12 ส.ค. 2020 เวลา 09:30 • การเมือง
คุย “แม่หน่อย สุดารัตน์” สอนลูก กับมุมมองคนรุ่นใหม่เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ
หากจะพูดถึง “นักการเมืองหญิง” ที่เราเห็นหน้าค่าตากันมาตลอด เรียกว่าแทบไม่เคยห่างหายไปจากหน้าสื่อ เชื่อว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” อยู่อย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และคนส่วนใหญ่คงมักจะเห็น คุณหญิงหน่อย ในบทบาทของนักการเมือง แต่ในโอกาสวันแม่ปี 2563 นี้ จะขอพาไปพูดคุยในบทบาท “คุณแม่” ของลูกๆ ทั้ง 3 คน “บอส เบสท์ และจินนี่” ว่ามีการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนลูกอย่างไร รวมถึงมองเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยแบบไหน...
- แบ่งเวลา อบรมเลี้ยงดู คนในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ
คุณหญิงสุดารัตน์ เล่าให้ฟังว่า ตนเองเข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ลูกยังเล็ก จึงต้องมีการจัดสรรเวลา ซึ่งคนในครอบครัวก็ต้องช่วยเราในจุดนี้ด้วย คนนั้นคือสามี (สมยศ ลีลาปัญญาเลิศ) ที่คอยเป็นหลักให้เรา ช่วยรับ-ส่งลูก ดูแลเขาในช่วงเวลากลางวัน สามีจะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ส่วนคุณหญิงหน่อยเองหากไม่ได้ติดภารกิจอะไรก็จะใช้เวลาในช่วงค่ำทานข้าวกับลูกๆ คอยสอนในเรื่องต่างๆ โดยเรื่องที่จะสอนหลักๆ คือ “ความรับผิดชอบ” ไม่ว่าจะต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม หรือประเทศชาติ ค่อยๆ พยายามสอนตามลำดับของอายุเขา รวมถึงไม่ให้เบียดเบียน เอาเปรียบ หรือคดโกงใคร
คุณหญิงสุดารัตน์ กับสามี และลูกๆ ทั้ง 3 คน
- ต้องมีสติ รู้ผิดชอบ “ช่วงหนึ่งเขาเชื่อสิ่งที่ฟังมา มากกว่าแม่”
เราต้องยอมรับว่าวันนี้ลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น โตมากับเทคโนโลยี โลกออนไลน์ เกม ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ของเขา เป็นโลกที่เราตามเขาไปไม่ได้ เราก็ต้องสอน “ความมีสติ” ต้องมีการกรอง ไม่ฟังเร็ว เชื่อเร็ว รู้ผิดชอบ ช่วงหนึ่งก็เหนื่อยเหมือนกันที่กระแสออนไลน์เข้ามา ลูกก็จะเชื่อสิ่งที่เขาได้ฟังมามากกว่าเชื่อแม่ แต่พอเราให้ในเรื่องของสติ ความคิด ก็โชคดีว่าลูกทั้ง 3 คน ไม่เกิดปัญหา อาจจะมีเพียงห้วงหนึ่งที่ไม่เชื่อที่แม่พูด แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ และเราเองปฏิบัติกับลูกเหมือนเพื่อน เวลาเขามีอะไรมาถามเราจะไม่ว่าเขาทันที เราจะบอกเขาว่า “ไหนเปิดให้แม่ดูซิเขาว่ายังไง” แล้วเราก็ถกกับเขาว่าอะไรดีหรือไม่ดี ก็เลยเป็นเรื่องของความเข้าใจ การรับฟัง และการพยายามอธิบายให้เขาฟังมากกว่า ก็เลี้ยงกันแบบนี้ค่ะ
เบสท์ - จินนี่ - บอส
- 2 สาเหตุทำให้เด็กตื่นตัว ผู้ใหญ่ควรรับฟังและชี้แนะ
จริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่จะมองคล้ายๆ กัน ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ เรื่องของประชาธิปไตย และเรื่องของความเท่าเทียมกัน ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามาจาก 2 สาเหตุ คือ 1.เรามีรัฐประหารมายาวนาน และการรัฐประหารทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น 2.เด็กเห็นโลกกว้างขึ้นจากประเทศที่เขาคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ความหลากหลายทางเพศ จึงมีความตื่นตัวในประเทศเยอะ 2 สาเหตุนี้ทำให้เด็กตื่นตัวขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรรับฟัง รวมถึงความเข้าใจระหว่างวัยก็เป็นสิ่งสำคัญ เด็กๆ มองว่าการเมืองทำให้เขาแย่ ในขณะที่โลกยุคใหม่มันไปไกลแล้ว ส่วนตัวเห็นด้วยในส่วนนี้ และมองว่าเทคโนโลยีเป็นโอกาสมากกว่า เด็กก็มองว่าถ้าเสรีภาพไม่มี รัฐบาลรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี ล้าสมัย ก็ปิดโอกาสเขา เราก็เข้าใจเขา ก็ต้องอาศัยการพูดคุย ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- เด็กๆ ห่วงอนาคต มองว่ารัฐบาลตกยุค ไม่อยากเห็นประเทศล้าสมัย
ลูกๆ เคยมาพูดคุยในเรื่องเหล่านี้ แต่เนื่องจากเขาเห็นมาตั้งแต่ยังเด็กและเราก็สอนลูกมาค่อนข้างที่จะเข้มแข็ง คุยให้เขารู้ สิ่งที่เขารู้สึกคงจะเป็นเหมือนเด็กทั่วไปที่ห่วงอนาคต เขามองว่าภายใต้การนำของรัฐบาลที่ถึงแม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังเป็นแบบซ่อนรูปอยู่ และสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่คำนึงกันมากคือการไม่ให้สิทธิเสรีภาพ ความไม่ทัดเทียมกัน การไม่กระจายอำนาจ กระจายโอกาส และความล้าหลังในแนวความคิด การเป็นศูนย์รวมรัฐราชการ ซึ่งรัฐราชการ แต่ประชาชนอ่อนแอ ถ้ามองง่ายๆ เขามองว่ารัฐบาลคิดแบบระบบของราชการ ไม่ทันสมัย ไม่ห็นความสำคัญเสียงของประชาชน ไม่เห็นความสำคัญความคิดของคนรุ่นใหม่ จึงไม่อยากเห็นประเทศที่ล้าสมัย และพลาดโอกาสในการใช้เทคโนโลยี เพื่อมาเป็นโอกาสในการพัฒนาอาชีพของเด็กและการพัฒนาประเทศชาติ
“มุมมองเขาอาจจะมองว่า รัฐบาลตกยุค ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาขัดขวางการเจริญเติบโตของพวกเขา การทำมาหากินของพวกเขา รวมทั้งขัดขวางการเจริญก้าวหน้าของประเทศ คิดว่าจุดนี้คืออารมณ์ร่วมมากที่สุด”
- บทบาท “นักการเมือง” แทบไม่แตกต่างจากบทบาท “แม่”
จริงๆ แล้วความเหมือนมีเยอะ ในบทบาทของความห่วงใยต่อบ้างเมือง แน่นอนว่าความเป็นแม่เราก็ห่วงอนาคตของลูก เราก็อยากให้เขาเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี มีทั้งสังคม ศีลธรรม และเศรษฐกิจที่ดี มันก็คือบทบาทของนักการเมืองที่จะมากำหนดบทบาทของประเทศให้เดินไปแบบนั้น ขณะเดียวกันเด็กๆ มองว่าเราควรจะคว้าโอกาสของโลกยุคใหม่ให้เป็นโอกาสของเขา ของประเทศ เราก็ต้องปรับและพัฒนาตัวเองเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ในความเป็นแม่เราก็ต้องรู้เทคโนโลยี ในความเป็นนักการเมืองก็ต้องเข้าทันเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นประโยชน์กับประเทศ การพัฒนาเยาวชนของเราให้ได้โอกาส เราต้องไม่ปิดโอกาสนี้
เพราะฉะนั้นบทบาทจะคล้ายๆ กัน ความเป็นแม่จะห่วงอะไรที่ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว จะมองอะไรที่ยั่งยืน แม่ทุกคนเป็นแบบนี้ นักการเมืองหญิงทุกคนก็มักจะห่วงแบบนี้ นักการเมืองหญิงมักจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการทำถนนมากกว่าการทำโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ส่วนความแตกต่างแทบจะไม่มี เพราะมองว่าบทบาทของนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ขณะเดียวกันในความเป็นแม่ เราต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ลูก และสังคม
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
- ฝากเยาวชนคนรุ่นใหม่ใช้โอกาสของโลกยุคใหม่พัฒนาตัวเอง
“คนรุ่นใหม่รุ่นนี้เป็นรุ่นที่โชคดีนะคะ เป็นรุ่นที่มีเทคโนโลยีมาช่วยให้วิถีชีวิตง่ายขึ้น การทำมาหากินง่ายขึ้น โอกาสมีมากขึ้น ต้นทุนต่างๆ ลดลง เข้าถึงแหล่งความรู้ที่ถูกลงและกว้างขวางขึ้น อยากให้ลูกๆ เยาวชนได้ใช้โอกาสของโลกยุคใหม่ให้มาเป็นโอกาสให้การพัฒนาตัวเอง และใช้กำลังของตัวเองในการพัฒนาบ้านเมือง พัฒนาประเทศชาติ”
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังแสดงความเห็นส่วนตัวถึงการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า เห็นด้วยกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน เพราะถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุผล และอยู่ในวิสัยที่ทุกฝ่ายจะแสวงหาความร่วมมือกันได้ แต่ไม่ควรหมิ่นสถาบัน เพราะอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ จนอาจเป็นเหตุของการยึดอำนาจอีกครั้ง
เรียกว่าเป็นคุณแม่นักการเมืองที่มีบทบาทมากคนหนึ่ง แถมปรับตัวเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ค่อนข้างดี แม้ปีนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ จะมีอายุถึง 59 ปีแล้ว เข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2535 เกือบ 30 ปีกับอาชีพนักการเมือง ผ่านบทบาทในสนามมาอย่างโชกโชน เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายตำแหน่ง ปราศรัยแล้วมานับไม่ถ้วน และปัจจุบันก็ยังเป็นบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่สมาชิกให้ความเคารพ ถึงเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ที่ผ่านมาจะชวดเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยสูตรคำนวณ แต่ชื่อและบทบาทของ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” กลับไม่เคยห่างหายไปไหน...
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
ภาพ : Eakalak Mainoy, Facebook Sudarat Keyuraphan
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา