7 ส.ค. 2020 เวลา 03:30 • การเมือง
“โจ ไบเดน” แคนดิเดตที่อ่อนแอที่สุด แต่มีแววชนะซิวเก้าอี้ประธานาธิบดี
1
การระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้กระแสการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก ได้รับความสนใจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
1
อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคมนี้ 2 พรรคใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง รีพับลิกัน กับ เดโมแครต จะจัดงานประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตัวแทน หรือ ‘แคนดิเดต’ อย่างเป็นทางการ ไปชิงตำแหน่งผู้นำคนต่อไปของแดนลุงแซม โดยฝั่งรีพับลิกันคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่ยื่นเรื่องขอลงเลือกตั้งอีกสมัยมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2017 ส่วนฝ่ายเดโมแครต เหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวคือนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยุครัฐบาลโอบามา
โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นใคร เราคงไม่ต้องพูดถึง เพราะเราน่าจะรู้จักเขาดีแล้วจากสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และหลายๆ คนก็คิดว่าเขาน่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ แต่ทว่า ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้อะไรๆ เปลี่ยนไป จนนายไบเดน นักการเมืองอาวุโสที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นแคนดิเดตที่อ่อนแอที่สุด เริ่มมีโอกาสโค่นคู่แข่งที่แข็งแกร่งคนนี้ลงได้
1
แคนดิเดตที่อ่อนแอที่สุด
นี่อาจไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเลย เพราะนายไบเดน ในวัย 77 ปี ผู้มีใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา ดู ‘ธรรมดา’ เหลือเกินเมื่อเทียบกับ แคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนก่อนๆ เช่น บารัค โอบามา ที่ในยุคนั้นเป็นคลื่นลูกใหม่ ดึงดูดความสนใจจากประชาชนได้ด้วยความที่เป็นคนผิวสี และสโลแกน ‘Change’ หรือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันตอนนั้นกำลังต้องการ จนเอาชนะคู่แข่งนักการเมืองอาวุโสอย่างนาย จอห์น แมคเคน ได้
3
ตัวนายทรัมป์เอง ก่อนนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีก็เป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีทรัพย์สินระดับมหาเศรษฐี ทั้งยังมีฝีปากคมกริบ พร้อมจะโจมตีทุกคน เป็นที่ถูกใจชาวอเมริกันที่กำลังเบื่อรัฐบาลหน่อมแน้ม ของนายโอบามาพอดี นายทรัมป์ยังเป็นแคนดิเดตคนแรกๆ ของสหรัฐฯ ที่ใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับประชาชน และใช้มันโกยคะแนนนิยมได้มากมาย จนชนะนางคลินตันอย่างพลิกความคาดหมาย
1
หรือแม้แต่นางฮิลลารี คลินตัน ที่แม้จะแพ้การเลือกตั้งให้กับนายทรัมป์ แต่เธอก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากการเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยรัฐบาลโอบามา นอกจากนี้ เธอยังเป็นภริยาของอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่รับมือกับเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองมามากมาย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นนักการเมืองหญิงแกร่ง
2
ขณะที่นายไบเดน นอกจากเรื่องที่เขาเป็นนักการเมืองมาอย่างยาวนาน เคยเป็นรองประธานาธิบดีของรัฐบาลโอบามามา 8 ปี และดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเดลาแวร์นานที่สุด (ตั้งแต่ปี 1973-2009) แล้ว เชื่อว่าชาวอเมริกันแทบไม่รู้จักเขาในด้านอื่นๆ เลย อาจจะยกเว้นเรื่องที่เขาถูกครหาว่า ชอบถึงเนื้อต้องตัวผู้หญิงเกินงามเวลาไปออกงานสังคม และนิสัยชอบดมผมของผู้หญิง
4
ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และอดีตแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
พูดถึงนิสัย นายไบเดนก็มีจุดอ่อนที่แก้ไม่ได้มาตลอดหลายสิบปี คือการปราศรัยแบบเนิบๆ ไม่ปลุกเร้าอารมณ์คนฟัง กับชอบพูดนอกเรื่อง ซึ่งเกือบทำให้เขาไม่รอดในการเลือกตั้งภายในพรรคเพื่อคัดเลือกผู้สมัครเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยจบที่ 4 และที่ 5 ในการโหวตที่รัฐไอโอวา กับ นิวแฮมป์เชียร์ แต่กลับชนะการโหวตที่ เซาท์ แคโรไลนา อย่างพลิกความคาดหมาย ก่อนที่คู่แข่งสายกลางจะพากันถอนตัว ทำให้นายไบเดนเหมือนฟื้นขึ้นจากความตาย
4
จากนั้น นายไบเดน ก็ชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งภายในครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ‘ซุปเปอร์ ทิวส์เดย์’ หรือ ‘สุดยอดวันอังคาร’ ที่จะมีการโหวตพร้อมกันในหลายรัฐ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงกับงงว่า ชายวัย 77 ปีผู้นี้ทำได้อย่างไร เพราะในบางรัฐที่ไบเดนชนะ เขาไม่ได้เข้าไปหาเสียงด้วยซ้ำ หรือความจริงอาจต้องมองมุมกลับ ที่เขาทำผลงานได้ดีเป็นเพราะเขาไม่ได้ไปปรากฏตัวหรือไม่? เนื่องจากบทเรียนที่ ไอโอวา กับ นิวแฮมป์เชียร์ สอนเขาแล้วว่า ยิ่งผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเห็นเขามากเท่าไร เขาก็ยิ่งได้คะแนนน้อยลงเท่านั้น
3
นอกจากนี้ การมาของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน ยิ่งเข้าทางการหาเสียงแบบล่องหนของนายไบเดน เขาปักหลักอยู่ที่ฐานของเขาในรัฐเดลาแวร์นานหลายเดือนโดยไม่ขยับไปไหน ปล่อยให้คู่แข่งอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเคลื่อนไหวทำลายตัวเองเรื่อยๆ จนคะแนนนิยมตกต่ำ สวนทางกับนายไบเดน ที่คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทิ้งห่างนายทรัมป์มากกว่า 10% มาหลายสัปดาห์แล้ว
7
โควิด-19 จุดเปลี่ยนทุกอย่าง
นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดทั่วโลก โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ก่อเรื่องหลายอย่างที่ทำให้ทั้งฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเดียวกันยังต้องกุมขมับ เช่นบอกว่า ควบคุมการระบาดได้แล้วทั้งที่เห็นชัดๆ ว่าไม่จริง เมื่อการระบาดในประเทศรุนแรงขึ้น นายทรัมป์ก็ไปหาเรื่องจีน กล่าวหาว่าปิดบังข้อมูลการระบาด ก่อนจะพาลประกาศพาสหรัฐฯ ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกอีก หรืออวดอ้างสรรพคุณของยา ‘ไฮดร็อกซีคลอโรควิน’ ว่าป้องกันโควิดได้ ทั้งที่มีผลวิจัยยืนยันว่า อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เป็นต้น
1
นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังดึงดันจัดงานหาเสียงที่เมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมา เมื่อเดือนมิถุนายน ก่อนจะพบว่าทีมงานหาเสียงติดเชื้อนับสิบคน และหลังจากนั้นยอดผู้ติดเชื้อในเมืองทัลซาก็สูงขึ้น แต่ไม่มีใครฟันธงว่าเป็นเพราะการหาเสียงครั้งนั้นหรือไม่ และดูเหมือนจะยังไม่เข็ด ในวันที่ 4 ส.ค. นายทรัมป์ประกาศว่า ส่งทีมงานหาเสียงไปเคาะประตูทักทายประชาชนตามบ้านนับล้านหลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวิธีการหาเสียงแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน ทั้งที่โควิดยังระบาดหนักในประเทศ
กว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะยอมสวมหน้ากากป้องกันโควิดก็ต้องรอร่วม 6 เดือน
การกระทำของนายไบเดนตรงข้ามกับนายทรัมป์อย่างสิ้นเชิง เขาปักหลักอยู่ในฐานที่มั่นของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อแสดงการสนับสนุนมาตรการเว้นระยะห่าง เขายังใช้การติดต่อกับประชาชนผ่านทางโทรศัพท์และข้อความ แทนการส่งทีมงานไปหาถึงบ้าน ซึ่งถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญว่า ประชาชนอาจให้เครดิตเขาที่จริงจังกับเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนามากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ
7
ประท้วงต้านเหยียดผิวซ้ำเติมทรัมป์
ปีนี้อาจเป็นปีชงของโดนัลด์ ทรัมป์ และชาวสหรัฐฯ เพราะนอกจากจะต้องรับมือไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังเกิดการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวครั้งใหญ่ที่สุด สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอจนเสียชีวิต ซึ่งลุกลามกลายเป็นการประท้วงทั่วโลก
1
ในช่วงนี้ นายทรัมป์ใช้คำพูดหลายอย่างที่ไม่เข้าหูคนอเมริกัน เช่น โพสต์ข้อความว่า “เมื่อมีการปล้นชิงเกิดขึ้น การยิงก็จะเริ่มขึ้น” คล้ายกับจะขู่ผู้ประท้วงที่ตอนนี้ประท้วงอย่างรุนแรง และเกิดการปล้นสะดมในหลายเมือง นอกจากนี้เขายังจ้องแต่จะส่งทหารเข้าไปปราบปรามการประท้วง จนผู้ว่าฯ กับนายกเทศมนตรีหลายคน โดยเฉพาะเมืองพอร์ตแลนด์ ออกมาขับไล่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางอย่างเปิดเผย
1
โจ ไบเดน กล่าวแสดงความเสียใจในพิธีศพของจอร์จ ฟลอยด์
ขณะที่นายไบเดน ซึ่งไม่มีอำนาจสั่งการอะไร ใช้โอกาสนี้พยายามดึงคะแนนจากประชาชนด้วยการ ออกมาสนับสนุนคนผิวสีและการปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งกล่าวแสดงความเสียใจในพิธีศพของนายฟลอยด์ผ่านวิดีโอลิงก์อีกด้วย แม้คะแนนนิยมของเขาในกลุ่มคนผิวสีที่ทิ้งห่างนายทรัมป์อยู่แล้ว จะไม่เพิ่มขึ้นมากนักก็ตาม
1
การประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวและการใช้ความรุนแรงของตำรวจที่เมืองพอร์ตแลนด์
สัญญาณที่ชี้ว่า โจ ไบเดน มีโอกาสชนะทรัมป์
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม โดยประชาชนในแต่ละรัฐจะไปลงคะแนนเพื่อเลือก ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ (Electoral College) ซึ่งจะเป็นตัวแทนไปเลือกประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง โดยในแต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาล่าง ซึ่งคิดตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละรัฐอีกทีหนึ่ง บวกสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน กล่าวคือรัฐใดมีคนมากก็ยิ่งมีคณะผู้เลือกตั้งมาก
การเลือกตั้งในเกือบทุกรัฐของสหรัฐฯ ยังเป็นแบบ ‘ผู้ชนะกินรวบ’ หมายความว่า ฝ่ายเดโมแครตหรือรีพับลิกันที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า จะได้คณะผู้เลือกตั้ง ‘ทั้งหมด’ ของรัฐนั้นๆ ไปทันที
3
