-11e3-b405-7e360f7e9fd2_story.html
การตัดสินของศาลพิเศษไม่มีจำเลยมาร่วมฟังเพราะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ไม่ยอมส่งตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คนไปเนเธอร์แลนด์
4 สิงหาคม 2563 ก่อนหน้าการอ่านคำพิพากษาของศาลพิเศษของสหประชาชาติ 3 วัน เกิดระเบิดที่บริเวณท่าเรือกรุงเบรุต
ชั่วแว้บแป้บเดียว ควันที่พวยพุ่งยังไม่ทันจาง ห่างกันเพียง 8 นาที ก็เกิดระเบิดลูกที่ 2
แรงอัดจากระเบิดทำให้โลกตะลึงกับอานุภาพร้ายแรงของระเบิดขนาดยักษ์ รัศมีทำลายล้างเป็นวงกว้างถึง 10 กิโลเมตร สื่อต่างๆ แพร่ภาพอาคารสถานที่บริเวณท่าเรือกรุงเบรุตซึ่งราบเป็นหน้ากลอง ซากปรักหักพังเกลื่อนกลาดดาษดื่น
ขณะที่ผมเขียนรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพอยู่นี้ มีผู้บาดเจ็บกว่าครึ่งหมื่นและมีผู้เสียชีวิตเกิน 100 คน มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 2.5 แสนคน
ผู้คนจำนวนไม่น้อยนึกย้อนภาพถึงวันที่มีคาร์บอมสังหารนายฮารีรี เพราะบริเวณที่เกิดเหตุลอบสังหารอยู่ใกล้กับสถานที่เกิดระเบิดล่าสุดในกรุงเบรุต
ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานโยงถึงการก่อการร้าย
ทางการเลบานอนสันนิษฐานว่า 1 ในหลายสาเหตุว่าเกิดจากสารแอมโมเนียไนเตรต 2,750 ตันที่ถูกเก็บอยู่ในโกดังของท่าเรือเบรุตเกิดระเบิดขึ้น
กรุงเบรุตเป็นเมืองหลวงและเมืองท่าที่สำคัญของสาธารณรัฐเลบานอน ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตรงบริเวณอ่าวเซนต์จอร์จ เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน
สมัยสงครามครูเสด อาหรับยึดครองซีเรียเมื่อ พ.ศ. 1178 เบรุตก็กลายเป็นเป้าหมายของการแย่งชิงระหว่างพวกครูเสดกับพวกมุสลิม จน พ.ศ.1834 ชาวมุสลิมขับไล่พวกครูเสดออกไปได้ เบรุตก็อยู่ใต้การปกครองของมุสลิมอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.2059 จักรวรรดิออตโตมันขยายอำนาจมายังซีเรีย อิรัก และอียิปต์ ช่วงนั้นเองที่เบรุตตกเป็นของจักรวรรดิออตโตมัน จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมันเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ดินแดนของจักรวรรดิฯ ถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วนตามข้อตกลงซานเรโม พ.ศ. 2463 ซึ่งฝรั่งเศสได้ปกครองซีเรียซึ่งรวมดินแดนเลบานอนอยู่ด้วย
จากนั้น ฝรั่งเศสได้แยกเลบานอนออกจากซีเรีย แล้วตั้งเบรุตเป็นเมืองหลวงของเลบานอน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวมาโรไนต์ซึ่งสนับสนุนฝรั่งเศสขึ้นมามีบทบาททางการเมืองภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส กระทั่งฝรั่งเศสถอนกำลังและเลบานอนได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2489
เบรุตเป็นนครที่มีความหลากหลายของผู้คนหลากศาสนาและความเชื่อ และมีความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมนิกายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งพ.ศ. 2517-2519 ก็เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ในกรุงเบรุต โดยมีประเทศซีเรียสนับสนุนฝ่ายมุสลิม ส่วนฝ่ายคริสต์สนับสนุนโดยอิสราเอล แถมยังมีกองกำลังปลดปล่อยปาเลสไตน์และชาวอิหร่านหัวรุนแรงที่เข้ามาช่วยฝ่ายมุสลิมยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป
https://www.icrc.org/en/document/lebanon-icrc-and-lebanese-red-cross-action-during-periods-war-lebanon-1975-2015
ในที่สุด กรุงเบรุตต้องถูกแบ่งเป็น 2 เขต คือ เขตชาวคริสต์ทางตะวันออก และเขตชาวมุสลิมทางตะวันตก
จากนั้นก็มีการสู้รบกันเรื่อยมา ทำให้เขตเมืองเก่าถูกทำลาย และกิจการต่างๆ ต้องย้ายออกไป เบรุตกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในเวลาต่อมา
หลังสิ้นสุดสงครามเมื่อ พ.ศ.2533 เบรุตสงบ ตัวเมืองได้รับการฟื้นฟูให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง
https://www.foreignpolicyjournal.com/2015/11/23/there-is-hope-lebanons-protests-and-the-future-of-the-anti-corruption-movement/
จนกระทั่ง พ.ศ.2548 อดีตนายกฯ ฮารีรี ถูกคาร์บอมลอบสังหาร เบรุตก็กลับเข้าสู่ความขัดแย้งและเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีก เป็นวัฏจักรวนเวียนไม่จบสิ้น
ระเบิด 2 ระลอกอาจจะเป็นเพียงอุบัติเหตุ
แต่เบรุตจะสงบหรือวุ่นวายอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาในวันมะรืนนี้ครับ.
โฆษณา