10 ส.ค. 2020 เวลา 11:48 • ประวัติศาสตร์
กำแพงเบอร์ลินตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ!!
“กำแพงเบอร์ลิน” สิ่งปลูกสร้างโดยน้ำมือมนุษย์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกำหนดเขตพรมแดนของสองประเทศในหนึ่งเมืองเท่านั้น แต่หากยังเป็นสัญญลักษณ์การแบ่งแยกระหว่างโลกเสรีทุนนิยมกับระบอบคอมมิวนิสต์
ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสัญญลักษณ์แห่งการพลัดพรากของญาติพี่น้องหรือคนรักที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชนชาติเยอรมันเหมือนกัน หากต้องเปลี่ยนสถานะไปเป็นพลเมืองของคนละประเทศ มีระบอบการปกครองที่ต่างกัน ใช้หน่วยเงินสกุลต่างกันและที่หนักที่สุดคือไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปหากันได้
ด้วยโทษของการละเมิดนั้นอาจแลกด้วยชีวิต ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่าในเมืองเดียวกันสามารถถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศได้ด้วยแนวคอนกรีตสูง 3.6 เมตรซึ่งวิถีชีวิตของพลเมืองสองฝั่งของกำแพงนั้นช่างแตกต่างกันสิ้นเชิง
การก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1961
หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในปี ค.ศ.1945 ประเทศก็ถูกแบ่งออกเป็น 4 เขตปกครองโดย 4 ประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา-ปกครองส่วนใต้ สหราชอาณาจักร-ตะวันตกเฉียงเหนือ ฝรั่งเศส-ตะวันตกเฉียงใต้ และสหภาพโซเวียต (ชื่อในสมัยนั้น) ได้ปกครองส่วนตะวันออก
เช่นเดียวกับมหานครเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศก็ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 เขตปกครองของ 4 ประเทศเหล่านี้เช่นกัน หลากหลายครั้งของการตกลงเจรจากันที่ไม่ค่อยจะลงตัวของทั้งสี่สมาชิกฝ่ายสัมพันธมิตรที่ครั้งหนึ่งเคยได้ร่วมกันต่อสู้กับเยอรมันนาซีมาด้วยกัน บวกกับระบอบการปกครองที่ต่างกันสุดขั้วของสหภาพโซเวียตกับอีก 3 ฝ่าย ทำให้ในภายหลังจึงมีการรวมเขตปกครองกันของ 3 ประเทศคือ สหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อทัดทานอำนาจของสหภาพโซเวียต
จนในที่สุดได้เกิดการจัดแบ่งประเทศใหม่เป็นสองส่วนได้แก่ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมันตะวันตก) ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมันตะวันออก) ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์
ส่วนกรุงเบอร์ลินที่เคยถูกแบ่งออกเป็น 4 เขตปกครองก็ถูกแบ่งออกใหม่เป็นสองฝั่งเช่นกันคือ เบอร์ลินตะวันตก (เป็นเมืองหนึ่งของประเทศเยอรมันตะวันตก) และเบอร์ลินตะวันออก (เป็นเมืองหลวงของประเทศเยอรมันตะวันออก)
แนวกำแพงที่แบ่งแยกกรุงเบอร์ลินออกเป็นสองประเทศ
ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบคอมมิวนิสต์และการปกครองแบบประเทศปิดจึงย้ายถิ่นฐานออกจากภูมิลำเนาไปอยู่ฝั่งตะวันตก เมื่อมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ+โดยส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่หาถึงโลกใหม่และระบบทุนนิยมอันหอมหวล ทำให้ดินแดนฝั่งตะวันออกจึงแทบจะเหลือแต่ประชากรผู้สูงอายุ
ทำให้สหภาพโซเวียตต้องออกมาตรการขั้นเด็ดขาดเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน การสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1961 ถือเป็นปฏิบัติการของรัฐบาลที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้น ยับยั้งชาวเยอรมันตะวันออกไม่ให้หนีออกจากประเทศ ไปหาชีวิตใหม่ที่ศิวิไลซ์กว่าในฝั่งตะวันตก
โดยออกกฎหมายให้มีบทลงโทษขั้นรุนแรง ตามมาด้วยอีกหลายเรื่องราวโหดร้ายจากความพยายามของประชาชนที่จะหลบหนีไปหาโลกเสรีโดยการฝ่าด่านแนวกั้นหรือปีนข้ามกำแพงนี้ไป
แต่หากต้องจบลงด้วยการถูกจับกุมหรือถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งหลายต่อหลายครั้งก็ลงโทษโดยการส่องยิงให้เสียชีวิตตามแนวกำแพงและปล่อยร่างไร้วิญญาณทิ้งไว้ตรงนั้นเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนที่คิดจะหลบหนีออกจากฝั่งเบอร์ลินตะวันออกไปยังเบอร์ลินตะวันตกได้ฉุกคิดว่าความศิวิไลซ์ที่ใฝ่หานั้นคุ้มค่าที่จะเสี่ยงชีวิตหรือไม่ กล่าวกันว่ามีผู้เสียชีวิตที่กำแพงเบอร์ลินขณะพยายามหลบหนีข้ามไปยังฝั่งตะวันตกมากกว่า 100 คน
ความไม่พอใจในสภาพเศรษฐกิจ และการเมือง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหภาพโซเวียต ในช่วงปี ค.ศ.1989 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองการปกครองในประเทศยุโรปตะวันออกได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงไปทั่วประเทศเยอรมันตะวันออก แต่ทุกครั้งก็เป็นไปอย่างสงบ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะค่อยๆเข้มข้นขึ้นก็ตาม
โดยนักเคลื่อนไหวในประเทศเยอรมันตะวันออกที่ออกมาชุมนุมกันนั้นได้ใช้หลัก "อหิงสา" ทำให้รัฐบาลยอมปล่อยให้ชุมนุมประท้วงกันได้อย่างสงบ นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ มันเป็นดั่งปาฏิหารย์ ผู้คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงแลกเปลี่ยนทัศนะคติกัน แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้หลากหลาย ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างแต่ก็เป็นไปอย่างสงบ
เหตุการณ์หลังจากกำแพงเปิด 1 วัน ประชาชนที่งสองฝั่งมาชุมนุมกัน
และแล้ววันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น กำแพงเบอร์ลินอันอัปยศได้ถูกพังทลายลงโดยมือประชาชน จะเห็นจากภาพข่าวว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้มาตรึงกำลังกันแต่ก็ได้แค่เฝ้าดูยอมให้ประชาชนทุบ รื้อ ดึงกำแพงคอนกรีตหนาอันนี้ลงไปทีละชิ้นทีละส่วน ประหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นในใจก็แอบเห็นด้วยกับการรื้อทำลายทรัพย์สินของรัฐบาลที่เคยสร้างความเศร้าสลดแก่มวลมนุษย์นั้นลงไปซะ
การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินนี้นำไปสู่การรวมชาติของสองประเทศในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 รัฐบาลจึงถือเอาวันนี้เป็นวันรวมชาติเยอรมัน (Tag der Deutschen Einheit) ของประเทศ "สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี" หรือชื่อที่เราเรียกกันสั้นๆกันว่า "เยอรมัน" แบบที่ไม่ต้องต่อท้ายด้วยคำว่า “ตะวันตก” หรือ “ตะวันออก” อีกต่อไป โดยมีกรุงเบอร์ลินที่ไม่แบ่งครึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ
การเฉลิมฉลองวันรวมประเทศ - Tag der Deutschen Einheit
30 ปีหลังจากกำแพงเบอร์ลินถูกทุบและพังทลายลงไป ถูกนำมาตั้งไว้ในประเทศไทย?
ชิ้นส่วนจริงสองชิ้นของกำแพงเบอร์ลินที่ถูกนำมาตั้งอยู่ในสถานเอกอัครราชฑูตเยอรมันประจำประเทศไทย ได้รับมอบจากนายอักเซล เบราเออร์ นักธุรกิจชาวเยอรมัน และได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นงานศิลปะโดยการรังสรรค์ของศิลปินจากสามประเทศ ได้แก่ศิลปินชาวเยอรมัน ศิลปินชาวฝรั่งเศส และศิลปินไทย โดยได้ทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ณ สถานเอกอัคราชฑูตเยอรมันประจำประเทศไทย
จากซ้ายไปขวา: ท่านเอกอัคราชฑูตเยอรมนี, รมช.ต่างประเทศ, นายอักเซล เบราเออร์ และศิลปินเจ้าของผลงาน Kashink, มือบอนและ Julia Benz
เมื่อครั้งที่กำแพงเบอร์ลินเคยได้วิ่งผ่าใจกลางกรุงเบอร์ลินนั้น ศิลปินในฝั่งเยอรมันตะวันตกก็ได้ใช้กำแพงเป็นดั่งผืนผ้าใบรังสรรค์ผลงานศิลปะมากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนของกำแพง จะตะวันตกหรือตะวันออกก็ถือเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลประเทศเยอรมันตะวันออกทั้งสิ้น การวาด พ่น หรือขีดเขียนใดๆเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ฝั่งตะวันออกข้ามมาระบายสีทับงานศิลปะบนกำแพงทุกครั้ง แต่ศิลปินทางฝั่งตะวันตกก็มิได้ย่อท้อ ลบได้ก็วาดใหม่ได้เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา จนเจ้าหน้าที่ฝ่ายตะวันออกต้องยอมแพ้ไปในที่สุด
ศิลปินก็เลยมีอิสระในการวาดพ่นเขียนกันต่อไป ถึงขนาดที่มีการประกวดงานศิลปะบนกำแพงเบอร์ลินกันเลยทีเดียว และศิลปินหลายคนก็ได้รับการขนานนามว่าเป็น "Wall Painter" โดยพวกเขากล่าวว่าเขาสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยวัตถุประสงค์ให้ทุกคนมีความสุขและลบภาพความโหดร้ายในอดีตที่เคยเกิดขึ้นที่แนวกำแพงนี้
Kashink เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจของงานของเธอ
สถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยประสงค์จะสืบทอดเจตนารมณ์ดังกล่าว จึงได้เชิญศิลปินจากสามประเทศ อันได้แก่ศิลปินชาวเยอรมัน Julia Benz ศิลปินชาวฝรั่งเศส Kashink และศิลปินชาวไทย ดนัยพัฒน์ เลิศพุทธิตระการ หรือ “มือบอน” ศิลปินกราฟฟิติไทยที่ดังไกลระดับโลก (สงสัยจะมือบอนพ่นกำแพงชาวบ้านไปทั่ว จนคราวนี้ได้มาพ่นบนกำแพงเบอร์ลินมันซะเลย! ระดับโลกเลยครับ) มาทำงานร่วมกันเพื่อแปลงโฉมชิ้นส่วนกำแพงเบอร์ลินที่ได้รับมอบมานี้ให้กลายเป็นงานศิลปะระดับนานาชาติ และให้เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างประชาชนชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส ไทย และประเทศอื่นๆ
โดยศิลปินทั้งสามคนได้สร้างสรรค์งานของตัวเองไปคนละฝั่งของกำแพง และอีกหนึ่งฝั่งที่เหลือก็เป็นงานที่ศิลปินทั้งสามคนได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน
จะเห็นได้ว่าเราสามารถเปลี่ยนมุมมองของกำแพงที่เป็นสัญญลักษณ์แห่งการแบ่งแยก พลัดพราก ความแตกต่างกัน และแฝงไปด้วยเรื่องราวในอดีตอันโหดร้าย กลับดูสวยงามอบอุ่นน่าและศึกษาขึ้นมาได้ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลป์ด้วยเหตุผลที่ว่า “กำแพงแบ่งแยกมวลมนุษย์ แต่ศิลปะจะนำเรามารวมกัน”
ดนัยพัฒน์ เลิศพุทธิตระการ aka “มือบอน” กับผลงานของเขา (กำแพงชิ้นขวา)
โฆษณา