ด้วยระบบที่ว่าทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันของนายทรัมป์เริ่มน่าเป็นห่วง เนื่องจากนายทรัมป์ที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจ กำลังเสียแรงสนับสนุนจากประชาชนผิวขาว ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงที่แข็งแกร่งของเขาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน โดยผลสำรวจทางโทรศัพท์ตั้งแต่ 1 มิ.ย. จนถึงต้นเดือนก.ค. พบว่า ความนิยมจากผู้โหวตผิวขาวของนายทรัมป์ที่ในการเลือกตั้งครั้งก่อน นำห่างคู่แข่งถึง 13% ตอนนี้เหลือเพียง 3% เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น นายทรัมป์ยังเสียคะแนนจากผู้โหวตสูงอายุและผู้อาศัยแถบชาวเมืองทั่วประเทศ โดยผลสำรวจของ ABC News/Washington Post เมื่อปลายเดือน ก.ค. พบว่า นายไบเดน มีคะแนนนิยมจากผู้โหวตแถบชานเมืองมากกว่าเขาถึง 52% ต่อ 43% แม้แต่โพลของ Fox News สื่อที่ถือหางนายทรัมป์มาตลอดก็ยังชี้ว่า นายไบเดนมีคะแนนนิยมสูงกว่า
คะแนนจากผู้สูงอายุกับผู้อาศัยแถบชานเมือง มีความสำคัญมากในการเลือกตั้งหลายๆ รัฐ โดยเฉพาะรัฐที่มีคะแนน Electoral College สูงอย่าง เพนซิลเวเนีย (20 จาก 538) ซึ่งมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี เยอะที่สุดในประเทศ และกว่าครึ่งเป็นผู้อาศัยในย่านชานเมือง และเป็นหนึ่งในรัฐตัดสินการเลือกตั้งครั้งก่อน
เมื่อปี 2016 นายทรัมป์กลายเป็นรีพับลิกันคนแรกนับตั้งแต่ปี 1988 ที่ชนะในรัฐนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการชนะใจผู้โหวตสูงวัยและผู้โหวตชานเมือง แม้คะแนนจะสูสีกับนางคลินตันมากก็ตาม แต่ในปีนี้ ความผิดพลาดในการรับมือโควิด-19 ที่ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ทำให้ผู้โหวตกลุ่มนี้เริ่มหันไปสนับสนุนนายไบเดน และอาจทำให้นายทรัมป์พ่ายแพ้ในสมรภูมิสำคัญแห่งนี้ได้
3
อีก 3 เดือนถึงวันชี้ชะตา อะไรก็เกิดขึ้นได้
แม้ตอนนี้นายไบเดนจะดูได้เปรียบนายทรัมป์ แต่กว่าการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. จะมาถึง เขายังต้องฝ่าบททดสอบอีกหลายด่าน เริ่มจากการประชุมของพรรคเดโมแครต ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า ทางพรรคอาจดันนาย แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ที่กลายเป็นนักการเมืองดาวโรจน์ที่สุดในยุคโควิด-19 ของสหรัฐฯ จากการบริหารงานที่แสดงความเป็นผู้นำยิ่งกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเป็นแคนดิเดตแทนที่นายไบเดน
2
แต่สำหรับเรื่องนี้ นายคูโอโมออกมายืนยันแล้วว่า ไม่มีความต้องการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งทำให้นายไบเดนโล่งใจไปได้บ้าง แต่หลังจากได้เป็นแคนดิเดตอย่างเป็นทางการแล้ว เขายังต้องโต้อภิปรายต่อสู้กับนายทรัมป์อีก 3 ยก ซึ่งต้องมาดูกันว่า นายไบเดนที่แม้จะมีข้อเสียด้านการพูด แต่มีประสบการณ์โชกโชน จะสามารถต่อกรกับฝีปากของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้หรือไม่
5
แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก
ตัวแปรในการเลือกตั้งยังไม่หมดแค่นี้ โควิด-19 ที่เคยช่วยนายไบเดน อาจย้อนกลับมาเล่นงานตัวเขาเอง ถ้าสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนที่การเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น นายทรัมป์จะมีโอกาสอ้างกับชาวอเมริกันว่า “เรากลับมาแล้ว!” และอาจดึงคะแนนนิยมกลับมา พร้อมปาดหน้านายไบเดน เข้าเส้นชัยเป็นผู้นำประเทศอีกสมัยก็เป็นได้
ผู้เขียน: H2O
ที่มา: politico, thestar, nytimes, bbc
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา