14 ส.ค. 2020 เวลา 08:30 • ข่าว
14 คณาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ ค้านห้ามจัดชุมนุม ป้องนิสิตมีสิทธิเสรีภาพ
1
14 คณาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ ค้านการห้ามจัดกิจกรรมชุมนุม ชี้ นิสิตมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและแสดงออกทางการเมือง และมหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่เสรี
จากกรณีสำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศเรื่อง ไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมในวันนี้ (14 ส.ค. 2563) ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการระบุว่า กลุ่มคณะจุฬาฯ และสปริงมูฟเมนต์ ส่งหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมดังกล่าวในระยะเวลาที่กระชั้นชิดมาก ไม่สามารถประสานงานกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องตามที่แจ้งขอได้ทัน ด้วยความห่วงใยต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนิสิตตลอดจนประชาคมจุฬาฯ สำนักบริหารกิจการนิสิต จึงยังไม่อาจอนุญาตให้จัดกิจกรรม ซึ่งในเวลาต่อมา แฟนเพจเฟซบุ๊ก Spring Movement โพสต์ยืนยันว่าจะจัดกิจกรรมตามเดิมในเวลา 16.00 น. ที่บริเวณลานพระบรมรูปสองรัชกาล
2
ทางด้าน รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผย แถลงการณ์คณาจารย์ผู้สอนกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประกาศไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรม คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14 คน เห็นว่า
1
1. นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและแสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และมาตรา 44
2. ในกรณีที่การชุมนุมมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทําผิดกฎหมายดังที่กล่าวอ้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องส่งเสริมให้มีการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม มิใช่ปิดกั้นการจัดชุมนุมหรือจํากัดการแสดงออกเป็นการล่วงหน้า ดังเช่นการไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมเช่นนี้ หากต่อมา แม้มีการกระทําความผิดจริง ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อดําเนินคดีในภายหลัง
3. เพื่อการดูแลความปลอดภัยสวัสดิภาพของนิสิตและประชาคมจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องส่งเสริมให้มีการใช้เสรีภาพ พร้อมๆ กับการเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม นิสิต บุคลากร และประชาคมจุฬาฯ เช่น การจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยโดย รปภ.มหาวิทยาลัย และอาจขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ ทั้งนี้ เพื่อประสานประโยชน์ระหว่างการส่งเสริมการใช้เสรีภาพและการรักษาสวัสดิภาพความปลอดภัยให้ได้อย่างสมดุล
4. พื้นที่ที่นิสิตจะจัดกิจกรรมการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง คือ ลานพระบรมรูปสองรัชกาล แม้เป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ถือเป็นพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐ และที่สําคัญ พื้นที่ดังกล่าวเคยเปิดให้มีการชุมนุมสาธารณะบ่อยครั้ง อาทิ การชุมนุมของกลุ่มจุฬาฯ รักชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2557
“มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่เสรี สนับสนุนการแสดงออกทางความคิดและการถกแถลง อันเป็นรากฐานแห่งความก้าวหน้าของศาสตร์วิทยาการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มข้าพเจ้าจึงคัดค้านการไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมดังกล่าว”
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา