9 ส.ค. 2020 เวลา 06:00 • ธุรกิจ
เกาหลีใต้ + ญี่ปุ่น เตรียมย้ายโรงงานไปลงอินโดนีเซีย !
อย่างที่เคยบอกไปครับว่าสงครามการค้าและความขัดแย้งที่สหรัฐอเมริกามีต่อจีนนั้นรุนแรง และสร้างผลกระทบต่อประเทศที่เล็กกว่าในปริมาณมาก ประเทศที่เข้าไปลงทุนในจีนต่างได้รับความเสียหาย
ไม่ว่าจะเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ต่างก็เจอพิษมรสุมของสงครามการค้า และมาตรการทางด้านภาษีที่สหรัฐอเมริกาตั้งใส่จีนทั้งสิ้น แล้วยิ่งมาเจอ COVID-19 จนทำให้จีนสั่งล็อคดาวน์ครั้งใหญ่ไปอีก
หลายๆประเทศเลยเริ่มมีแผนจะย้ายฐานการผลิต ย้ายโรงงานออกจากจีน เนื่องจากต้องทำการปรับตัวตามห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเปลี่ยนแปลง ตามที่ประธานาธิบดี Donald Trump วางแผนเอาไว้
ล่าสุดนี้ทางโฆษกของรัฐบาลอินโดนีเซียแถลงออกมาเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ว่า ทางกลุ่มบริษัทของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มอีก 7 บริษัท ได้ตัดสินใจแล้วที่จะย้ายโรงงานมาอยู่ที่ชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งจะมีการทุ่มเงินลงทุนกันเกือบ 900,000,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และมีแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีโรงงานของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พยายามย้ายออกจากจีน
แล้วขนเม็ดเงินปริมาณมหาศาลเข้ามาลงทุนที่อินโดนีเซียอีกกว่า 40,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม และปรับตัวตามห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไป
สาเหตุที่อยู่ๆบริษัทและโรงงานหลายๆแห่งก็ตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนภายในอินโดนีเซียเพิ่มนั้นเป็นเพราะเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมามีการย้ายโรงงานครั้งใหญ่ในกลุ่มบริษัทข้ามชาติไปประเทศเพื่อนบ้านของอินโดนีเซีย
ประธานาธิบดี Joko Widodo ของอินโดนีเซียจึงรีบสั่งให้บอร์ดส่งเสริมการลงทุนทำการแก้ปัญหาดังกล่าว และรีบติดต่อไปอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนโดยเร็วที่สุด ว่านักลงทุนต้องการอะไร ขาดเหลืออะไร มีอะไรที่รัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวกได้รัฐบาล Jokowi ก็จะทำให้ทุกอย่าง
ทำให้ในขณะนี้มีอย่างน้อยเกือบๆ 120 บริษัทแล้วที่เข้ามาติดต่อกับรัฐบาล แล้วเตรียมตัวจะขอย้ายโรงงานเข้ามาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมภายในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เยอะมาก
โดยตัวอย่างของบริษัทที่กำลังจะย้ายโรงงานมาอยู่อินโดนีเซียในอนาคตอันใกล้นี้มีทั้ง LG Electronics, CDS Asia, Sagami Electric, Denso, Panasonic, Meiloon, และ Kenda Tire เป็นต้น
และหากการย้ายโรงงานของ LG Electronics นั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ก็มีความเป็นไปได้สุงว่า LG Chemicals จะย้ายโรงงาน และฐานปฏิบัติการบางส่วนตามมายังอินโดนีเซียพร้อมเงินลงทุนอีกเกือบๆ 10,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
การย้ายฐานและโรงงานครั้งใหญ่ของบริษัทระดับยักษ์ภายในเอเชียตะวันออกนี้ จะทำให้เกิดการจ้างงานคนอินโดนีเซียครั้งใหญ่ จำนวนไม่ต่ำกว่า 35,000-40,000 ตำแหน่ง ถือเป็นการสร้างงานให้แก่คนท้องถิ่นโดยเฉพาะ
ตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่กำลังบ่งชี้ว่าอินโดนีเซียกำลังเตรียมความพร้อมรับคลื่นการลงทุนขนาดใหญ่นี้ได้ดีแค่ไหน ก็คือ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจกลุ่มต่างๆได้เตรียมตัวให้การสนับสนุนบริษัทข้ามชาติอย่างเต็มที่ในช่วงหลายเดือนมานี้
ทั้งเตรียมที่ดินขนาด 10,000 กว่าเอเคอร์เอาไว้ให้บริษัทญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้ามาเช่าเพื่อทำการลงทุน (จะได้ไม่ต้องมัวเสียเวลาจัดการทำเรื่องซื้อที่ดิน และการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน) เพราะรัฐวิสาหกิจ และบริษัทนายหน้าภายในอินโดนีเซียได้เตรียมการไว้ให้หมดแล้ว
ไม่ใช่แค่ที่ดินเท่านั้น แต่เรื่องพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ การขนส่งทางราง และท่าเรือบก ทางอินโดนีเซียก็ได้เตรียมการเอาไว้รองรับการลงทุนหมดแล้ว เรียกได้ว่าขอแค่ย้ายมา ก็พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการกันได้เลย
สำหรับสาเหตุที่กลุ่มนายทุนต่างชาติมองข้ามอินโดนีเซียไปในช่วงก่อนหน้านี้นั้น เป็นเพราะระบบราชการ และการคอรัปชั่นภายในประเทศอินโดนีเซียมีค่อนข้างสูง ทำให้ความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนมีไม่มากพอ
พวกต่างชาติก็เลยไม่ค่อยไว้วางใจประเทศอินโดนีเซีย แล้วหันไปหาเวียดนาม ไม่ก็ไทยแทน อินโดนีเซียเลยต้องทำการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเอาใจบริษัทข้ามชาติ ถึงจะได้เม็ดเงินการลงทุนหลักหมื่นล้านครั้งนี้มา
References
1. บทความจาก Jakarta Globe ชื่อ "Indonesia Welcomes $38b Factories Relocation From China to C. Java"
2. บทความจาก The Diplomat ชื่อ "Indonesia seeks to win US and Japanese investment fleeing China"
3. บทความจาก The Jakarta Post ชื่อ "Seven companies to relocate facilities to Indonesia, invest $850m"
4. บทความจาก Free Malaysia Today ชื่อ "Japan’s push to cut China dependence may boost SE Asia"
5. บทความจาก The Business Times ชื่อ "Indonesia industrial estates to gain from Japan factory relocation: report"
6. บทความจาก The Straits Times ชื่อ "Japan's factory output rebounds, jobless rate dips as lockdown lifts"
7. บทความจาก The Straits Times ชื่อ "Asia's factory pain eases as China's manufacturing activity jumps"
8. บทความจาก Nikkei Asian Review ชื่อ "Southeast Asia vies for foreign manufacturers leaving China"
9. บทความจาก South China Morning Post ชื่อ "Indonesia wants firms relocating from China. Why are so few coming?"
โฆษณา