15 ส.ค. 2020 เวลา 03:36 • หนังสือ
“เดินสู่อิสรภาพ” หนังสือยอดเยี่ยมที่สอนให้เข้าใจความหมายของคำว่า “อิสรภาพ” และ “ชีวิต”
ผมรู้จักหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2551 ขณะมีอายุได้ 19 ปี และเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 (แต่เล่มที่เห็นในรูปนี้คือซื้อทีหลังนะครับ เล่มปี 2551 หายไปแล้ว)
เดิมที หนังสือนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาที่มีออกสอบด้วย ในทีแรกผมจึงอ่านอย่างไม่ได้คิดอะไร
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนคืออาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์วิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ตัดสินใจลาออกจากราชการในปีพ.ศ.2548 ขณะมีอายุได้ 50 ปี เพื่อจะเดินทางจากเชียงใหม่กลับไปบ้านที่สุราษฎร์ธานี
หนังสือเล่มนี้จะเขียนเล่าถึงการเดินทางของอาจารย์ประมวล ตั้งแต่เชียงใหม่ถึงสุราษฎร์ธานี โดยอาจารย์ประมวลตั้งกฎของการเดินทางคือ 1.ไม่พกเงินระหว่างการเดินทาง 2.ไม่ไปหาคนรู้จักและต้องไม่รับการช่วยเหลือ หากการช่วยเหลือนั้นเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
ครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ เป็นการอ่านเพราะความจำเป็น ผมจึงไม่ได้ตั้งใจอ่านเท่าที่ควร คะแนนสอบที่ได้ก็ไม่ดีนัก
แต่มันน่าตลกตรงที่ว่า หลังจากสอบเสร็จแล้ว ผมกลับเอาหนังสือของอาจารย์ประมวลกลับมาอ่านซ้ำอีกหลายครั้ง และตั้งใจอ่านยิ่งกว่าคราวที่อ่านเพื่อสอบ
ทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมหยิบมาอ่านซ้ำบ่อยที่สุดเล่มหนึ่ง และทุกครั้งที่อ่านก็รู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้ง เรียกว่าเป็นหนังสือ “Feel Good” เล่มหนึ่งสำหรับผมเลยทีเดียว
หนังสือเล่มนี้ สอนอะไรผมหลายๆ อย่าง อาจารย์ประมวลสอดแทรกธรรมะเข้าไว้อย่างไม่น่าเบื่อ ชนิดที่ว่าคนที่ไม่ได้อินกับธรรมะ ไม่เคยแตะหนังสือธรรมะอย่างผม สามารถอ่านได้โดยไม่รู้สึกเบื่อและเข้าใจสิ่งที่อาจารย์ต้องการจะสื่อได้อย่างง่ายดาย
ตัวผมเอง ออกตัวเลยว่ายังไม่เคยบวชพระ และไม่คิดจะบวชด้วย แต่ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมได้ความรู้และเข้าใจในปรัชญา เข้าใจความเป็นจริงของหลายสิ่งยิ่งกว่าการบวชซะอีก (สำหรับผมคนเดียวนะครับ)
และสิ่งที่ผมได้เรียนรู้เองอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือมุมมองและความคิดเราจะเปลี่ยนไปตามวัย
ครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ ตอนนั้นผมมีอายุ 19 ปี ผมมีคำถามที่ไม่เข้าใจในหัวมากมาย
จะเดินจากเชียงใหม่ไปสุราษฎร์ธานีเพื่อ? อาจารย์เป็นบ้าหรือเปล่า? นักปรัชญานี่เพี้ยน สติแตกอย่างนี้ทุกคนหรือเปล่า?
แต่หลังจากผ่านไป 12 ปี จากเด็กหนุ่มอายุ 19 ปี กลายเป็นชายวัยกลางคนอายุ 31 ปี มันก็ทำให้มุมมองเปลี่ยนไป
ทุกวันนี้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมอาจารย์จึงเลือกที่จะเดิน ทำไมอาจารย์จึงปฏิเสธที่จะพกเงิน ทำไมอาจารย์จึงไม่ขอเดินไปหาคนรู้จัก
หนังสือของอาจารย์สอนให้ผมรู้จักความหมายของ “อิสรภาพ” และ “ชีวิต” ซึ่งผมคงไม่กล้าพูดได้เต็มปากว่าผมรู้จักความหมายที่แท้จริงของสองสิ่งนี้ แต่ก็ทำให้ผมเข้าใจความหมายมากขึ้น
อาจารย์ประมวลเป็นหนึ่งในบุคคลที่ผมอยากจะเจอมากที่สุด และอยากจะพูดคุยกับอาจารย์ในหลายๆ เรื่อง
ผมคิดว่าถ้าผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ ผมคงมีเรื่องอยากถาม อยากพูดคุยกับอาจารย์มากมาย เป็นวันๆ ก็อาจจะคุยไม่จบ
ผมเคยได้ยินมาว่าอาจารย์นั้นมีมุมมองทางการเมืองในแบบของอาจารย์ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามุมมองของอาจารย์กับมุมมองของผมนั้นตรงกันหรือไม่ แต่ต่อให้เรามองไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ทำให้ความชื่นชมในแนวคิด ปรัชญา และหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์ต้องจางไป
ที่สำคัญ ไม่ว่าอาจารย์จะมีมุมมองอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่อาจารย์ไม่สนับสนุนแน่นอน คือการใช้ความรุนแรง ซึ่งอันนี้ตรงกับแนวคิดของผม
สรุปคือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำให้อ่านครับ แต่ปัจจุบัน ผมไม่แน่ใจว่ายังหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปอยู่หรือไม่ บางทีอาจจะต้องไปหาที่ศูนย์หนังสือจุฬา
แต่หากได้อ่าน ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้คุณเข้าใจความหมายของ “อิสรภาพ” อย่างแน่นอน
และบางที อาจจะพลิกมุมมองชีวิตของคุณไปเลยก็เป็นได้
โฆษณา