13 ส.ค. 2020 เวลา 08:30 • ข่าว
"ปูติน 007" กับวัคซีน "สปุตนิก5" พาโลกเข้าสู่สงครามเย็นวัคซีนโควิด-19
รัสเซียรีบประกาศความสำเร็จเป็นชาติแรกพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 และยังตั้งชื่อว่า "สปุตนิก5" พาโลกเข้าสู่สงครามเย็นวัคซีนโควิด-19 ท่ามกลางความวิตกถึงอันตรายที่รออยู่
หนังสือพิมพ์ "ลิเบอเรชัน"(Liberation) ของฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 12 ส.ค. ลงภาพหน้าหนึ่ง เป็นภาพล้อเลียน นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียในชุดสูทสีดำผูกหูกระต่ายแบบสายลับ007 "เจมส์ บอนด์" ของอังกฤษ แต่แทนที่ในมือจะถือกระบอกปืน กลับถือเข็มฉีดยา "วัคซีนสปุตนิก 5" วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผู้นำรัสเซียอ้างว่าผลิตออกมาเป็นเจ้าแรกของโลก
1
พาดหัวหนังสือพิมพ์ยังระบุว่า "Tomorrow Never Dies" ซึ่งเป็นชื่อตอนหนึ่งของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ "พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย" ออกฉายเมื่อปี 2540 นำแสดงโดยพระเอกดัง เพียส บรอสแนน ซึ่งเป็นการล้อเลียนกรณีที่รัสเซียถูกสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นสายลับแฮกคอมพิวเตอร์ จารกรรมข้อมูลงานวิจัยวิคซีนโควิด-19 ภายในหนังสือพิมพ์เล่มนี้ยังมีบทความที่ระบุว่า รัสเซียปราศจากความรับผิดชอบ และรีบเร่งปล่อยวัคซีนออกสู่ท้องตลาด ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านการทดลองตามกระบวนการความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข
1
- วัคซีน "สปุตนิก-5" ความหวังป้องกัน "โควิด-19" ?
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียให้การรับรองวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ประธานาธิบดีปูติน ก็รีบออกมาแถลงข่าวเปิดตัววัคซีนตัวนี้ในวันเดียวกัน โดยตั้งชื่อให้ว่า "สปุตนิก5" ตามชื่อดาวเทียมดวงแรกที่อดีตสหภาพโซเวียต ส่งขึ้นไปอวกาศเมื่อปี 1957 โดยอ้างว่าเป็นวัคซีนโควิด-19 เจ้าแรกของโลก แถมยังบอกว่าลูกสาวของเขาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้แล้ว ต่อมามีข่าวว่า มีถึงอย่างน้อย 20 ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซีย ทั้งในลาตินอเมริกา ตะวันออกกลางและเอเชีย โดยรัสเซียพร้อมผลิตหลายล้านโดสออกมาสู่ตลาด
วัคซีนตัวนี้พัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา ในกรุงมอสโก ไดรับทุนจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund-RDIF) เพิ่งผ่านการทดสอบขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 เท่านั้น ยังรอการทดสอบขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นการทดลองใช้ในคน โดยระบุว่า กำลังจะมีการทดลองใช้กับคนเพื่อศึกษาปฏิกิริยาข้างเคียงต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม รัสเซียเพิ่งผ่านกฎหมายเมื่อเดือนเมษายน อนุญาตให้ใช้ยาที่อยู่ระหว่างการทดลองขั้นที่ 3 กับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือกได้
1
- ปูตินรีบส่งสัญญาณ รัสเซียคือผู้ชนะทั้งด้านอวกาศ-เทคโนโลยี
การที่รัสเซียออกมาประกาศว่าเป็นผู้ชนะในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้เป็นประเทศแรก นอกจากเป็นเพราะรัฐบาลปูตินได้รับแรงกดดันทางการเมืองภายในแล้ว ยังเป็นความต้องการที่จะกลับมาเป็นผู้นำโลกในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และย่อมมีผลทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ไม่พอใจและรู้สึกเสียหน้า เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป เพิ่งกล่าวหาว่าถูกรัสเซียแฮกระบบคอมพิวเตอร์ขโมยงานวิจัยวัคซีนไวรัสโคโรนา ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่า วัคซีนของสหรัฐฯ จะพร้อมใช้ในช่วงก่อนเลือกตั้งปลายปีนี้ ซึ่งทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ออกมาโต้ว่า ไม่มีทางที่วัคซีนจะออกมาทันปลายปีนี้ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์บอกแน่นอน อย่างเร็วที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงเข้าพิธีสาบานตนของประธานาธิบดี ซึ่งก็คือปลายเดือนมกราคมปีหน้า
- แข่งขันวิจัยยา ความเสี่ยงอันตรายแบบยุคสงครามเย็น
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดำเนินมานานกว่าครึ่งปีแล้ว ไวรัสตัวนี้คร่าชีวิตชาวโลกไปแล้วกว่า 747,000 หลายประเทศต่างระดมทุนลงแข่งขันพัฒนาวัคซีน มากกว่า 160 โครงการ และตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ขณะนี้ตัวเลขโดยรวมของวัคซีนซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบทั่วโลกมี 28 ชนิด
จนถึงตอนนี้มีหลายประเทศที่พัฒนาวัคซีนโควิด-19 มาถึงขั้นตอนเดียวกับรัสเซีย แต่ยังไม่มีการประกาศรับรอง อย่างในยุโรป มีการลงขันกันทางด้านการเงินและการเข้าถึงข้อมูล โดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสตรา เซเนกา ในอังกฤษ กำลังมีการทดลองใช้กับคนที่บราซิล
ด้านประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีนประกาศว่าจะให้วัคซีนที่พัฒนาโดยจีนเป็นของสาธารณะทั่วโลก วัคซีนของจีน พัฒนาโดยบริษัท "แคนซิโน ไบโอโลจิคส์" ได้เริ่มทดลองใช้ในกลุ่มทหารของกองทัพแล้ว
การที่รัสเซียตั้งชื่อวัคซีนว่า "สปุตนิก5" เพื่อสื่อความหมายว่า หากนี่เป็นสงครามเย็น รัสเซียก็เป็นผู้ชนะแล้ว ซึ่งทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ออกมาแสดงความวิตกกังวล โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า นี่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างประเทศผู้พัฒนาวัคซีน แต่เป็นการต่อสู้กับโควิด-19 โดยการแข่งขันด้านวัคซีนแบบการแข่งกันพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ช่วงสงครามเย็น จะนำไปสู่อันตรายร้ายแรง.
1
ที่มา: rt , cnn
Cr ภาพ : twitter
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา