8 ส.ค. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
MK จากร้านอาหารตึกแถว สู่เชนร้านสุกี้ 40,000 ล้าน
“กินอะไร กินอะไร กินอะไร ไปกิน MK..”
หรือ “ช่วงเวลาแห่งความอบอุ่น ช่วงเวลาแห่งความสุข”
สโลแกนของร้านสุกี้ MK ที่ชาวไทยเกือบทุกคนต้องเคยได้ยินผ่านหู
3
MK เป็นร้านสุกี้ที่เรามักแวะไปทานกับครอบครัว หรือพ้องเพื่อน
ซึ่งนอกจากน้ำจิ้มรสเด็ดแล้ว อีกเอกลักษณ์ของร้านอาหารแห่งนี้คือ ลีลาการเต้นของพนักงาน MK..
ร้านสุกี้ MK จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้ชื่อย่อ “M”
และมีมูลค่าบริษัทกว่า 45,600 ล้านบาท
แต่รู้ไหมว่า กว่าจะมาเป็นเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้าน
MK มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านอาหารไทยคูหาเดียว ในย่านสยามสแควร์
ย้อนเวลาหาอดีต มีชาวฮ่องกงชื่อ มาคอง คิงยี (Markon Kingyee) ได้เปิดร้านอาหารไทยเล็กๆ ขึ้น
โดยชื่อร้าน MK ก็มาจากชื่อย่อภาษาอังกฤษของคุณมาคอง คิงยี
ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2505 คุณมาคอง ก็ต้องย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่ บอสตัน สหรัฐอเมริกา
จึงตัดสินใจขายกิจการร้านอาหารแห่งนี้ให้แก่คุณ “ทองคำ เมฆโต” ซึ่งเป็นแม่ครัวของร้าน
ให้ดำเนินธุรกิจต่อ เพราะเห็นว่าคุณทองคำ เป็นคนขยันขันแข็ง และไว้ใจได้
หลังจากนั้นภายใต้การดูแลของคุณทองคำ
ร้านอาหาร MK ก็รุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ และมีลูกค้าประจำแวะเวียนมาบ่อยๆ จนต้องขยายร้านเป็นสองคูหา
เพราะถูกใจในฝืมือการทำอาหาร และใจรักการบริการของเธอ
โดยอาหารที่ขึ้นชื่อในตอนนั้น ก็มี ข้าวมันไก่, เนื้อตุ๋น, ผัดไทย, ผัดขี้เมา, เนื้อย่างเกาหลี (เตาถ่าน), ยำ
1
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ ก็เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด
เมื่อปี พ.ศ. 2527 ลูกค้าประจำของร้านคนหนึ่ง
คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งห้างเซ็นทรัล และประธานบริษัทในยุคนั้น
ได้เชิญชวนให้คุณทองคำไปเปิดร้านอาหารไทย ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
ซึ่งเธอก็ตอบตกลง และใช้ชื่อร้านว่า “กรีน เอ็มเค”
และ 2 ปีต่อมา คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ก็ชวนเธออีกครั้ง ให้ไปเปิดร้านสุกี้ MK ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว
เนื่องจากเกิดปัญหาพื้นที่เช่าว่าง ซึ่งตอนแรกกันไว้ให้ธนาคารแห่งหนึ่งเช่า แต่สุดท้ายธนาคารก็เช่าไม่ได้
รวมถึงมองว่าตอนนั้นที่ห้างก็ยังไม่มีร้านสุกี้มาเปิดเลยสักร้าน
2
ร้านสุกี้ MK สาขาแรกจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา
ถึงแม้สมัยก่อนชาวไทยยังไม่ค่อยนิยมทานสุกี้กัน
แต่ MK ก็ได้รับความนิยมและกระแสตอบรับจากลูกค้าอย่างแพร่หลาย
รวมถึงมีการนำวิธีการบริหารจัดการ และการตลาดสมัยใหม่ มาปรับใช้กับธุรกิจ
จนสามารถขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้อย่างต่อเนื่อง จนครอบคลุมทั่วประเทศ
1
ซึ่งวิวัฒนาการสำคัญของ MK สรุปได้ดังนี้
ปี พ.ศ. 2537 MK เปิดสาขาแรกที่ประเทศญี่ปุ่น โดยให้พันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Plenus Co.,Ltd.
เป็นผู้ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ในญี่ปุ่น
2
พ.ศ. 2539 เริ่มทยอยเปลี่ยนหม้อต้มสุกี้ จากระบบแก๊สหุงต้ม มาเป็นระบบไฟฟ้า
เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน
1
พ.ศ. 2549 บริษัทได้เข้าทำสัญญาแฟรนไชส์ เพื่อรับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ (Yayoi)” ในไทย จากบริษัท Plenus Co.,Ltd.
พ.ศ. 2555 ได้เข้าทำสัญญาแฟรนไชส์ เพื่อรับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น “มิยาซากิ” จากบริษัท Gozouroppu Co.,Ltd.
1
พ.ศ. 2556 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ผลประกอบการของ MK ในปัจจุบัน
บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 มีรายได้ 17,234 ล้านบาท กำไร 2,574 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 17,871 ล้านบาท กำไร 2,604 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ในปีล่าสุด
76.0% มาจากร้านสุกี้ MK Restaurants, MK Gold และ MK Live
18.6% มาจากร้านอาหารญี่ปุ่น Yayoi
2.8% มาจากร้านอาหารอื่นๆ เช่น Miyazaki, Hakata, Le Siam, Na Siam
2.6% มาจากรายได้อื่นๆ
1
และปัจจุบันร้านอาหารภายใต้แบรนด์ MK มีทั้งหมด 463 สาขาทั่วประเทศไทย
34 สาขาในญี่ปุ่น, 9 สาขาในเวียดนาม และ 2 สาขาในลาว
ร้านอาหาร Yayoi มี 198 สาขาในไทย และ 10 สาขาในสิงคโปร์
ร้านอาหาร Miyazaki มี 23 สาขาในไทย และ 1 สาขาในลาว
ร้านอาหาร Hakata 6 สาขา, Na Siam 1 สาขา, Le Siam 3 สาขา
Le Petit 3 สาขา, Bizzy Box 8 สาขา และ Harvest 1 สาขาในไทย
 
จุดเริ่มต้นของอาณาจักร MK จากร้านอาหารไทยเล็กๆ ในซอย ที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
จนได้กลายเป็นเชนร้านสุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่นแนวหน้าของเมืองไทย ที่มีลูกค้าทั่วทั้งประเทศ
จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าตอนนั้นคุณทองคำไม่ตัดสินใจคว้า “โอกาส” ที่จะซื้อร้านอาหารต่อจากคุณมาคอง คิงยี
หรือไม่ตัดสินคว้า “โอกาส” ที่จะไปเปิดร้านอาหารในศูนย์การค้าเซ็นทรัล
ซึ่งถ้าคุณทองคำ ตัดสินใจอยู่เฉยๆ และไม่กล้าคว้าโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต
เพราะกลัวว่าจะล้มเหลว หรือคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อม
2
วันนี้ เราก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นพนักงาน MK มาเต้นให้เราดู..
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ MK ดำเนินธุรกิจมา
โควิด-19 น่าจะเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุด เท่าที่บริษัทเคยเผชิญ
เพราะในช่วงล็อกดาวน์ ร้านอาหารของ MK สาขาต่างๆ โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า
ต้องปิดให้บริการลง
2
หรือแม้แต่หลังคลายล็อกดาวน์
ทางร้านอาหาร ก็ไม่สามารถให้บริการที่นั่งได้เต็มทั้งหมด เพราะมาตรการ Social Distancing
แต่ใครจะไปรู้
วิกฤติครั้งนี้ อาจมีโอกาสซ่อนอยู่ให้ MK หรือผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ คว้าอีกก็เป็นได้..
โฆษณา