7 ส.ค. 2020 เวลา 05:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทุจริตในเลบานอนนำมาสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจ
Good Sharing ครั้งนี้ ขอเปิดอีกมุมของประเทศเลบานอน ซึ่งมีภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เหตุใดเศรษฐกิจถึงได้ทรุดขนาดนี้ ทำไมจึงมีการแทรกแซงของประเทศต่างๆ
Pray for Lebanon
เลบานอน ประสบภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่กรุงเบรุต โดยปีที่ผ่านมาความล้มเหลวของระบบธนาคารของประเทศ และระดับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ได้ทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่ของประชาชนราว 6 ล้านคน ซึ่งการพประท้วงเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องรัฐบาลในด้านการบริการสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ การทุจริตในระบบการเมืองของเลบานอน การแทรกแซงจากต่างประเทศ อย่างอิหร่าน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 25% และวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เลบานอนพ้นจากสงครามกลางเมืองอันยาวนาน 15 ปี ในปี 2533 โดยก่อนเกิดการระบาดของโควิด -19 ธนาคารโลก หรือWorld Bankได้คาดการณ์ไว้ว่า 45% ของประชาชนในเลบานอนจะอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนในปี 2563
การประท้วงในเลบานอน
โฆษกสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ใน ตะวันออกใกล้ ได้กล่าวหลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงเบรุตว่า “นี่คือวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเงิน วิกฤตการเมือง วิกฤตด้านสุขอนามัย และตอนนี้ เจอการระเบิดที่น่าสะพรึงกลัวอีก”
สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของเลบานอนนั้นร่อแร่ก่อนที่จะเกิดการระเบิด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจของเลบานอนจะติดลบ 12% จากการที่เศรษฐกิจถูกรุมเร้าด้วยราคาอาหารที่แพงหูฉี่ การทรุดตัวของค่าเงิน และโควิด-19 ซึ่งแย่ยิ่งกว่าการคาดการณ์เศรษฐกิจของตะวันออกกลางและเอเชียกลางที่จะติดลบเฉลี่ย 4.7%
เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ยังมีเรื่องแผนแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme) ที่ดำเนินการโดยธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งได้กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาดเพื่อจะมาชำระหนี้และเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินปอนด์ของเลบานอนคงที่ไปกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
สัดส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP หรือพูดง่ายๆคือ การที่ประเทศเป็นหนี้และเปรียบเทียบกับที่ประเทศผลิตได้นั้น สูงที่สุดอันดับที่สามของโลก และในเดือนมี.ค. เลบานอนได้ผิดนัดชำระหนี้บางแห่งไปบ้างแล้ว และล่าสุดทาง สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้ลดอันดับเครดิตประเทศเลบานอนลงในระดับที่ต่ำที่สุด ซึ่งตอนนี้อยู่ระดับเดียวกับเวเนซูเอล่า โดยให้ความเห็นว่า ประเทศกำลังอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อวิกฤตเศรษฐกิจ การเงิน และ สังคม ซึ่งสถาบันต่างๆมีความอ่อนแอ และไม่สามารถที่จะระบุได้ นอกจากนี้การทรุดลงของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อที่สูงมากทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ไม่มั่นคง
เลบานอนได้เคยมีความพยายามที่จะขอกู้เงิน10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก IMF แต่การเจรจาก็ยังเลื่อนออกไปในเดือนที่แล้ว ในขณะที่ทาง Kristalina Georgieva ผู้นำ IMF ได้เรียกร้องให้มีความสามัคคีในชาติเพื่อให้ทราบถึงวิกฤตที่ฝังลึกนี้ของประเทศ พร้อมทั้งกำลังหาทางช่วยเหลือที่เป็นไปได้ให้แก่ประชาชนเลบานอน
การระเบิดในกรุงเบรุตล่าสุดนี้ ทำให้เมืองดังกล่าวถูกประกาศว่า เป็น “เมืองแห่งหายนะ” สร้างแรงกดดันมากขึ้นให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ไม่มีอพาร์ทเม้นใดที่ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่มีธุรกิจใด ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งร้านค้า สินค้า เสียหายหมด
ท่าเรือ กรุงเบรุต ก่อนการระเบิด
ท่าเรือที่เกิดการระเบิดนั้นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศ และ60% ของการนำเข้าสินค้าของประเทศต้องผ่านท่าเรือนี้ แต่ตอนนี้ท่าเรือนั้นหายราบเป็นหน้ากลอง ทั้งนี้การท่องเที่ยวของประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในห้าของจีดีพี ของเลบานอนในปี 2561 ซึ่งช่วงนั้นมีนักท่องเที่ยวราวสองล้านคน โดยกลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก อัตราการเข้าพักในโรงแรมที่ยังเปิดอยู่ก็ลดลง 5% และ 15% เพราะประเด็นเรื่องโคโรน่าไวรัส และการเมือง และการระเบิดนี้ได้ทำลายโรงแรมในกรุงเบรุตไปถึง 90% อีกทั้งยังทำให้ประชาชนอีก 300,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย นี่ยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตที่ยังคงต้องมีการค้นหาต่อไป
ประเทศในทวีปยุโรปและกลุ่มประเทศความร่วมมือในอ่าวอาหรับไม่ว่าจะเป็นการ์ตาร์ รัสเซีย อิหร่าน ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งอิสราเอลเอง ซึ่งในทางเทคนิคแล้วยังคงทำสงครามกับเลบานอน กำลังจะส่งความช่วยเหลือไปยังเลบานอนเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันจากการระเบิด รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศยังได้ย้ำกับบรรดาเจ้าหนี้ไม่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยใดๆแก่เงินกู้ยืมที่จะมีการชำระในช่วงอีกห้าปีข้างหน้า เพื่อที่ว่าบรรดาประชาชนจะสามารถตั้งตัวได้และธุรกิจจะพลิกฟื้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศต่างๆเหล่านั้นก็ยังลังเลที่จะมอบเงินช่วยเหลือ จากการทุจริตและการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของประเทศ
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า ประเทศฝรั่งเศสจะให้ความช่วยเหลือด้านยาและอาหาร แต่จะไม่ให้ผ่านเจ้าหน้าที่ทุจริตของรัฐบาลเลาบานอน นอกจากนี้ฝรั่งเศสจะช่วยจัดการประชุมนานาชาติเพี่อระดมทุนเพื่อเลบานอน เขาให้สัญญาถึงความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นชาติฝรั่งเศสหรือนานาชาติก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเงินช่วยเหลือจะถูกส่งตรงไปยังประชาชน และเหล่า NGOs ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือที่ต้องการเงินเหล่านี้
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศเลบานอน?
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มุ่งประเด็นไปที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลบานอนเผชิญวิกฤตรุนแรงขนาดนี้ นั่นก็คือ การแบ่งแยกทางการเมือง หรือแต่ละกลุ่มพยายามหาประโยชน์ให้กลุ่มตนเอง
เลบานอนมีชุมชนด้านศาสนาอย่างเป็นทางการถึง 18 ชุมชนประกอบด้วย มุสลิม 4 ชุมชน คริสเตียน12ชุมชน และยังมีลัทธิ Druze และ ยิว
โดยทางการเมืองนั้นแบ่งเป็นสามสำนักงานหลัก คือ ประธานาธิบดี โฆษกประจำรัฐสภา และ นายกรัฐมนตรี โดยทั้งสามส่วนนี้ได้รับการแบ่งโดยชุมชนที่ใหญ่ที่สุดสามชุมชน (คริสน์นิกายมาโรไนท์, อิสลามนิกายชีอะห์ และ สุหนี่ ตามลำดับ) ตามข้อตกลงที่ทำไว้เมื่อปีพ.ศ. 2400
ศาสนาในเลบานอน
ที่นั่งในสภาฯทั้งหมด128 ที่นั่ง ยังมีการแบ่งอย่างเท่าๆกันสำหรับ คริสเตียน มุสลิม และ Druze
จากการที่มีความหลากหลายของศาสนาเช่นนี้ ทำให้ประเทศตกเป็นเป้าในการที่จะถูกแทรกแซงโดยง่ายจากอำนาจนอกประเทศ อย่างที่เด่นชัด คือ อิหร่าน ก็จะให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชีอ่ะห์ และเป็นกำลังด้านทหารและกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดในเลบานอน
หลังจากสิ้นสุดสงครามการเมือง บรรดาผู้นำทางการเมืองของแต่ละลัทธิก็ยังคงอำนาจและอิทธิพลของตนเองผ่านระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนศาสนาที่พวกเขาเป็นตัวแทน และให้สิทธิประโยชน์ด้านการเงินทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและผิดกฎหมาย
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้จัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index; CPI) ให้เลบานอนอยู่อันดับที่ 137 จาก 180 ประเทศ
หากเหล่ากลุ่มชุมชนที่มีความแตกต่างของศาสนานี้ยังคงเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง และไม่พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศอาจจะไม่ได้กลับมาพลิกฟื้นในเร็ววัน
ยังไงก็ขอเอาใจช่วยเลบานอนนะคะ #PrayforLebanon
ที่มา:
โฆษณา