11 ส.ค. 2020 เวลา 07:55 • ประวัติศาสตร์
• ภาพแผนที่ของประเทศจีน ที่ถูกแบ่งโดยเส้นสมมติที่เรียกว่า "เส้นเห่ยเหอ-เถิงชง" (Heihe-Tengchong line) ที่ใช้แบ่งจีนออกเป็นตะวันตกและตะวันออก
สำหรับเส้นเห่ยเหอ-เถิงชง คือเส้นสมมติทางภูมิศาสตร์ ที่ใช้แบ่งภูมิภาคของประเทศจีนออกเป็น 2 ส่วน คือ ภูมิภาคตะวันตก (สีเหลือง) และภูมิภาคตะวันออก (สีแดง)
โดยชื่อของเห่ยเหอ และเถิงชง มีที่มาจากชื่อเมืองเห่ยเหอ (Heihe) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และเมืองเถิงชง (Tengchong) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน
ซึ่งผู้ที่คิดค้นเส้นเห่ยเหอ-เถิงชง ก็คือนักภูมิศาสตร์ชาวจีนที่มีชื่อว่า หูหวนหยง (Hu Huanyong) โดยเขาคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1935
Hu Huanyong
เส้นเห่ยเหอ-เถิงชง ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ รวมไปถึงด้านประชากรศาสตร์ของจีน
โดยจากการศึกษาและวิจัยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประชากรของจีนมากกว่า 94% จะอาศัยอยู่ในบริเวณภูมิภาคตะวันออก (พื้นที่สีแดงบนแผนที่) ในขณะที่ประชากรของจีนราว 6% จะอาศัยอยู่ในบริเวณภูมิภาคตะวันตก (พื้นที่สีเหลืองบนแผนที่)
ภาพแผนที่แสดงถึงความหนาแน่นของประชากรจีน จะพบว่าภูมิภาคจีนตะวันออกมีประชากรที่มากกว่า บริเวณภูมิภาคจีนตะวันตก
ประชากรจีนมากกว่า 94% อาศัยอยู่ทางตะวันออก ส่วนอีก 6% อาศัยอยู่ทางตะวันตก
โดยสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ภูมิภาคตะวันออกของจีน มีประชากรที่มากกว่าภูมิภาคตะวันตก ก็เป็นเพราะว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และยังเป็นที่ตั้งของเมืองรวมไปถึงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
ในขณะที่พื้นที่ของภูมิภาคตะวันตกของจีน ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณเทือกเขาและมีความแห้งแล้ง ประกอบกับยังเป็นเขตปกครองตัวเอง ที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวจีนอีกด้วย อาทิ ดินแดนซินเจียง (Xinjiang) ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์ (Uyghur) รวมไปถึงดินแดนทิเบต เป็นต้น
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา