9 ส.ค. 2020 เวลา 13:17 • ธุรกิจ
บริษัทไทยเอาบ้าง เตรียมย้ายโรงงานหนีไปอยู่เวียดนาม !
5
เรื่องการย้ายฐานการผลิต การย้ายโรงงานจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งที่มีเงื่อนไขดึงดูด น่าลงทุนมากกว่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาที่ภูมิทัศน์การลงทุนมันเกิดการเปลี่ยนแปลง
พอมีสงครามการค้าเกิดขึ้นเมื่อช่วง 2-3 ปีก่อน บริษัทไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาต่างก็มีแผนที่จะย้ายโรงงาน ย้ายบริษัทหนีออกจากจีนเพื่อไปหาแหล่งการลงทุนแห่งใหม่กัน
1
ซึ่งเวียดนามนั้นก็เป็นเป้าหมายปลายทางที่นักลงทุนต่างชาติ และกลุ่มทุนในหลายๆประเทศจ้องกันตาเป็นมันตั้งแต่ที่เวียดนามเซ็นยอมรับว่าตนเองจะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
เพราะมีการเปิดช่องทางให้กลุ่มบริษัท และนายทุนสามารถเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในฐานะเขตการค้าเสรีแห่งหนึ่งได้ กฎหมายเอื้อ รัฐบาลสนับสนุน แถมมีแหล่งตลาดที่ใหญ่ขึ้น ผลิตสินค้าเสร็จก็สามารถส่งออกไปขายยังปลายทางในกลุ่ม CPTPP ได้สบายๆ
ในไทยนี้เราเห็นกระแสกันมาตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีมานี้แล้วที่บริษัทญี่ปุ่นเริ่มประกาศแผนจะทยอยย้ายฐานการผลิตจากไทยไปหาเวียดนามแทน เพราะต้องการไปใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากกรอบการค้าเสรีที่เวียดนามมี
อย่าง Panasonic ก็เพิ่งประกาศว่าจะย้ายโรงงานผลิตเครื่องซักผ้า โรงงานผลิตตู้เย็นไปอยู่ที่กรุงฮานอยแทน เพราะข้อเสนอของรัฐบาลเวียดนามในการลงทุนนั้นดีกว่าที่ไทย
1
โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของไทยประจำกรุงฮานอยนั้นเผยว่าสถิติใหม่นี้นักลงทุนชาวไทยได้เข้าไปลงทุนภายในประเทศเวียดนามแล้วมากกว่า 500 โครงการ คิดเป็นเงินมูลค่า 12,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ถือเป็นมูลค่าที่สูงเป็นลำดับ 9 จากทั้งหมด 136 ประเทศที่เข้าไปร่วมลงทุนภายในเวียดนาม (ซึ่งพวกระดับแถวหน้าที่เข้าไปลงทุนนั้นก็มีทั้งเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น)
ซึ่งอุตสาหกรรมของไทยที่ย้ายเข้าไปยังเวียดนามก็อย่างเช่นอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ที่ขณะนี้มีรายงานว่าได้เข้าไปเปิดโรงงานที่เวียดนามจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 โรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (และก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ)
บางบริษัทของไทยถึงขั้นสั่งปิดโรงงานที่ไทย แล้วไปเน้นลงทุนที่เวียดนามเป็นหลักทีเดียวเลยก็มี อย่างบริษัท ไทยพาฝัน จำกัดนี้ ก็เพิ่งประกาศปิดโรงงานที่ปราจีนบุรี แล้วไล่พนักงานจำนวนกว่า 500 คนออก เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้
2
แล้วหันไปทุ่มลงทุนทำโรงงานที่ประเทศเวียดนาม ไปหาจ้างเอาคนเวียดนามแบบเต็มกำลังทีเดียวเลยประมาณไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เพราะค่าแรงคนเวียดนามมีราคาที่ต่ำกว่าคนงานคนไทย
2
ถ้าถามว่าทำไมถึงพากันย้ายนั้น เหตุผลง่ายๆเลยคือที่เวียดนามนั้นให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ดีกว่าประเทศไทย เวียดนามมีข้อตกลง FTA ไม่ต่ำกว่า 10 ฉบับนะครับ ทั้ง CPTPP ทั้ง EVFTA (เวียดนาม-สหภาพยุโรป)
1
ทำให้เวียดนามมีอัตราการเข้าถึงตลาดโลก และตลาดของคู่ค้าโดยได้รับการยกเว้นภาษีมากกว่า เวลาที่จะผลิตสินค้าแล้วส่งออกไปขายยังต่างประเทศ (ข้อดีของการมีข้อตกลง FTA ไว้ใช้)
ค่าแรงของคนงานเวียดนามก็ถูกมากเมื่อเทียบกับค่าแรงของคนงานในไทย ในไทยนี้ค่าแรงขั้นต่ำเราให้เขา 320-340 บาทต่อวัน โดยประมาณ แต่ที่เวียดนามนี้เรทดีสุดเขายังได้แค่วันละประมาณ 200 บาทนิดๆเอง และไม่ใช่ทุกที่จะได้ถึงวันละ 200 บาท
ความสะดวกของระบบราชการภายในเวียดนามก็ดีกว่าของที่ไทย ที่ไทยนั้นเวลาจะยื่นขอเอกสารอะไรใช้เวลาหลายเดือน อย่างน้อยๆก็เกือบครึ่งปี แต่ของเวียดนามเวลาไปยื่นเรื่องจะทำกิจการอะไรพวกนี้เดือนเดียวก็ได้แล้ว
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่พวกอุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอะไรพวกนี้เขาตัดสินใจย้ายหนีประเทศไทยออกไป ทั้งๆที่นักลงทุนเป็นคนไทยก็คือ ที่เวียดนามมีระบบห่วงโซ่อุปทานที่พร้อมมากกว่าไทย
1
ด้วยความที่เวียดนามเขามีการเปิดกว้างให้นักลงทุนจากหลากหลายแห่งเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้ากัน ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้เข้ามารวมอยู่ในเวียดนามได้ พอเป็นอย่างนี้จะผลิตอะไร จะขายอะไรก็ง่าย
1
บริษัทไทยถ้าอยากจะส่งออกไปค้าขายที่ตลาดต่างประเทศให้ได้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น ก็เลยต้องตัดสินใจอพยพย้ายโรงงานไปอยู่ในประเทศที่มีข้อตกลง FTA หรือข้อตกลงที่ให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเวลาจะส่งสินค้าออกไปขาย
1
ซึ่งบริษัทไทยในตอนนี้หลายๆบริษัทก็หวังสิทธิประโยชน์เหล่านั้น ก็เลยรีบย้ายโรงงานของตัวเองไปไว้ที่เวียดนาม เพราะจะได้ใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ลดภาษีนำเข้า ลงเป็น 0% จะได้เข้าถึงตลาดทั้งของกลุ่ม CPTPP และกลุ่มสหภาพยุโรป
เนื่องจากไทยยังไม่มี FTA กับสหภาพยุโรป ยังไงๆก็คงจะเห็นบริษัทและโรงงานหลายๆแห่งทยอยพากันย้ายฐานหนีไทยไปเรื่อยๆแบบนี้ จนกว่าไทยเราจะมีความชัดเจนเรื่องการทำ FTA นั่นแหละครับ
นี่คือข้อเสียและราคาลำดับแรกๆที่ไทยเราจะต้องจ่าย เมื่อเราไม่มีความเพียบพร้อมต่อประเด็นการเจรจา FTA หรือข้อตกลงทางการค้าที่จะช่วยขยายขอบเขตการส่งออก และความร่วมมือทางด้านการค้าขายกับประเทศพันธมิตร
References
1. บทความจากประชาชาติธุรกิจ ชื่อ "เอกชนไทยหนีซบเวียดนาม แห่ย้ายฐานรับข้อตกลง FTA"
2. บทความจาก ASEAN Briefing ชื่อ "Minimum Wages in ASEAN: How Are They Calculated?"
3. บทความจาก Bangkok Post ชื่อ "Small brewers pour into Vietnam"
4. บทความจาก Bangkok Post ชื่อ "Global supply chain renovation"
5. บทความจาก Vietnam Express ชื่อ "EVFTA can pave the way ahead for SMEs too: VCCI"
6. บทความจาก The Diplomat ชื่อ "Vietnam ratifies EU free trade agreement, what's next?"
7. บทความจาก ASEAN Today ชื่อ "What does Vietnam’s trade deal with the EU mean for the country and ASEAN?"
8. บทความจาก Voice of America ชื่อ "Vietnam to Vote on EU Trade Deal as Economy Emerges from Virus"
โฆษณา