5 ส.ค. 2020 เวลา 12:50 • กีฬา
แชมป์เอฟเอคัพ แต่อันดับในลีกย่ำแย่ที่สุดในรอบ 25 ปี เกิดอะไรขึ้นกับอาร์เซน่อลในฤดูกาลนี้ วิเคราะห์บอลจริงจัง รีวิวสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปีให้อ่าน
[ รีวิวฤดูกาล 2019-20 : อาร์เซน่อล ]
ในโลกนี้จะมีสักกี่คนบนโลก ที่เอาชนะได้ทั้ง ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี และโคโรน่าไวรัส ได้พร้อมกัน
คิดว่าน่าจะมีคนเดียวเท่านั้น นั่นคือมิเกล อาร์เตต้า เฮดโค้ชของอาร์เซน่อล
ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2019 อาร์เตต้าตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้ช่วยของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า งานที่เพลย์เซฟสุดๆที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ย้ายมารับตำแหน่งเฮดโค้ชเต็มตัวกับอาร์เซน่อล ซึ่งเป็นเผือกร้อนที่ไม่มีใครคิดอยากจะรับ
ทำไมเป็นเผือกร้อน? เพราะอาร์เซน่อลมีปัญหาภายในเยอะเกินไป นักเตะในทีมก็มีคุณภาพด้อยกว่ากลุ่มทีมใหญ่อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้นคนที่คิดจะมาคุมทีม จะโดน "คอนโทรล" อีกหนึ่งชั้นจากผู้บริหาร ซึ่งการทำงานมันไม่ได้สะดวกราบรื่นเหมือนสโมสรอื่น
ทีมอื่น ตำแหน่งนี้ จะใช้คำว่า Manager หรือผู้จัดการทีม แต่อาร์เซน่อลจะใช้คำว่า Head Coach เท่านั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้คนที่มารับงานได้รู้ว่า ตำแหน่งของตัวเองคือโค้ชฟุตบอลนะ อย่าได้ข้องเกี่ยวกับงานบริหารเด็ดขาด
ด้วยเงื่อนไขที่ยากแบบนี้ ว่ากันแฟร์ๆ โค้ชที่มารับงานมีโอกาสเอาชื่อมาทิ้ง มากกว่าที่จะประสบความสำเร็จแบบเป็นชิ้นเป็นอัน
แต่อาร์เตต้าก็ยังพกความกล้ามากอบกู้ทีมเก่าของตัวเอง ส่วนหนึ่งเขาเองก็ต้องมีความมั่นใจประมาณหนึ่งล่ะ จากการเป็นผู้ช่วยกวาร์ดิโอล่ามานานถึง 3 ปี แต่ต่อให้มั่นใจแค่ไหน สิ่งที่เขากำลังจะเจอ ก็ต้องบอกคำเดียวว่า "จัดการยากจริงๆ"
[ ความสับสนในยุคเอเมรี่ ]
อาร์เซน่อลในฤดูกาลนี้ คำอธิบายที่ดีที่สุดคือ "คาดเดาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น"
ทีมปืนใหญ่เป็นทีมที่เปลี่ยนระบบการเล่นบ่อยที่สุดในบรรดา 20 ทีมของพรีเมียร์ลีก โดยใน 38 นัด พวกเขาใช้ระบบการเล่นถึง 7 แผน
นักเตะ 11 ตัวจริง ไม่เคยเดาได้ว่าจะส่งใครลง ใครทายอาร์เซน่อล 11 ตัวจริงถูกเป๊ะได้ นั่นคือเซียนมาก คืออย่างลิเวอร์พูลเราเดาได้เลยว่า แบ็กโฟร์คือใคร สามกองหน้าคือใคร อาจต้องเดามิดฟิลด์สักคน ว่าคล็อปป์จะใช้ใครร่วมกับเฮนเดอร์สันและฟาบินโญ่ แต่กับกรณีของอาร์เซน่อลนั้น เดายากตั้งแต่แผน ไปจนถึงตัวผู้เล่น
ย้อนกลับไปในช่วงซัมเมอร์ ผู้บริหารของอาร์เซน่อล ลังเลว่าจะเอาอย่างไรกับอูไน เอเมรี่ นั่นเพราะทีมจบซีซั่น 2018-19 แบบมือเปล่าก็จริง แต่อันดับในตารางก็ได้ที่ 5 แต้มห่างจากสเปอร์สอันดับ 4 แค่คะแนนเดียวเท่านั้น ส่วนยูฟ่า ยูโรป้าลีก ก็ได้รองแชมป์
ดูรวมๆแล้วไม่น่าเกลียดก็จริง แต่ถ้าลงลึกไปถึงดีเทล อาร์เซน่อลทำแต้มอยู่ท็อปโฟร์หลังจบนัดที่ 33 คือน่าจะจบหนึ่งในสี่แบบแบเบอร์ แต่เอเมรี่กลับทำทีมแพ้รัวๆ จนทีมร่วงไปอยู่อันดับ 5 ได้ นั่นแสดงให้เห็นถึงความไม่เก๋า ขณะที่บอลถ้วยอย่างยูโรป้าลีก ก็แพ้เชลซีกระจุย 4-1 ในนัดชิงแบบสู้กันไม่ได้
มันแสดงให้เห็นว่าเอเมรี่ รับมือกับแรงกดดันได้ไม่ดีเลย แต่ถึงอย่างนั้น ผู้บริหารก็ยังคงไว้ใจให้เอเมรี่อยู่ต่อ ซึ่งเป็นชอยส์ที่พลาดมากๆ
ขณะที่การซื้อตัวในช่วงซัมเมอร์ อาร์เซน่อล ซื้อนักเตะ 6 คนรวมกัน ค่าตัว 143 ล้านปอนด์ ประกอบไปด้วย
- นิโกลาส์ เปเป้ (ลิลล์) : 72 ล้านปอนด์
- วิลเลียม ซาลิบา (แซงต์-เอเตียน) : 27 ล้านปอนด์
- คีแรน เทียร์นี่ (เซลติก) : 25 ล้านปอนด์
- ดาวิด ลุยซ์ (เชลซี) : 8 ล้านปอนด์
- กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ (อิตูอาโน่) : 6 ล้านปอนด์
- ดานี่ เซบายอส (เรอัล มาดริด) : 5 ล้านปอนด์ ค่ายืมตัว
ดูเผินๆ อาร์เซน่อลเหมือนจะใช้เงินมหาศาลเปย์แหลกพอๆกับแมนฯซิตี้ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น สแตน โครเอนเก้ ไม่ได้ควักเงินของตัวเองเลย แต่ใช้วิธี "ผ่อนจ่าย" อย่างเปเป้ ราคา 72 ล้านปอนด์ ก็ผ่อนจ่ายแค่ 20 ล้านก่อนในปีนี้ แม้กระทั่งมาร์ติเนลลี่ ที่ราคา 6 ล้านปอนด์ โครเอนเก้ยังอุตส่าห์ขอผ่อนเป็น 3 ปี ปีละ 2 ล้านปอนด์
นั่นทำให้เอาจริงๆ ซัมเมอร์ 2019-20 อาร์เซน่อลจ่ายเงินสดไปแค่ 46 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งเมื่อหักลบกับตัวที่ปล่อยขายออกไป เช่นอเล็กซ์ อิโวบี้, โลร็องต์ กอสซิแอลนี่ และ ดาวิด ออสปิน่า มันแปลว่าปีนี้ อาร์เซน่อลแทบไม่ได้ใช้เงินซื้อนักเตะสักปอนด์เลย
ถ้ามองในแง่ดี คือโครเอนเก้บริหารการเงินได้อย่างเหนือชั้นมาก คำนวณกำไรขาดทุนเป๊ะๆหมด แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือ นี่ไม่คิดจะควักเงินตัวเองซื้อนักเตะบ้างเลยหรือไง
สำหรับผู้เล่น 6 รายที่คว้ามาใหม่ บางคนก็เล่นใช้ได้ เช่นเซบายอสช่วงแรกๆ หรือ มาร์ติเนลลี่ที่เป็นอนาคตได้ แต่กับคนอื่นก็ยังมีคำถาม เช่นคีแรน เทียร์นี่เจ็บยาวหลายเดือน ไม่รู้ว่าถ้าหายกลับมาจะเล่นดีไหม หรืออย่างดาวิด ลุยซ์ ที่เลยวัยพีกไปแล้ว แฟนบอลอาร์เซน่อลก็ไม่แน่ใจนักว่าซื้อมาร่วมทีม จะมีโทษหรือประโยชน์มากกว่า
จากตัวผู้เล่นที่ซื้อมา ไม่มีใครที่สามารถยกระดับทีมได้แบบก้าวกระโดด นิโกลาส์ เปเป้ อาจจะมีแวว แต่พอเขาออกสตาร์ตไปสัก 2-3 เกมก็พอเห็นได้อยู่ว่า เขาต้องใช้เวลาปรับตัวอีกเยอะ ซึ่งเมื่อทีมคุณภาพเหมือนกับปีก่อน บวกด้วยโค้ชคนเดิม ทำให้อาร์เซน่อล ไม่ได้พัฒนาในทางที่ดีขึ้น
ซีซั่นออกสตาร์ต เอเมรี่เหมือนจะมาดี เมื่อชนะรวดใน 2 เกมแรก แต่หลังจากนั้นก็หมดโปร อาร์เซน่อลกลับมาเล่นแย่อีกครั้ง
พวกเขามีเกมที่แย่มากๆ อย่างเช่นเกมแพ้เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่โดนทีมน้องใหม่สอนบอลจนแพ้ไป 1-0 รวมถึงเกมที่ต้องตีเสมอเซาธ์แฮมป์ตัน (อันดับ 19 ในตาราง ณ เวลานั้น) อย่างกระเสือกกระสนด้วยสกอร์ 2-2 โดยต้องมายิงเอานาที 90+6 ทั้งๆที่เล่นในบ้านตัวเองแท้ๆ
อูไน เอเมรี่ ทำทีมไม่ชนะมา 7 เกมติดต่อกัน คือ ณ เวลานั้นใครก็อยากเจออาร์เซน่อล เพราะรู้ว่ามีโอกาสกินนิ่มแน่ ไม่ใช่แค่ไม่ชนะ แต่ทีมไม่มีทรงอย่างสิ้นเชิง
นักเตะเด่นที่สุดในทีม วินาทีนั้นคือแบรนด์ เลโน่ ที่นับถึงครึ่งฤดูกาลแรก เขาเป็นผู้รักษาประตูที่เซฟลูกยิงของคู่แข่งมากที่สุดในลีก (73 ครั้ง) มากกว่าดูบราฟก้า นายทวารนิวคาสเซิลที่ตามมาอันดับสอง (64 ครั้ง) ซึ่งก็ลองคิดดูละกัน ถ้าคนที่เด่นที่สุดคือนายทวาร มันแปลว่าเกมรับของอาร์เซน่อลอ่อนยวบขนาดไหน
สิ่งที่เห็นชัดคือเอเมรี่หมดสิ้นไอเดียแล้ว และวันที่ 29 พฤศจิกายน อาร์เซน่อลจำเป็นต้องไล่เอเมรี่ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งเฟรดดี้ ลุงเบิร์ก เป็นโค้ชแบบขัดตาทัพ เพื่อ recruit หากุนซือคนใหม่
วันที่เอเมรี่โดนไล่ออก ไม่มีน้ำตาที่เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ตรงกันข้าม ทุกคนด่าผู้บริหารด้วยซ้ำ ที่มาตัดสินใจเอาช้าขนาดนี้
[ ปัญหารุมเร้า ]
คำว่า "คาดเดาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น" กับอาร์เซน่อล ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องในสนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องนอกสนามด้วย พวกเขาสามารถสร้างเรื่องดราม่าได้ตลอด ตัวอย่างเช่น
- ตอนที่ปิแอร์-เอเมริก โอบาเมย็อง ไปสนิทสนมกับช่อง AFTV ที่เป็นช่องแฟนอาร์เซน่อลที่ชอบด่าสโมสรตลอด ก็มีคนวิจารณ์ว่า โอบาเมย็อง ไปสนิทกับคนพวกนี้ แค่จะเอาตัวรอดไม่ให้ตัวเองโดนด่าหรือเปล่า ดราม่ากันเฉยเลย
- เมซุต โอซิล ไม่รู้ว่าทำอะไรผิดถึงโดนดร็อปตลอดในยุคของอูไน เอเมรี่ ทั้งๆที่สภาพร่างกายก็แข็งแรงดี มาซ้อมได้ตามปกติ บอลลีกก็ไม่ได้ลง บอลถ้วยที่เวลาทีมเปลี่ยนยกเซ็ตก็ไม่ได้เล่น
- กรานิต ชาคา ตอนโดนเปลี่ยนตัวในเกมกับพาเลซ เขาโดนแฟนตัวเองโห่ใส่อย่างกึกก้องที่เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม และเขาได้ตอบโต้ด้วยการ เอามือป้องหูเป็นการยั่วให้โห่ดังกว่านี้อีกสิ ซึ่งมันเป็นการตัดความสัมพันธ์กับแฟนอย่างรุนแรง
1
- หัวหน้าทีมแพทย์แกรี่ โอ ดริสคอลล์ ที่เป็นมือต้นๆของแพทย์สายกีฬา ได้รับข้อเสนอจากลิเวอร์พูล และเตรียมย้ายไปประสบความสำเร็จที่เมอร์ซีไซด์
- นักเตะในทีมไม่จริงจังในการซ้อม ไม่ให้เกียรติเฮดโค้ช อย่างอูไน เอเมรี แม้ทุกคนรู้ว่าจะโดนไล่ออกแน่ๆก็เถอะ แต่ในทางมืออาชีพก็ควรทุ่มเทให้โค้ชจนถึงที่สุด จากนั้นพอเฟรดดี้ ลุงเบิร์กมาคุมทีมแบบขัดตาทัพ นักเตะก็ยังเหมือนเดิมคือ "ขาดความจริงจัง" โดยแบรนด์ เลโน่ เคยให้สัมภาษณ์ว่า "เรายังขาดความจริงจัง ในหัวของเรายังไม่ปลอดโปร่ง คุณภาพก็เรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาหลักคือทัศนคติและจิตใจ"
1
เราจะเห็นได้ว่า บรรยากาศของอาร์เซน่อลเลวร้ายถึงขีดสุด แฟนบอลไม่เชื่อมั่นผู้บริหาร ผู้บริหารไม่แสดงความจริงใจกับทีม นักเตะไม่เคารพโค้ช นี่คือช่วงที่ย่ำแย่ที่สุดของอาร์เซน่อลในรอบ 20 ปี
ในเกมฟุตบอลถ้าคุณอยากชนะ ทุกคนในองค์กร ต้องมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน มีความเชื่อมั่นแบบเดียวกัน ไม่ใช่มาบั่นทอนกันเองอย่างนี้ ในสงครามถ้าศึกภายในยังไม่จบ แล้วจะไปรบชนะใครได้
ดังนั้นคนที่จะมาแทนอูไน เอเมรี่ ต้องเป็นคนที่ 1) มีประสบการณ์ในการเป็นโค้ชลีกระดับสูง (ซึ่งถ้าไม่มีประสบการณ์ ผลงานก็จะออกมาเหมือนลุงเบิร์ก) และ 2) ต้องเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์จากบนลงล่าง ทำให้ทุกคนกลมเกลียวกันอีกครั้ง
และจากชอยส์ที่มี มิเกล อาร์เตต้า คือคนที่ตอบโจทย์มากที่สุด เรื่องฝีมือนั้น การทำงานเป็นผู้ช่วยกวาร์ดิโอล่า 3 ปี ช่วยทีมคว้าแชมป์ลีก 2 สมัย พอจะบอกได้ว่าเขาต้องเรียนรู้อะไรมาจากเป๊ปได้บ้าง
ขณะที่เรื่องการเป็น "ตัวเชื่อม" อาร์เตต้าก็เหมาะที่สุด เพราะเป็นคนในมาก่อน เคยเป็นกัปตันทีม รู้จักบุคลากรในสโมสรดีอยู่แล้ว รู้ทุกอย่างว่าใครเป็นอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นฮีโร่เก่า ยังทำให้แฟนบอลเกรงใจในการจะด่าแรงๆด้วย เหมือนอย่างแฟรงค์ แลมพาร์ดกับเชลซีก็เคสเดียวกัน คือคนที่เป็นฮีโร่มาก่อน จะได้รับคะแนนบวกเป็นพิเศษจากแฟนบอล
นอกจากนั้น การที่อาร์เตต้าอายุแค่ 37 ปี ก็ยิ่งเหมาะใหญ่ เพราะถ้าอาร์เซน่อลจะสร้างทีมแห่งอนาคต จะไปเอาโค้ชยุคโบราณมาทำไม ก็เอาคนใหม่ กับแนวคิดใหม่ๆเข้ามาเลยดีกว่า
20 ธันวาคม 2019 มิเกล อาร์เตต้า ได้รับการแต่งตั้งเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ พร้อมกับปัญหามากมายเป็นกระบุงให้ต้องแก้ไข
1
[ การแก้ปัญหาของอาร์เตต้า ]
เข้าสู่เดือนมกราคม อาร์เซน่อล คว้านักเตะมาเพิ่มคือปาโบล มารี เซ็นเตอร์แบ็กจากฟลาเมงโก้ และเซดริก โซอาเรส แบ็กขวาจากเซาธ์แฮมป์ตัน ซึ่งทั้งคู่เป็นการอุดรอยรั่วในแผงหลัง แต่ไม่ใช่การเซ็นที่จะเปลี่ยนแปลงทีมได้ในพริบตาแต่อย่างใด
สิ่งแรกที่อาร์เตต้าต้องการทำก่อนคือการแก้ปัญหาภายใน ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ตัวอย่างเช่น การเจรจากับคุณหมอโอ ดริสคอลล์ ให้อยู่อาร์เซน่อลต่อ ซึ่งสุดท้ายคุณหมอเลือกปฏิเสธข้อเสนอจากลิเวอร์พูลอย่างไม่น่าเชื่อ
ขณะที่กับนักเตะในทีม เขาพยายามจะลดช่องว่างระหว่างโค้ชกับผู้เล่น โดยอาร์เตต้าจะอนุญาตให้นักเตะเรียกเขาว่า "มิเกล" หรือ "มิสเตอร์" ได้เลย โดยไม่ต้องใช้คำว่า "บอส" เหมือนผู้จัดการทีมคนอื่นๆ
หรืออย่างการซ้อมในแต่ละวัน หากใครมาสาย แทนที่จะดุด่าและปรับเงิน อาร์เตต้าเลือกใช้วิธี "เล่นเกม" แทน โดยเอากงล้อมหาสนุก ให้คนที่มาสายหมุนว่าจะโดนลงโทษอะไร โดยในกงล้อก็มีโทษอย่างเช่น ทำความสะอาดห้องแต่งตัว, ขัดรถของกัปตัน แถมยังมีหนึ่งในช่องที่เขียนว่า "Lucky Escape" หรือ "รอดไปนะคราวนี้" ถ้าใครหมุนมาลงช่องนี้ ก็จะไม่ลงโทษอะไรในวันนั้น
อาร์เตต้ารู้ว่านักเตะบางทีก็มาสายโดยสุดวิสัย คือไม่ต้องไปว่ากล่าวแรงๆหรอก แค่นี้เขาก็รู้ตัวแล้ว พอโดนหมุนกงล้อ เขาก็จะเข้าใจเอง ว่าตัวเองจะไม่ควรต้องมาหมุนกงล้อครั้งต่อไป และจะระมัดระวังเรื่องเวลาให้ดีขึ้น
สิ่งที่อาร์เตต้าทำ คืออยากสร้างบรรยากาศที่ดี ทำให้ทุกคนเห็นว่า เขาไม่ได้มาเพื่อสั่งการ เป็นบิ๊กบอสอะไรขนาดนั้น แต่อยากให้ทุกคนลงเรือลำเดียวกัน และช่วยกันฝ่าฟันวิกฤติไปให้ได้
ขณะที่กับผู้บริหาร อาร์เตต้าคุยกับจอช โครเอนเก้ อยู่เสมอและอัพเดทสถานการณ์ให้รู้ เพื่อจะได้รับรู้ไปในทางเดียวกันว่า ส่วนไหนของทีมดีขึ้นแล้ว และทีมยังขาดอะไรบ้าง จะได้ร่วมกันแก้ปัญหา ณ จุดนั้นได้
เกร็ดเล็กๆ ที่สะท้อนถึงแนวคิดของอาร์เตต้า คือเขานำครอบครัวทั้งหมดย้ายจากแมนเชสเตอร์ มาอยู่ลอนดอน โดยเช่าบ้านที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสนามซ้อมลอนดอน โคลนีย์ กับเอมิเรตส์ สเตเดี้ยมที่เป็นที่ตั้งของออฟฟิศผู้บริหาร ในทางอ้อม นี่เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ว่าเขาอยู่ตรงกลาง พร้อมจะรับฟังนักเตะ แต่อีกมุมก็พร้อมรับฟังผู้บริหาร เขาไม่ได้เอนเอียงไปทางใคร เขาจะทำหน้าที่เชื่อมทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดกันมากที่สุด
บรรยากาศในทีมดีขึ้นอย่างชัดเจนมาก และในสนาม อาร์เตต้าก็เริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ แผนของอาร์เตต้า ก่อนเบรกโควิด คือ 4-2-3-1 ซึ่งเป็นสไตล์ที่เขาซึมซับมากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จุดที่น่าสนใจคือ เมซุต โอซิล ที่ไม่ได้โอกาสเลยในยุคเอเมรี่ ได้โอกาสลงเป็นตัวจริงอีกครั้ง
สองเกมแรกของเขา เริ่มจากเสมอบอร์นมัธ 1-1 ตามด้วยแพ้เชลซี 1-2 แต่หลังจากนั้น ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 7 มีนาคม อาร์เซน่อลไร้พ่าย 8 เกมติดต่อกัน (ชนะ 4 เสมอ 4) ถือว่าเป็นผลการแข่งขันที่โอเคมาก สำหรับคนที่รับงานเป็นปีแรก
แต่แล้วฟอร์มอันร้อนแรงของอาร์เซน่อลก็โดนเบรกลง เพราะโควิด-19 และคนแรกในวงการฟุตบอลอังกฤษที่ติดเชื้อโคโรน่าไวรัส ก็คือมิเกล อาร์เตต้านั่นเอง
[ เคลียร์เส้นทางสู่แชมป์เอฟเอคัพ ]
อาร์เตต้ารักษาโควิดหาย หลังจากตรวจพบประมาณ 1 เดือน จากนั้นพอกลับมาแข่งขันหลังพักเบรก อาร์เตต้าก็ต้องช็อก เพราะแผนกองหลัง 4 คน ที่เขาใช้ โดนจับทางได้แล้ว อาร์เซน่อลแพ้แมนฯซิตี้ 3-0 (ความผิดพลาดของดาวิด ลุยซ์ ทำให้ทีมแพ้ก็จริง แต่แผนการเล่นก็เห็นชัดเจนว่า ต้านทานแมนฯซิตี้ไม่ได้) ตามด้วยเกมต่อไปยิ่งเห็นชัด อาร์เซน่อลแพ้ไบรท์ตันทีมหนีตาย 2-1
คู่เซ็นเตอร์ของอาร์เซน่อลอ่อนยวบเกินไป คือถ้าเล่นเซ็นเตอร์แบ็ก 2 คน มันต้องมีใครที่เป็นตัวพึ่งพิงได้ แบบฟาน ไดค์ กับลิเวอร์พูล หรือ แม็กไกวร์กับแมนฯยูไนเต็ด แต่กับทีมปืนใหญ่ จะเป็นดาวิด ลุยซ์, ชโคดราน มุสตาฟี่ หรือ ร็อบ โฮลดิ้ง ก็ไม่มีใครที่เป็นผู้นำในแนวรับได้ทั้งนั้น ซึ่งทำให้อาร์เตต้าแก้สถานการณ์ ปรับมาใช้แผน 3-4-3 ตั้งแต่เกมที่ 31 ที่เจอเซาธ์แฮมป์ตัน
แผน 3-4-3 ที่อาร์เตต้าเลือกใช้ เขาใช้สไตล์สามเซ็นเตอร์ของอันโตนิโอ คอนเต้ นั่นคือ มี 2 เซ็นเตอร์ และ 1 ฟูลแบ็กเอามารวมกัน (มุสตาฟี่ - โฮลดิ้ง - เทียร์นี่) และให้วิงแบ็กสองฝั่ง (บูกาโย่ ซาก้า และ เอ็คตอร์ เบเยริน) ทำหน้าที่วิ่งขึ้นสุดลงสุด ในยามเกมรับให้ถอยมาเหมือนมีกองหลัง 5 คน แต่ยามเกมบุกก็ลุยไปช่วยตัวรุกได้
ปรากฏว่าแผนนี้ "เวิร์ก" เมื่อเอาชนะเซาธ์ได้ 2-0 นั่นทำให้จากนั้น อาร์เตต้าปรับมาใช้ 3-4-3 ตลอด ทั้งเอฟเอคัพ และพรีเมียร์ลีก นี่คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่เห็นว่าไอเดียเดิมไม่เวิร์ก (แพ้ไป 2 นัดติด) แล้วจะยึดติดอะไร ก็เปลี่ยนแผนมันซะเลยสิ
ช่วงปลายซีซั่น อาร์เตต้าตัดสินใจครั้งสำคัญ อีก 3 เรื่อง คือ 1) ให้โอกาสดาวิด ลุยซ์ต่อ ทั้งๆที่เล่นได้เลวร้ายสุดๆในเกมกับแมนฯซิตี้ แถมยังต่อสัญญาอีกต่างหาก ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สูงมาก เพราะถ้าทีมล้มเหลวเพราะการตัดสินใจครั้งนี้ อาร์เตต้าจะเสียเครดิตเยอะเลย
2) การดร็อปเมซุต โอซิล ทั้งๆที่เขาส่งตัวจริงตลอดในช่วงก่อนเบรกโควิด แต่คราวนี้อาร์เตต้ามีคำอธิบายชัดเจน นั่นคือเกี่ยวกับเรื่องแท็กติกเป็นหลัก คือด้วยระบบ 3-4-3 มิดฟิลด์ตัวกลางสองคน ต้องเป็นสายบ็อกซ์ทูบ็อกซ์ หรือไม่ก็มิดฟิลด์ตัวรับ มันไม่มีที่ว่างสำหรับนักเตะเพลย์เมกเกอร์เบอร์ 10 อีกต่อไป ดังนั้นถ้าโอซิลจะเล่น ก็ต้องถ่างไปเล่นปีก แบบเดียวกับนิโกลาส์ เปเป้ ซึ่งโอซิล 31 แล้ว จะมาปรับตัวมันก็ยากอีก เรื่องนี้ไม่มีใครผิด แต่โอซิลไม่ตอบโจทย์อาร์เซน่อลในเวลานี้
และ 3) การดร็อปมัตเตโอ เก็นดูซี่ หลังจากที่เก็นดูซี่ไปบีบคอนักเตะไบรท์ตัน ซึ่งตรงบีบคอไม่เท่าไหร่ แต่เก็นดูซี่ไปด่าคู่แข่งว่า "ทั้งชีวิตของพวกมึงก็ไม่มีทางหาเงินได้มากเท่ากู" ซึ่งการไม่ให้เกียรติคู่แข่งแบบนี้ อาร์เตต้ารับไม่ได้ หลังจบเกมเขากับเอดู ผู้อำนวยการกีฬา เรียกเก็นดูซี่มาคุยเพื่อปรับแนวคิดในการ Respect คู่ต่อสู้ แต่เก็นดูซี่ไม่รับฟัง ดังนั้นอาร์เตต้าจึงลงดาบหนัก คือดร็อปเก็นดูซี่ในเกมที่เหลือทั้งหมด
เก็นดูซี่ เป็นผู้เล่นที่สำคัญกับทีมมาตลอดในครึ่งซีซั่นแรก แต่อาร์เตต้าก็ทำให้เห็นว่าเขาอาจจะเป็นเหมือนเพื่อน เหมือนพี่ชาย แต่ในหน้าที่ เขาคือเฮดโค้ช ถ้าไม่ยอมปรับแนวคิดไปทางเดียวกัน ก็อาจร่วมงานกันยาก
การตัดสินใจทั้ง 3 เรื่อง ไม่น่าเชื่อว่า จะทำให้เกมของอาร์เซน่อลในสนามดีขึ้น พอไม่มีโอซิลและเก็นดูซี่ ตรงกลางของทีมปืนใหญ่ก็เลือกใช้ ดานี่ เซบายอส กับ กรานิต ชาคา
ในเกมรอบรองเอฟเอคัพ ที่ชนะแมนฯซิตี้ 2-0 ทั้งคู่ หยุดยั้งเควิน เดอ บรอยน์ที่กำลังฟอร์มฮอตได้สำเร็จ ขณะที่ดาวิด ลุยซ์ พอโดนจับยืนเล่นหลัง 3 ก็พอเห็นว่าเขามีประโยชน์กับทีมอยู่
เมื่ออะไรดีแล้วอย่าไปเปลี่ยน นัดชิงชนะเลิศกับเชลซี อาร์เตต้าใช้ 3-4-3 แผนเดิม ตรงกลางเป็นเซบายอส กับ ชาคา ส่วนดาวิด ลุยซ์ ก็ลงตัวจริงเช่นเดิม และผลสรุปก็คือแผนนี้มันเวิร์กจริงๆ อาร์เซน่อลเชือดเชลซีได้แบบระทึก 2-1 ส่วนหนึ่งคือความมหัศจรรย์ของโอบาเมย็อง แต่ในภาพรวมก็ต้องยอมรับว่า การจัดไลน์อัพของอาร์เตต้าก็ทำได้ถูกต้องด้วย
อีกจุดที่อาร์เตต้านั้นแสดงความฉลาดอีกอย่างให้เห็น คือเขากล้าที่จะดร็อปตัวจริง และโฟกัสในสิ่งที่สำคัญกว่า
15 กรกฎาคม เกมเจอลิเวอร์พูลที่เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม นัดนี้อาร์เตต้ารู้ว่า แพ้หรือชนะหงส์แดงไปมันก็เท่านั้น เขาจึงกล้าดร็อปโอบาเมย็อง เพื่อให้ฟิตที่สุดในการเล่นเกมเอฟเอคัพ รอบรอง กับแมนฯซิตี้ในวันที่ 18 กรกฎาคม
รู้ว่าอะไรสำคัญ มาก่อน มาหลัง ถือว่าจุดนี้อาร์เตต้าจัดการได้ไม่เลว
[ ตัดเกรด ]
ตอนนี้จบซีซั่นแล้ว และการบ้านในช่วงซัมเมอร์ ที่อาร์เซน่อล และอาร์เตต้าต้องทำมีหลายอย่างมากๆ
- การจัดการเรื่องสัญญาของโอบาเมย็อง ที่เหลืออีกแค่ 1 ปีเท่านั้น ซึ่งอย่างที่เรารู้กัน อาร์เซน่อลโดยปกติ มีนโยบายไม่ต่อสัญญานักเตะอายุเกิน 30 เกิน 1 ปี ตอนนี้โอบาเมย็องอายุ 31 แล้ว ซึ่งถ้าสัญญามาแค่ปีเดียว เขาไม่เซ็นแน่ๆ อาร์เซน่อลจะกล้าจ่ายแพงๆ กับสัญญาระยะยาวเพื่อเก็บโอบาเมย็องไว้หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
- กองหลังก็ต้องคิดต่อว่าจะซื้อบิ๊กเนมสักตัวไหม ปาโบล มารี เป็นเซ็นเตอร์แบ็กที่เคลื่อนไหวช้า จะเล่นได้ดีในพรีเมียร์ลีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ เช่นเดียวกับซาลิบา ไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะเล่นได้ดีในอังกฤษ หรือจะยึดดาวิด ลุยซ์ ต่อไปอีก ซึ่งลุยซ์เหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะพลาดได้เสมอนะ
- ตำแหน่งผู้รักษาประตูล่ะ แบรนด์ เลโน่ คือฮีโร่ของทีมในช่วงครึ่งซีซั่นแรก แต่มาร์ติเนซก็ช่วยพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ จะเลือกใครคนใดคนหนึ่ง แล้วขายอีกคนทิ้งไหม หรือทั้งคู่สามารถอยู่ร่วมกันได้
มีเรื่องอะไรให้ต้องปรับแก้อีกมากมาย ช่วง 1 เดือนก่อนคอมมิวนิตี้ชิลด์ และทีมปืนใหญ่ กับอาร์เตต้าคงไม่ได้หยุดพักสบายๆแน่
บทสรุปในซีซั่นนี้ อาร์เซน่อลคว้าแชมป์เอฟเอคัพสร้างความสุขให้แฟนๆ นั่นเป็นเรื่องดี แต่เราก็มองข้ามความจริงไม่ได้ว่าพวกเขาได้อันดับ 8 ในฟุตบอลลีก ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปีของสโมสร
เกมรุกยิงได้ 56 ประตู เป็นสถิติแย่ที่สุดในรอบ 24 ปีของทีม ขณะที่เกมรับเสีย 48 ลูก เสียน้อยสุดอันดับ 8 ของลีก เรียกได้ว่ายังห่างไกลกับกลุ่มหัวตารางอยู่หนึ่งช่วงตัว
ขณะที่ประเด็นอาร์เตต้า ถ้าว่ากันอย่างแฟร์ๆ ก็ถือว่าเขามีผลงานที่โอเค จากฟอร์มเละเทะยุคอูไน เอเมรี่ เขาประคองอาร์เซน่อลมาตรงจุดนี้ได้ ก็นับว่าเยี่ยมแล้ว
แต่อย่างที่เราบอกกันเสมอว่า การจะวัดว่าผู้จัดการคนไหนทำทีมมีอนาคต ต้องดูผลงานจาก First full season ต้องให้เขาคุมทีมเต็มๆ 1 ฤดูกาล ถึงจะให้คำตอบได้ ดังนั้น อาร์เตต้าจะเป็นของจริงหรือของปลอม ปีหน้าเราถึงจะตอบได้อย่างชัดเจน
ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราไม่อาจรู้ได้ว่าอาร์เตต้าจะเป็นคำตอบที่ "ถูกต้อง" ของอาร์เซน่อลหรือไม่
แต่อย่างน้อย เท่าที่เห็นในปัจจุบัน มันก็ยังมีแสงสว่างและมีความหวังที่ปลายอุโมงค์
ตัดเกรดอาร์เซน่อล 2019-20 : C+
โฆษณา