13 ส.ค. 2020 เวลา 06:30 • สุขภาพ
โรคซึมเศร้า ภัยใกล้ตัว ที่แม้แต่ "มิเชล โอบามา" ก็หนีไม่พ้น
โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาเคยมีคนดังจากทั่วโลกที่ยอมรับว่าตัวเองป่วยด้วยโรคนี้ แม้แต่นางมิเชล โอบามา ที่เป็นภาพลักษณ์ของหญิงแกร่งก็เพิ่งเปิดเผยว่าเธอกำลังทรมานจากโรคนี้เช่นกัน
มิเชล โอบามา เปิดใจเป็นโรคซึมเศร้า
ใครจะคาดคิดว่ามิเชล โอบามา อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของคนที่มีสุขภาพดีออกกำลังกาย และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ จะมีอาการของโรคซึมเศร้า โรคยอดฮิตที่ไม่มีใครอยากเป็น โดยเธอเพิ่งออกมาเปิดใจผ่านทางพอดแคสต์ของตัวเอง ว่าเธอมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ซึ่งเกิดจากความกังวลในใจ ความเครียด จนต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอ่อนๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่เธอมีอาการเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะการต้องเก็บตัวในช่วงโควิด แต่เป็นเพราะความขัดแย้งเรื่องสีผิว ยิ่งเธอได้เห็นการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ยิ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของคนผิวดำที่ถูกปฏิบัติแบบไร้ศักดิ์ศรี ไร้ความเป็นมนุษย์ ถูกทำร้าย ถูกฆ่า หรือถูกกล่าวหา พร้อมระบุว่าเธอคงไม่ใช่คนเดียวในอเมริกาที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะสถานการณ์ในประเทศที่ย่ำแย่หลายด้าน
ซึ่งวิธีการที่เธอใช้เพื่อรับมือกับโรคนี้ ก็คือหาสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข บริหารจัดการเวลาให้ตัวเองมีอะไรทำอยู่ตลอดเวลา พร้อมแนะนำคนที่เริ่มมีภาวะเช่นนี้ อย่าอยู่นิ่งเฉย อย่าเก็บตัว หรือจมอยู่กับความคิดตัวเอง เพื่อให้ผ่านพ้นภาวะนี้ไปได้
เหล่าคนดังที่เคยยอมรับว่าเป็นโรคซึมเศร้า
• จิม แคร์รี
ใครจะคิดว่านักแสดงตลกชื่อดังคนนี้ ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้ามานานหลายปี จนกระทั่งต้องไปขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ โดยเขาเล่าว่าภาวะจิตใจของเขาบางครั้งเหมือนอยู่บนยอดเขา แต่แล้วก็ตกลงไปในหุบเหว ซึ่งกว่าที่เขาจะผ่านมันมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
• แองเจลินา โจลี
นักแสดงสาวฮอลลีวูดชื่อดัง เคยเปิดใจเล่าประสบการณ์ว่าเธอเคยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงที่เธอเป็นวัยรุ่น โดยเธอเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และรู้สึกไม่ชอบชีวิตของตัวเอง ไม่เข้าใจตัวเอง จนกระทั่งเธอได้เริ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้เธอค้นพบตัวเองในที่สุด
• คริสเตน เบลล์
นักแสดงสาวชาวอเมริกันคนนี้เป็นอีกหนึ่งคนที่ยอมรับอย่างไม่อายว่าเธอป่วยด้วยโรคซึมเศร้า และเริ่มมีอาการมาตั้งแต่วัยรุ่นเนื่องจากแม่ของเธอที่เป็นพยาบาลก็มีอาการซึมเศร้าเช่นกัน แม่ของเธอจึงพาเธอไปหาหมอและกินยาเพื่อลดความกังวลมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมันก็ช่วยทำให้เธอมีอาการดีขึ้นมาก
•เอเลน ดีเจนเนริส
นักแสดงและพิธีกรชื่อดังชาวอเมริกันคนนี้ เปิดใจต่อสื่อว่า มันต้องใช้เวลาสักพักก่อนที่เธอจะกล้ายอมรับว่าเธอป่วยด้วยโรคนี้ การที่เธอซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง และกล้าที่จะยอมรับว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้า มันช่วยให้อาการของเธอดีขึ้น เพราะโรคซึมเศร้ามันกัดกินความมั่นใจ และทำให้หลงทาง
• ดเวนย์ จอห์นสัน หรือเดอะร็อก
นักแสดงหนุ่มรุ่นใหญ่ลูกครึ่งแคนาดา-อเมริกัน อย่างเดอะร็อกเปิดใจเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าของเขาว่า โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่เลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพใดก็เป็นโรคนี้ได้ทั้งหมด กุญแจสำคัญที่จะทำให้ผ่านไปได้ โดยเฉพาะกับผู้ชายอย่างเขา ก็คือการเปิดใจพูดเกี่ยวกับมัน แล้วจะรู้ว่าคุณไม่ได้ถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง
ซึมเศร้านำไปสู่การฆ่าตัวตาย
กรณีของนางมิเชล โอบามา และดาราที่กล้าเปิดใจเหล่านี้ ยังนับว่าโชคดี ที่รู้ตัวเร็วและเข้ารับการรักษาทัน ซึ่งจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดไ้ด้ แต่ในบางกรณีอาจไม่โชคดีเช่นนี้ เพราะหากจมอยู่กับมันและไม่รีบรักษาหรือก้าวข้ามปัญหาไม่พ้น ก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับดาราและนักร้องชื่อดังหลายคน ทั้งเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายในวัย 41 ปี ในสภาพแขวนคอที่บ้านพักในนครลอสแอนเจลิส เมื่อปี 2017 จากภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากชีวิตที่ขมขื่นในวัยเด็ก ทั้งถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ และการใช้สารเสพติด
ขณะที่โรบิน วิลเลียมส์ ดารารุ่นใหญ่ในวงการฮอลลีวูด ก็ก่อเหตุฆ่าตัวตายภายในบ้านพักของเขา ในวัย 63 ปี หลังทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า และติดแอลกอฮอล์เช่นกัน
ตัวเลขที่น่าตกใจ
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากกว่า 264 ล้านราย โดยไม่ว่าจะอยู่วัยใดก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้าได้ทั้งนั้น โดยจะพบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ โดยพบตัวเลขการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าในแต่ละปีสูงถึง 8 แสนราย ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2013 จึงมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือพร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศหาแนวทางร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจังเรื่อยมา
1
ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าแห่งอเมริกา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าชาวอเมริกันอายุระหว่าง 15-44 ปี ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากถึงกว่า 16.1 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.
ผู้เขียน :อาจุมม่าโอปอล
แหล่งที่มา : WHO , CNN , BBC , goodhousekeeping.com
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา