8 ส.ค. 2020 เวลา 12:25 • ธุรกิจ
LVD#73 : รู้จักความผิดพลาด 4 ประเภท เพื่อล้มเป็นและก้าวต่อ
สวัสดีครับทุกท่าน ในปัจจุบันท่านที่อยู่แวดวงธุรกิจ คงมีความคุ้นเคยกับคำว่า Startup ดีอยู่แล้ว และหนึ่งในคำฮิตของเหล่า Startup ก็คือ Fail fast หรือ Fail forward เพราะเราเชื่อว่าการล้มเร็วจะพาเราไปสู่สิ่งใหม่เร็วขึ้น วันนี้ผมไม่ได้มาชวนคุยเรื่อง Fail fast แต่อยากจะชวนทุกคนไปทำความเข้าใจเชิงลึกถึงคำว่า Fail เราล้มเหลวยังไง ล้มได้กี่แบบ ล้มแล้วยังไงต่อ เพื่อจะเป็นพื้นฐานให้เรารู้ว่าจะ Fail ยังไงให้ forward ครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
ในปัจจุบันเรามีค่านิยมเกี่ยวกับความผิดพลาดเปลี่ยนไป วิชาธุรกิจสมัยใหม่บอกว่ายิ่งล้มเร็วจะยิ่งดี ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆกับค่านิยมไม่กลัวความผิดพลาด ทำให้เรากล้าเสี่ยงมากขึ้น ออกนอก comfort zone ได้ง่ายขึ้น...
... แต่ก่อนจะล้มให้เร็ว ผมคิดว่าเราต้องเริ่มจากล้มให้เป็นก่อน...
จะล้มให้เป็นได้ เราก็ต้องทำความรู้จักกับความผิดพลาดมากขึ้น เนื้อหาวันนี้ ผมอ่านมาจากหลายๆแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นจาก HBR, Entrepreneur.com และอีกหลายแหล่ง แล้วผสมเป็นความเข้าใจตัวเอง ดังนั้น เนื้อหานี้เป็นข้อคิดเห็นสามารถช่วยกันต่อยอดความคิดได้ครับ ถ้างั้นเรามาเริ่มจากรู้จักกับความผิดพลาด 4 ประเภทกันครับ
1. Preventable failures
นิยามง่ายๆของความผิดพลาดแบบนี้ คือ เป็นความผิดพลาดที่เราคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น แต่เราไม่ได้ป้องกัน เช่น มี protocol ในการทำงานแต่ไม่ได้ทำตามทำให้เกิดความเสียหาย รู้ว่าต้องเตรียมตัวทำ presentation แต่ไม่ได้ทำ รู้ว่าเดินตากฝนจะเป็นหวัด แต่กลับไม่ยอมกลางร่ม และความผิดพลาดแบบนี้แหละที่เราไม่ควรยอมรับและต้องรู้สึกผิด เพราะสาเหตุหลักมาจากความประมาทหรือปล่อยปะละเลยของเราเอง
วิธีป้องกันความผิดพลาดแบบนี้ ก็คงตรงไปตรงมา คือต้องมี check list ที่ดี แต่มากกว่านั้นต้องมั่นใจว่าผู้ปฎิบัติงานเข้าใจ check list เหล่านั้น
2. Complex failures
ความผิดพลาดลักษณะนี้จะเกิดกับงานที่มีความซับซ้อนมากกว่า เป็นงานที่เรารู้ดีอยู่แล้วว่าจะต้องทำอะไรนะครับ แต่มันซับซ้อนเนื่องจากมันต้องผสมเรื่องต่างๆเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก ดังนั้นแม้ว่าทุกเรื่องอาจจะมี protocol ของมันเองแต่การที่มันถูกนำมาผสมกันก็ทำให้เรื่องเดิมกลายเป็นเรื่องใหม่และมีโอกาสผิดพลาด ตัวอย่างความผิดพลาดแบบนี้ก็ตัวอย่างเช่น การรักษาคนไข้ฉุกเฉิน ที่เราอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ตลอดเวลา
ซึ่งการผิดพลาดบนเหตุการณ์ใหม่แบบนี้ ก็อาจจะหลีกเลี่ยงได้ยาก และแม้จะไม่อยากยอมรับแต่เราก็ควรต้องยอมรับ error ลักษณะนี้ได้ วิธีแก้ก็คงทำได้ไม่ 100% แต่ต้องลดสิ่งที่ควบคุมไม่ได้และมองไม่เห็นให้น้อยที่สุด ผ่านการทำ monitoring report ทั้งหลายเพื่อให้ผู้ปฎิบัติงานทราบหรือสามารถสังเกตุความผิดปกติได้ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมือนที่คาด ก็ต้องมีแผนฉุกเฉินเพื่อหยุด snowball effect ของเหตุการณ์ให้ได้
3. Intellectual failures
ความผิดพลาดแบบนี้แหละที่เหล่า Startup พูดถึง แล้วมันเกิดขึ้นยังไง มันก็เกิดขึ้นเมื่อเราเจอปัญหาที่เราไม่มีความรู้ที่จะตอบ เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยเราก็ไม่เคยเจอ ดังนั้น สามารถของความผิดพลาดนี้จึงมาจาก 2 สาเหตุ คือ เราไม่มีความเชี่ยวชาญ กับ ความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องใหม่
ยกตัวอย่างเช่น เราอยากออกสินค้าหรือบริการใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราไม่รู้เลยว่าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นใช่ไหมครับ ก็อาจจะมีโอกาสล้มเหลว แต่ก็ต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวที่ดี เพราะทำให้เรารู้ว่าวิธีการแบบนี้ไม่เวิร์ค และสิ่งที่เราได้กลับมาแม้จะไม่ใช่ยอดขายหรือรายได้แต่มันคือความรู้ใหม่
การที่เราส่งเสริมความล้มเหลวลักษณะนี้ มันส่งเสริมให้เรากล้าออกจาก comfort zone ถ้าเราต้องการหาการเติบโตใหม่ๆหรือ S-Curve ใหม่ๆ เราก็ต้องทำสิ่งใหม่ด้วย ทำสิ่งเดิมแล้วอยากได้ผลลัพท์ใหม่คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ การที่เราต้องล้มเร็วก็เป็นเพราะ “ราคา” ของความล้มเหลวตอนแรกมันถูก และถ้ารอให้พร้อมแล้วล้มก็อาจจะแพง หรือช้าไปจนไม่มีโอกาสได้ทำแล้ว
4. Do-Nothing failures
เวลาเราเจอเรื่องยากๆ ธรรมชาติของเราจะพยายามหลีกเลี่ยงและบอกตัวเองให้อยู่ในพื้นที่เดิมดีกว่า แต่ในความจริงแล้ว ต้นทุนของการไม่ทำอะไรเลยในวันนี้ อาจจะแพงกว่าการทำผิดพลาดเสียอีก หรือบางครั้ง การที่เรารอให้โอกาสมาถึงหรือต้องรอเวลาให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ก็เป็นหนึ่งในข้ออ้างยอดฮิตของการไม่ทำอะไร ความล้มเหลวแบบนี้เป็นความล้มเหลวแบบ 100% เพราะเราไม่มีแม้แต่โอกาสลุ้น และยังเสียโอกาสที่จะเรียนรู้อีกด้วย
แล้วเราแก้ Do-Nothing Failures ยังไงดี วิธีการแก้ที่ตัวผมเองใช้บ่อยๆคือ การมองสถานการณ์ที่แย่ที่สุดหรือ Worst Case Scenario เพราะการมอง Worst มันช่วยให้เรามีความตระหนักรู้ว่า ถ้าเราทำผิดพลาดผลที่เราจะได้รับจะเป็นยังไงและด้วยโอกาสเท่าไร ถ้ามันไม่หนักมากหรือยังจัดการได้ เราก็จะลดความกดดันในการตัดสินใจลงมือทำได้มากเลย อีกเรื่องที่อยากจะฝากไว้คือ เวลาเราพิจารณาผลเราต้องพิจารณาควบคู่กับโอกาสความเป็นไปได้ด้วย แต่ถึงแม้โอกาสความเป็นไปได้จะต่ำแค่ไหน แต่ถ้าผลของความล้มเหลวมันถึงขั้นทำให้ธุรกิจเราพินาศเลย ปกติผมก็จะไม่เสี่ยง เพราะเราไม่ได้เล่นพนัน และล้มแบบนี้แม้จะโอกาสล้มน้อยแต่คุณอาจไม่มีโอกาสลุกอีกเลยก็ได้
สุดท้ายไม่ว่าคุณจะล้มเหลวด้วยเหตุผลไหนภายใต้ประเภทอะไร ผลที่ได้รับต่อตัวคุณ ก็ขึ้นกับวิธีคิดของตัวคุณเองนั่นแหละ มันขึ้นกับการตั้งคำถามต่อการกระทำและตัวคุณเอง ทุกครั้งที่พลาด จำไว้ว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นที่การกระทำไม่ใช่ตัวคุณที่ผิดทั้งหมด เรียนรู้จากการกระทำที่ผิดพลาดนั้น (ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดประเภทไหน) ว่าต่อไปจะป้องกันยังไง อย่าลืมนะครับ โลกวันนี้คุณต้อง Build => Measure => Learn ได้ทุกวัน ทุกกิจกรรม คุณต้องเลือกเองว่าจะรู้สึกผิดไปเรื่อยๆ หรือ เรียนรู้แล้วก้าวต่อไปครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา