12 ส.ค. 2020 เวลา 11:30 • ไลฟ์สไตล์
ยอดคุณยายวัย 84 เจ้าหญิงวงการยานยนต์ วิศวกรเครื่องกลคนแรกของไทย
ผู้หญิงทำได้ คุณยายวิศวกรวัย 84 ปี HERO แห่งวงการยานยนต์ ผู้บุกเบิกวิจัยพลังงานทดแทนได้สำเร็จ เผยเคล็ดลับสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว แม้อายุเยอะ แต่เดินตรวจงานวันละหลายกิโลฯ
ลองจินตนาการว่าหากคุณอยู่ในวัยหลังเกษียณ คุณกำลังทำอะไรอยู่ บางคนอาจอยู่กับลูกหลาน ปลูกผักทำสวนเล็ก เลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมว ทำกิจกรรมอะไรง่ายๆ สบายๆ คลายเหงา หรือบางคนอาจเผชิญปัญหาสุขภาพตามวัย ลุกนั่งลำบาก มีโรคประจำตัวหลายโรค แต่ทั้งหมดที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดกับ รศ.พูลพร แสงบางปลา
1
รศ.พูลพร ผู้หญิงสูงวัยตัวเล็กในวัย 84 ปี
รศ.พูลพร ผู้หญิงสูงวัยตัวเล็กในวัย 84 ปี นอกจากจะไม่ได้อยู่เฉยๆ และไม่มีโรคประจำตัวแล้ว ยังทำหน้าที่ในสิ่งที่รักต่อไป โดยไม่มีใครคาดคิดว่าผู้หญิงจะเลือกทำ นั่นคือ “วิศวกร” ตลอดการทำงานกว่า 60 ปี มีผลงานเลื่องชื่อมากมายนับไม่ถ้วน ในแวดวงเกี่ยวข้องกับยานยนต์ไม่มีใครไม่รู้จัก และเหมาะสมอย่างยิ่งหากจะยกตำแหน่งให้เป็น “เจ้าหญิงแห่งวงการยานยนต์”
: 50 ปี คุณงามความดีเพื่อประเทศชาติ :
นอกจากเป็นวิศวกรหญิงรุ่นแรกของไทยตั้งแต่ปี 2500 เป็นอาจารย์สอนนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลายมหาวิทยาลัยทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชายานยนต์ทุกมหาวิทยาลัยทั่วไทยแล้ว รศ.พูลพร ยังเป็นคนไทยคนแรกที่วิจัยพลังงานทดแทนได้สำเร็จ โดยยกผลงานทั้งหมดให้กับกระทรวงพลังงาน ทำให้ประเทศไทยได้ใช้พลังงานทดแทนต่างๆ อาทิ แก๊สแอลพีจี (LPG) ซีเอ็นจี (CNG) เอทานอล (Ethanol) และไบโอดีเซล (Biodiesel) มาจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว
“ช่วงที่สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาเครื่องกล ทำงานวิจัยด้วย ลองเอาน้ำมันต่างๆ น้ำมันแอลกอฮอล์ น้ำมันเมทานอล น้ำมันพืช มาใส่ทดสอบเครื่องยนต์ ที่ทำมากสุดคือ หินน้ำมัน ไปขุดหินจากแม่สอด กลับมาสกัดเป็นน้ำมัน กลั่นใส่เครื่องยนต์ได้ สอนไปสักพักคิดว่าน่าจะมีภาควิชายานยนต์ ตอนนั้นยานยนต์กำลังพัฒนา และเมืองไทยเริ่มที่จะสร้างชิ้นส่วนรถยนต์ เลยขอมหาวิทยาลัยก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ขึ้น” รศ.พูลพร ย้อนเล่าเหตุการณ์
1
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในวงการยานยนต์ ในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ ชื่อเสียงของ รศ.พูลพร จึงเป็นที่รู้จักง่าย อีกทั้งตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่เป็นอาจารย์ รศ.พูลพร ได้ถ่ายทอดความรู้จากการเป็นนักเรียนทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศสและอังกฤษ ปลุกปั้นลูกศิษย์ที่มีคุณภาพประดับวงการยานยนต์ ที่จุฬาฯ จนเกษียณอายุราชการ เขียนตำราและหนังสือเกี่ยวกับเครื่องยนต์กว่า 30 เล่ม
นอกจากนี้ รศ.พูลพร ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Auto Challenge ช่วยพัฒนานิสิต นักศึกษาให้มีความสามารถด้านยานยนต์ยิ่งขึ้น จัดแข่งขันออกแบบรถ สร้างรถในประเทศ และส่งไปแข่งต่างประเทศด้วย
: จิตวิญญาณวิศวกรเต็มเปี่ยม ปั้นลูกศิษย์เก่งๆ ทั่วประเทศ :
ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพ “วิศวกร” ได้ รศ.พูลพร บอกไม่ใช่เพราะความเก่ง แต่เป็นเพราะความมุ่งมั่นตั้งใจ ทุกคนมีความเก่งในตัวเอง เพียงแต่ในสาย “วิศวกร” ผู้หญิงไม่ค่อยมาเรียนเท่านั้น เพราะต้องทำด้วยมือทุกอย่าง ไม่มีเครื่องทุ่นแรง ต้องแบกหาม มือเล็บสกปรกดำปี๋ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า มีเครื่องช่วยทุ่นแรง ผู้หญิงก็นิยมมาเรียนวิศวกรเยอะขึ้น 300 กว่าคน
“ผลงานทุกอย่างทำเพราะสนุก อยากทำ พอได้ผลดีรู้สึกภูมิใจ โดยเฉพาะงานวิจัยพลังงานทดแทน เพราะถูกนำไปใช้ทั่วประเทศ และภูมิใจที่มีลูกศิษย์เก่งๆ ในโรงงานยานยนต์ทั้งหมด บางคนทำเรือไฟฟ้า ตอนนี้เพิ่งหยุดสอน 2 ปี”
: เคล็ดลับสุขภาพดี 84 ปี ไม่มีโรคประจำตัว :
รศ.พูลพร หญิงชราวัย 84 ปี มองจากภายนอกไม่ต่างจากผู้สูงอายุทั่วไป แต่ภายในเธอมีจิตวิญญาณของวิศวกรเต็มเปี่ยม ปัจจุบันแม้จะเกษียนแล้ว แต่ยังคอยให้คำปรึกษาด้านวิศวกร และมีตำแหน่งกรรมการกว่า 20 หน่วยงาน อาทิ สภาวิศวกร กรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ กรรมการสมาคมมมาตรฐานและคุณภาพแห่งประเทศไทย และยังทำมาตรฐานต่างๆ ให้กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาและดูแลเครื่องจักร คอยเดินตรวจโรงงานต่างๆ กว่า 80 โรงต่อปี
เคล็ดลับการมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวทั้งๆ ที่อายุสูง 84 ปีนั้น เป็นผลจากการที่ รศ.พูลพร ดูแลตัวเองมาตั้งแต่อายุ 28 ปี โดยกินน้อยและเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ร่วมกับการออกำลังกาย รวมถึงการดูแลอารมณ์ด้วยการยิ้ม
“กินน้อยแต่เลือกกิน กินผัก กินของไม่มีสารพิษ ไม่กินน้ำตาล แกว่งแขนออกกำลังกายทุกวัน เดินจงกรม เดินเร็ว ทำสมาธิ ยิ้มเยอะๆ สังสรรค์กับเพื่อน ไม่พูดไม่ดี หมั่นทำความดี อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าทำให้คนอื่นมีความสุข เราก็มีความสุข”
สุดท้าย รศ.พูนพร บอกว่า หากมีใจรัก มีความอดทน มุ่งมั่นและทำจริง ไม่ว่าจะเป็น “หญิงหรือชาย” ก็สามารถเป็นคนเก่งและเชี่ยวชาญเรื่องยานยนต์ได้เท่าเทียมกัน อีกทั้งประสบความสำเร็จในเรื่องอื่นๆ ได้ ปัจจุบันแม้จะไม่ทำงานวิจัยใดๆ แต่ขอเดินสายให้ความรู้ด้านวิศวกรเครื่องกลและเครื่องยนต์กับทุกคนที่สนใจ และลูกศิษย์ต่อไป
ผู้เขียน : มาดามริชชี่
กราฟฟิก : Varanya Phae-araya
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา