9 ส.ค. 2020 เวลา 00:41 • ธุรกิจ
เงินด้อยค่าได้อย่างไร? วัฏจักรหนี้สินระยะยาว อธิบายโดยเรย์ ดาลิโอ
ทำไมเรย์ ดาลิโอจึงบอกว่า “เงินสดคือขยะ” ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ตอนนี้เงินหายาก
มากและเป็นที่ต้องการเหลือเกิน จะเป็นขยะไปได้อย่างไรกัน? ความจริงแล้วประโยคนี้อธิบายได้ด้วยวัฏจักรหนี้สินระยะยาวครับ (The Long-Term Debt Cycle)
***ผมพยายามจะให้เข้าใจง่ายที่สุดนะครับ หากผิดพลาดตรงไหนต้องขออภัยไว้
ล่วงหน้าเลยนะครับ ถ้าเพื่อน ๆ อยากฟังเต็ม ๆ ผมทำคลิปสรุปไว้ในยูทูปช่อง
Kim Property Live หรือถ้าอยากอ่านแบบละเอียดสามารถเข้าไปอ่านต้นฉบับได้ใน Linkedin ส่วนตัวของ Ray Dalio เลยครับผม***
เมื่อวันจันทร์ผมได้หยิบเรื่องเงินคืออะไร? จากซีรี่ย์ The Changing World Order
ของเรย์ ดาลิโอ ใน Chapter ที่ 2 “Money, Credit, and Debt” มาคุยกัน วันนี้จึง
เป็นเหมือนภาคต่อที่จะทำให้เพื่อน ๆ ได้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมนักลงทุนและ
นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกจึงกังวลกับการพิมพ์เงินของธนาคารกลางของหลาย ๆ
ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐ ว่าอาจทำให้เงินแต่ละสกุลสูญมูลค่าได้ และหนำซ้ำราคาทองคำยังพุ่งแรงอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้ความกังวลนี้มีมากขึ้นไปอีก
อีกด้านหนึ่ง คนทั่วไปอย่างเราๆ ก็ยังงุนงง เห็นทองคำขึ้นมาเยอะ ๆ ก็ทำตัวไม่ถูก
จะซื้อก็กลัวดอย จะขายก็กลัวขายหมู แล้วเห็นเขาว่าเงินจะสูญค่า แต่ตอนนี้เศรษฐกิจก็ย่ำแย่เก็บเงินสดไว้น่าจะดีที่สุดมิใช่หรือ เอาไงกับชีวิตดีเนี่ย? งั้นเราไปทำความเข้าใจกันดีกว่าครับว่านักลงทุนระดับโลกเขามองเห็นอะไร จะได้เป็นข้อมูลให้เพื่อน ๆ
สามารถวางแผนตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเองได้ครับ
1
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดคือการที่มนุษย์คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า เงิน (money) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความยุ่งยากของการใช้ของ
แลกของแบบตรง ๆ ซึ่งเงินในยุคแรกนั้นทำจากโลหะมีค่า และอัญมณีต่าง ๆ เช่น
ทองคำ แร่เงิน ทองแดง ไข่มุก เปลือกหอย สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “hard money”
ทีนี้ปัญหาของ hard money คือมันพกพาลำบากและมีปริมาณน้อยเกินไป ไม่ทันต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรและปริมาณการแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้านึกภาพไม่ออก ก็คือสมมติว่าเพื่อน ๆ ไปเดินตลาดสดแล้วเจอเหตุการณ์ที่แม่ค้า
ผักอยากกินปลาแต่ยังไม่มีทองต้องรอคนมาซื้อผักก่อน ส่วนแม่ค้าปลาก็อยากกินผักแต่ก็ต้องรอคนมาซื้อปลาเหมือนกัน กลายเป็นว่าถ้าใช้ระบบของแลกของนั้นแม่ค้า
ปลาและแม่ค้าผักก็แลกเปลี่ยนกันได้แล้ว แต่นี่ต้องรอให้ใครคนใดคนหนึ่งมีทอง
ก่อน ซึ่งทองก็ดันหายากซะอีก
วิธีแก้ไขคือการเพิ่มทองคำเข้าไปในระบบ แต่มันติดตรงที่ว่าทองคำไม่ได้เสกกัน
ง่าย ๆ ต้องลงทุนลงแรงและใช้เวลากันพอสมควรในการขุดขึ้นมา
ปัญหานี้จึงแก้ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าเงินกระดาษครับ (paper money) ซึ่งเป็นตัวแทน
ของทองคำ คือมันจะเป็นสัญญาที่ระบุไว้ชัดเจนว่ากระดาษแผ่นนี้สามารถแลกกลับ
คืนเป็นทองคำได้ในปริมาณเท่าไหร่ พูดง่าย ๆ คือทุกอย่างเหมือนตอนนี้ แต่ราคา
ทองคำคงที่ เพราะแท้จริงแล้วเราก็ยังใช้ทองเป็นเงินอยู่นั่นแหละ แค่ทำให้มันสะดวกขึ้นซึ่งการเข้ามาของ paper money นั้นก่อให้เกิดกลไกของหนี้สิน โดยผมได้
อธิบายไปในตอนที่แล้ว ที่บอกว่าเพื่อน ๆ ไม่ได้เก็บเงินสด แต่เพื่อน ๆ เก็บเงินฝาก
ซึ่งมันก็คือการที่เจ้าหนี้ธนาคารและเจ้าระบบธนาคารนี้แหละที่ช่วยเร่งให้เกิดการ
เติบโตของเศรษฐกิจ
ผมขอยกคำอธิบายของเรย์มาอีกรอบเพื่อทบทวนความจำนะครับ เรย์บอกว่ามันน่า
สนใจที่คุณจะให้คนอื่นยืมเงินไป โดยที่คุณจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนคนที่
มายืมก็ต้องนำเงินไปสร้างผลตอบแทน และนำผลตอบแทนบางส่วนมาจ่ายเป็น
ดอกเบี้ยให้คุณ กลไกเหล่านี้ทำให้เกิดการเพิ่มผลผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งดีต่อระบบ
และสังคมโดยรวม
ทว่าปัญหาในตลาดสดยังไม่จบ เพราะ paper money ก็ยังคงเป็นตัวแทนของทอง
คำอยู่ดี สุดท้ายพอเศรษฐกิจเติบโตมาก ๆ เหมืองก็ขุดทองขึ้นมาไม่ทันเหมือนเดิม
แต่ด้วยความที่ paper money มันผลิตง่ายครับ บวกกับผู้คนใช้กันมาสักพักจนเชื่อมั่นในกระดาษที่เขียนตัวเลขนี้ว่ามันมีค่าจริง ๆ ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกมาตรฐานทองคำซะเลย แปลว่าตอนนี้ใครจะพิมพ์เงินเท่าไหร่ก็ได้ โดยเรียกเงินในรูปแบบนี้ว่า "fiat money"
นั่นทำให้กลไกของระบบสมบูรณ์ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแค่ไหนก็ผลิตเงิน
เพิ่มทันแน่นอน ไม่เกิดเหตุการณ์แม่ค้าปลากับแม่ค้าผักยืนมองหน้าทำตาปริบ ๆ
ใส่กันแบบที่เคยเป็นมา
แล้วตอนนี้มันเกิดปัญหาอะไรล่ะ? ตอนนี้เกิดเหตุการณ์ที่ดอกเบี้ยในหลายประเทศติดลบครับ จำกลไกหนี้ได้ใช่ไหมครับ ดอกเบี้ยจะทำให้เพื่อน ๆ อยากฝากเงินเพื่อจะ
ได้เงินเพิ่มขึ้นในอนาคต
แต่ถ้าดอกเบี้ยติดลบ ใครจะอยากฝากล่ะ? คนเดียวที่ยอมฝากก็เลยเป็นรัฐบาลเอง ทำให้ยังคงมีเงินเข้ามาในระบบอยู่ แต่เงินเจ้ากรรมนี้ก็ดันไม่ค่อยกระจายออกไป
เพิ่มผลผลิตเท่าไหร่ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงขยายกิจการ
เลยกลายเป็นว่าเงินเหล่านั้นจึงวิ่งไปที่สินทรัพย์เพื่อปกป้องความมั่งคั่งเสียมากกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือทองคำ ที่เชื่อกันว่าเป็นเงินที่แท้จริงของโลกนี้ มันเลยกลายเป็นว่ามูลค่ามันจะกลับไปสู่ hard money อีกครั้ง
งั้นก็ขึ้นดอกเบี้ยสิ! ในอดีตเคยใช้วิธีนี้แล้วเกิดความพินาศมาแล้วครับเพราะการขึ้นดอกเบี้ยทำให้เงินมันออกจากระบบเศรษฐกิจมากขึ้น มันเลยเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในตอนนี้ครับ
แต่ด้วยความสัจจริงผมไม่คิดว่าดอลลาร์จะล่มสลาย เพราะด้วยโลกที่มันเชื่อมโยง
กันนั้นทำให้ไม่มีใครได้ประโยชน์จากการด้อยค่าของเงินดอลลาร์ แต่ก็ไม่มีใคร
สามารถรู้อนาคตได้
แล้วเพื่อน ๆ เตรียมตัวกับความไม่แน่นอนนี้อย่างไรบ้าง มาแชร์กันครับ
.
แอดปุง
โฆษณา