13 ส.ค. 2020 เวลา 03:46 • การศึกษา
เรียนรู้ภาษาเจ๊ะเห จากมาตรการลดขยะพลาสติก
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต่อสู้กับ "ขยะพลาสติก" อย่างจริงจัง ไม่ว่าภาครัฐและเอกชน ต่างก็ตื่นตัวรณรงค์ และหาวิธีการที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกให้ได้ มาตรการล่าสุด คือการที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ได้เริ่มงดแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า ซึ่งลูกค้าที่ซื้อของต้องพกถุงไปช้อปปิ้งเอง
ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี คนไทยใช้ถุงพลาสติกกันอย่างฟุ่มเฟือยมากกว่า 5,300 ตันต่อวัน หากนโยบายนี้ประสบความสำเร็จ คาดว่าจะทำให้ปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี เลยทีเดียว การลดใช้ถุงพลาสติกจึงเป็นวาระของโลกที่แท้ทรู
ถุงและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มีหลากหลายประเภทตามการใช้งาน และในภาษาเจ๊ะเหก็มีการเรียกชื่อเฉพาะที่ไม่เหมือนกับภาษาอื่นๆ ลองมาดูกันค่ะ
ถุงหูหิ้วพลาสติก = ถุงรู้รี้
ถุงหูหิ้วพลาสติก บางคนเรียกถุงก๊อบแก๊บบ้างล่ะ ถุงอ้อร้อบ้างล่ะ หรือทางภาคเหนือเรียกว่าถุงแซ่ว แต่ในภาษาเจ๊ะเห เรียกถุงชนิดนี้ว่า "ถุงรู้รี้"
ถุงพลาสติกใส = ถุงป๊าดติ๊ก
ส่วนถุงใส หรือถุงใส่แกง ที่มีทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ใช้สำหรับใส่อาหาร หรือสิ่งของต่างๆ ภาษาเจ๊ะเห เรียกว่า "ถุงป๊าดติ๊ก"
ถุงผ้า,กระเป๋าผ้า = หย่ำ (ย่าม)
สำหรับถุงผ้า กระเป๋าผ้า ที่ตอนนี้ทุกคนต้องพกติดตัวเอาไว้เวลาไปซื้อของช้อปปิ้ง ในภาษาเจ๊ะเหเรียกว่า หย่ำ (ย่าม)
กระเป๋าใส่ผ้า = หี๊บ หรือ เบ๊ะ
ส่วนกระเป๋าใส่ผ้า ภาษาเจ๊ะเหเรียกว่า หี๊บ หรือ เบ๊ะ (คำทับศัพท์ภาษามลายู)
ตะกร้า = กือแจง
ปิ่นโต = กือชั้น
กระป๋าเสื้อ = ถุงเสื้อ
สำหรับกระเป๋าเสื้อ ภาษาเจ๊ะเหจะเรียกว่า "ถุงเสื้อ"
กระเป๋ากางเกง เรียกว่า "ถุงกางเกง"
ส่วนกระดุมเสื้อ เราจะเรียกว่า "ลูกเสื้อ" ค่ะ
ขยะพลาสติกเกิดขึ้นจากคำว่า “สะดวกสบาย” แต่ไม่ได้มองถึงอันตรายต่อระบบนิเวศและสุขภาพของคน ถึงเวลาเปลี่ยนพฤติกรรมกันแล้วนะคะ อย่ามองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากในชีวิต แค่เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีบนโลกใบนี้ เพราะพวกเราในโลกยุคใหม่นั้นมีชีวิตที่สะดวกสบาย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าคนในสมัยโบราณหลายเท่า
ใครอยากชมคลิปนี้แบบเต็มๆ คลิกได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://www.youtube.com/watch?v=HkrqVi7DZuo ขอบคุณที่ติดตามอ่าน สวัสดีค่ะ
โฆษณา