6 ส.ค. 2020 เวลา 09:30 • สุขภาพ
“สารเสพติด”...ทำไมเสพแล้วถึงต้อง”ติด”!
“โคเคน”"ยาบ้า""กัญชา".....
เคยสงสัยมั๊ย... “สารเสพติด” มันเข้าไปทำอะไรในสมองของเรา?
ภาวะเสพติด ไม่ใช่ภาวะเล่นๆเหมือนติดชานมไข่มุก หรือติดชาบูบุฟเฟ่ต์นะครับ
เพราะภาวะนี้คือ ภาวะที่”หยุดเสพไม่ได้” “ต้องเสพเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ” “พยายามเลิกเท่าไหร่ก็เลิกไม่ได้”!
สารเสพติด ทำให้สมองรู้สึกแบบนี้ได้อย่างไร มาดูกันครับ!
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1950 นักวิทยาศาสตร์ 2 คน เจมส์ โอลด์ และปีเตอร์ มิลเนอร์ ได้ทำการทดลองทรมานสัตว์ชนิดซาดิสชิ้นหนึ่ง พวกเขาได้นำหนูทดลองมาฝังขั้วกระแสไฟฟ้าเข้าไปในสมอง และจะปล่อยกระเเสไฟฟ้าเข้าไปในทุกๆครั้งที่หนูทดลองตัวนี้กดคันโยกที่ติดตั้งไว้ให้ในกรง
โดยปกติแล้วเมื่อหนูถูกกระแสไฟฟ้า มันก็จะตกใจกลัววิ่งหนี และเรียนรู้ว่าห้ามไปกดคันโยกนั้นอีกต่อไปนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการทดลองนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น นักวิทยาศาสตร์ 2 คนนี้ได้พบว่ามีสมองอยู่ตำแหน่งหนึ่ง ที่ถูกกระตุ้นแล้วทำให้หนูมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก แล้วนั่นก็เลยทำให้หนูทดลองตัวนั้นกดคันโยกนั้นๆไปกว่า 7000 ครั้งในเวลา 12 ชั่วโมง!
ต่อมาก็ได้มีการศึกษาถึงรายละเอียดของสมองส่วนนี้มากขึ้น และได้พบว่ามันมีวงจรกระเเสประสาทที่ทำหน้าที่นี้อยู่จริงๆในสมองของพวกเรา แล้วก็ตั้งชื่อวงจรนี้ว่า “Brain reward system” หรือแปลว่า ”ระบบรางวัลของสมอง”
วงจรประสาทนี้ มีหน้าที่สร้างความรู้สึก”พึงพอใจ”, “ความสุข” และเมื่อสิ่งมีชีวิตมีความรู้สึกนี้ มันก็จะทำให้เกิด ”ความปรารถนา”ที่จะทำสิ่งนั้นซ้ำอีก วงจรประสาทนี้ได้เชื่อมโยงพฤติกรรมต่างๆเข้ากับความสุข ความพึงพอใจ จนทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลหรือแต่ละสิ่งมีชีวิต
2
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนเรียนรู้จากอารมณ์ที่เกิดจากการทำสิ่งนั้นๆ ทำเพื่อให้ได้ความพึงพอใจ ทำเพื่อให้ได้ความสุข ถ้าไม่มีวงจรประสาทนี้แล้วล่ะก็ พวกเราก็จะไม่มี”แรงกระตุ้น”ในการทำสิ่งใด ไม่มี”ความอยาก”ที่จะทำสิ่งใด ก็ได้แต่ใช้ชีวิตไร้จุดหมายไปวันๆ
ในเวลาต่อมา นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบ”สารสื่อประสาท”ที่สำคัญสำหรับวงจรประสาทรางวัลนี้ พวกเขาตั้งชื่อมันว่า”โดปามีน”... มันคือเชื้อเพลิงของเครื่องจักรที่ใช้สร้างความสุข!
เมื่อเราค้นพบมาถึงจุดนี้แล้ว แน่นอนว่ามีคนกลุ่มหนึ่งมีแนวคิดว่า
“ถ้าสามารถกระตุ้นวงจรประสาทนี้ได้โดยตรงเสียเลย ก็น่าจะทำให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้นได้ใช่ไหม!(แอบยิ้ม)”
ใช่แล้วครับ!
มันก็คือที่มาของ”สารเสพติด”แทบทุกชนิดนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น โคเคน ยาบ้า กัญชา บุหรี่ แอลกอฮอล์ พวกมันเข้าไปทำอะไรบางอย่างที่ทำให้สารสื่อประสาท”โดปามีน”ในสมองมีมากขึ้น เพื่อให้สามารถกระตุ้นวงจรประสาท“Brain reward system”นี้ให้ทำงานมากขึ้นกว่าเดิมหลายๆเท่า!
มันก็เลยทำให้ผู้ใช้ยามีความสุขเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ มีความสุขมากแบบผิดธรรมชาติ มีความสุขจนลืมความสุขในชีวิตจริงไป มีความสุขจนไม่มีอะไรในโลกจริงนี้ที่สามารถทดแทนมันได้ ดังนั้นหนทางเดียวที่จะทำให้มีความสุขเท่าเดิม ก็คือ ดูดยาต่อไป!
แต่ช้าก่อน!
สมองของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงอย่างพวกเรา มันรู้ว่าสิ่งนี้คือการกระตุ้นที่”ผิดธรรมชาติ” สมองของเราไม่ชอบอะไรแบบนี้ มันไม่ชอบการถูกแทรกแซง โดยเฉพาะถ้าได้รับเป็นเวลานานๆ สมองจึงเริ่มเข้าสู่โหมด”ปรับตัว”
สมองปรับตัวโดยการ”เพิกเฉย”ต่อสารเสพติดนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตอบสนองต่อสารเสพติดนั้นน้อยลงเรื่อยๆ และแม้จะฟังดูเข้าท่าดี แต่นั่นหมายความว่าสมองได้สร้างความสุขน้อยลงเรื่อยๆแม้ได้รับสารเสพติดนั้นๆ
แม้สมองจะฉลาดพอที่จะตอบสนองต่อสารเสพติดน้อยลง แต่มันกลับไม่ได้เตรียมใจให้พร้อมที่จะขาดความสุขแบบตอนเสพยาไป!
ดังนั้น “สารเสพติดปริมาณเท่าเดิม ไม่สามารถให้ความสุขได้เท่าๆเดิมอีกต่อไป” และสิ่งนี่ล่ะครับ ที่เราเรียกว่า”การดื้อยา”... หรือในอีกความหมายก็คือ ถ้าผู้เสพต้องการความสุขเท่าๆเดิมเหมือนแต่ก่อน พวกเขาต้องใช้สารเสพติดในปริมาณ”มากขึ้น”!
เมื่อมาถึงจุดนี้ก็เรียกได้ว่าผู้ใช้ยาก็จะมีความสุขได้ยากมากๆ สารเสพติดเท่าๆเดิมยังไม่สามารถสร้างความสุขได้เลย คงไม่ต้องไปหวังความสุขที่ได้จากชีวิตจริงแล้ว และเมื่อต้องการหยุดใช้ยา ผู้ป่วยก็จะพบกับภาวะ”ถอนยา” เนื่องจากจะต้องอยู่ในสภาพที่ไม่มีสิ่งใด ที่ทำให้พวกเขามีความสุขได้นั่นเอง
”ภาวะดื้อยา” และ “ภาวะถอนยา” เป็นกำแพงสำคัญที่ทำให้ผู้เสพยา ไม่สามารถที่จะข้ามไปและหยุดเสพได้ แม้ว่าจะพยายามมากแล้วก็ตาม
ขนมหวาน ชานมไข่มุก ชาบูบุฟเฟ่ต์ ไม่สามารถทำให้เกิด”ภาวะดื้อยา” และ “ภาวะถอนยา” แบบนี้ได้ ต้องเป็นแป้งมัน เอ้ยย สารเสพติดเท่านั้นที่จะทำได้!
ใครที่อยากลองต่อสู่กับ 2 ภาวะนี้ ก็ลองเสพดูได้เลย แต่บอกไว้ก่อนเลยว่ามันจะเป็นเกมที่ชนะได้ยากมากๆอย่างแน่นอน อย่าลองเลยจะดีกว่าครับ...
และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ยาเหล่านี้เรียกว่าสารเสพติดนั่นเอง มันคือสารที่”เสพ”แล้ว”ติด”...
1
สุดท้ายนี้ก็อยากบอกไว้ว่า...
“Happiness depends on your attitude, not on what you have.”
“ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณได้รับ แต่ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคุณต่างหาก!”
#Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
#นพ.เวชกร รัตนนิธิกุล
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
โฆษณา