15 ส.ค. 2020 เวลา 08:30 • ปรัชญา
“ ท่ามกลางความลำบากของชีวิต ยังมีมิตรภาพที่งดงาม “
“มหาลัยเหมืองแร่”(สปอยหนังเก่า)ในเชิงปรัชญา
ภาพยนตร์ที่จะทำในทุกความสัมพันธ์ ทรงคุณค่า
และ เปี่ยมความหมาย
Ep.008 มหาลัยเหมืองแร่
ปีพ.ศ. 2548 เมเจอร์ปากเกร็ด ในวันที่ตั๋วหนังลดราคา เพราะเป็นโรงที่คนไม่ค่อยนิยม คืนนั้นค่อนข้างร้างผู้คน โปรแกรมหนังจึงมีให้เลือกไม่มาก จริงๆเหลือเรื่องเดียว คือ “มหาลัยเหมืองแร่”
การไปดูวันนั้น ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก และไม่คิดว่าจะสนุก แต่เมื่อตั้งใจมาแล้ว เลยตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าไปดูแก้เซ็ง แต่แล้ว..ตลอดทั้งเรื่องจนหนังเรื่องนี้จบ ข้าพเจ้ากลับรู้สึก อิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูก
ตั้งแต่วันนั้น จวบจนปัจจุบัน ข้าพเจ้ามักย้อนกลับดูหนังเรื่องนี้ ทุกครั้งที่เหงา ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ นับได้ก็เกิน 20 กว่ารอบ และได้กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้
งานเขียนชุดเหมืองแร่ของคุณ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ไปเสียแล้ว
เปิดตัวด้วยอาจินต์โดนรีไทร์ ให้ออกจากมหาวิทยาลัย
เพราะสอบตก กำลังบอกลาแฟนสาวเพื่อมาทำงานเหมืองแร่ ฉากนี้เป็นฉากที่แฟนสาวตัดเส้นผม เพื่อให้อาจินต์เก็บไว้
“ถ้าเราวางบรรทัดที่จุดเริ่มต้น คลาดไปเพียงครึ่งองศา
ปลายเส้นที่เราลากไป ก็จะห่างไปจากแนวที่ต้องการทุกที”
2
การเดินทางจากกรุงเทพ ไปอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ในสมัยนั้น ค่อนข้างทุรักทุเร ต้องนั่งรถไฟ ต่อเรือและต่อรถ
คุณอาจินต์ได้บรรยายเอาไว้ในหนังสือ เป็นบันทึกระหว่าง
การเดินทาง ตั้งแต่เริ่มออกจากกรุงเทพ จนถึงปลายทาง
ทำให้หวนคิดถึงภาพวันเก่าๆ ในสมัยยังอยู่กับครอบครัว
“เหมืองแร่ เปรียบเสมือน ตู้ใส่กับข้าวใบสุดท้าย
ที่ข้าพเจ้าประคองกระเพาะอันอิดโรยไปหามัน”
อาจินต์ยื่นใบสมัครและใบรับรอง ที่แสดงภูมิแค่วิศวะปี2
ให้แก่มิสเตอร์แซม ผู้จัดการเหมืองแร่
ท่ามกลางความสนใจของคนในออฟฟิศ ต่อคนแปลกหน้า
บรรยากาศที่ไม่ค่อยต้อนรับจากบรรดาเสมียนออฟฟิศ
แต่ด้วยไม่มีทางเลือก อาจินต์จำเป็นต้องหางานให้ได้
โชคดีที่ผู้จัดการรับเขาไว้ทำงาน ในตำแหน่งกรรมกร
ออฟฟิศบอย มิตรภาพแรกในเหมือง เป็นคนกรุงเทพด้วยกัน
พาไปส่งยังบ้านพักที่นายฝรั่งจัดให้ ทั้งยังแนะนำการเป็นอยู่
และคอยส่งจดหมายของอาจินต์ในระหว่างทำงาน
อยู่ในเหมืองแห่งนี้
ทุกๆวัน เสมียนสิงคโปร์จะใช้ให้ออฟฟิศบอย
ปั่นจักรยาน เพื่อไปรับ-ส่ง จดหมายในตัวจังหวัด
ด้วยระยะทาง50 กิโลเมตร จนบางวันกลับมาเป็นลม
อาจินต์เห็นใจเลยตำหนิเสมียน แต่เสมียนกลับบอกมาว่า
“ถ้าเขาแก่แล้วก็อยู่บ้าน จะมาทำงานทำไม”
เสมียนสิงคโปร์ดูเหมือนจะไม่ชอบอาจินต์เอาเสียเลย
มักคอยดูหมิ่น และค่อนแคะเขาอยู่เป็นประจำ
แต่อาจินต์จำต้องอดทน
วันหนึ่งระหว่างกินเหล้าหลังเวลางานกับนายฝรั่ง
และคนอื่นๆในเหมือง เสมียนบอกว่าตัวเขาเรียนจบที่ปีนัง
แล้วนายจอนจบอะไรมา แต่นายอาจินต์นั้น จบเห่
ทำให้เขาโมโห จนเกือบมีเรื่องวิวาท ดีที่นายฝรั่งห้ามไว้
อาจินต์น้อยใจ และยังสำนึกผิด จึงขอลาออกในวันถัดมา
แต่นายฝรั่ง ไม่ยอมให้ออก
"ถ้าอาจินต์ ลาออก ก็ต้องลาออกด้วยกัน
เพราะฉันก็ผิด ที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ชวนเด็กกินเหล้า"
เหมืองแร่ดีบุกตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าเขา ห่างไกลความเจริญ
ที่มีแต่ชาวเหมืองทำงานกันอย่างแข็งขัน
มีชาวบ้าน อาศัยอยู่เพียง ไม่กี่หลังคาเรือน
ภูมิประเทศ และสภาพอากาศ มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี
“ในเมื่อพวกเราอยู่ด้วยกัน ในก้นแอ่ง กำแพงภูเขา
ที่ปิดฝาด้วยท้องฟ้า ที่มีแต่ฝน ดังนั้นชะตาชีวิตของพวกเรา
จึงคล้ายอยู่บนเส้นชีวิตเดียวกัน”
บาดแผลแรกของอาจินต์เกิดจากฝาถังน้ำมันบาดมือ
ตอนจะตัดขอบถัง เพื่อเอาเป็นถังขยะ ออฟฟิศบอยเข้ามาช่วย
ห้ามเลือดเอาไว้ให้ ด้วยการเอาไขน้ำมัน ปิดไว้ที่บาดแผล
เรื่องผีก็มีในงานเขียนเช่นกัน เมื่ออาจินต์ได้ฟังคนอื่นเล่าเรื่อง
ผีตายท้องกลมจนเก็บเอาไปฝัน พอตื่นมาก็ได้ยินเสียงใครกระแทกประตู จึงตัดสินใจเปิดไปดู ปรากฏว่าเป็นกบ
ที่กำลังกระโดดชนผนังบ้าน วันต่อมาอาจินต์เลยเอาเรื่องนี้ไปหลอกคนอื่นอีกที ว่าเจอผีหลอกเมื่อคืนจริงๆ
วันแรกที่อาจินต์ไปยังเรือขุดพร้อมกับนายฝรั่ง
มิสเตอร์แซมบอกกับอาจินต์ขณะนั่งรถว่า
เรือขุดแร่นี่แหละ มันคือชีวิต และโชคชะตาพวกเรา
ทำให้อาจินต์ตระหนักว่า เรือขุดแร่นั้นสำคัญเพียงใด
เพราะมันเปรียบเสมือนลมหายใจ ของชาวเหมืองแร่ทุกคน
นายจอน หัวหน้าคนงาน จอมบงการประจำเรือขุด
ผู้ที่มีบุคลิกเป็นคนห้าวๆ ห่ามๆ และเข้มงวด
อย่างนายงานผู้เอาจริง พร้อมนักรบคู่บารมีอย่างนายก้อง
ช่างฟิต และนายเหวง ช่างเชื่อม โดยอาจินต์ ยอมเป็นผู้ติดตาม เป็นน้องคนสุดท้องอย่างเต็มใจ
นายจอนผู้เป็นเหมือนลูกพี่ใหญ่ในเหมือง ผู้กินเยอะกว่าใคร
ดื่มเหล้า สูบบุหรี่เยอะกว่าใคร และพอเวลาขี้ ก็นานกว่าใคร
“แต่เป็นคนที่อาจินต์ค่อนข้างชื่นชอบและนับถืออยู่ไม่น้อย”
ส่วนใหญ่ชาวเหมืองแร่ จะกินข้าว กับแม่ค้าหาบเร่ในเหมือง
และที่ร้านกาแฟ โดยมีอาโกหน้าเลือดคนหนึ่ง
เป็นนายกสโมสร เพราะ เป็นทั้งที่พักผ่อน ที่นั่งดื่มกิน
และเป็นโรงพนันทุกชนิด
อาจินต์มักใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่คลายเหงา
แก้อาการคิดถึงบ้านของเขา วันไหนที่มาดื่มคนเดียว
ก็มักจะสนทนากับอาโกในเรื่องราวต่างๆ อยู่เสมอ
ราวกับอาโก เป็นเพื่อนสนิทของเขาคนหนึ่งเช่นกัน
เกิดเหตุการณ์น่าประทับใจ เมื่อนายฝรั่งมอบหมายให้อาจินต์
ไปดักจับโจรขโมยแร่ในคืนหนึ่ง ปรากฎว่าผู้ขโมยเป็นกลุ่มหัวหน้าคนงาน โดยมีนายจอน เป็นหัวโจก จนเกิดประเด็นถกเถียงเรื่องความถูกต้องกับความรักชาติ และพวกพ้อง
ในตอนเช้า อาจินต์จึงตัดสินใจลาออก เพราะไม่สบายใจ
แต่นายฝรั่งและกลุ่มนายจอนได้มาเฉลยว่าเป็นแค่แผนลองใจ เพื่อหวังจะเพิ่มเงินเดือนให้อาจินต์ ความซื่อสัตย์จริงใจ
ได้ทำให้มิตรภาพระหว่างพวกเขาเริ่มเบ่งบาน
“ กินอย่าอาย ตายอย่ากลัว อยากช่างหัว ตายปลด”
นายฝรั่ง แม่ทัพชาวออสซี่แห่งเหมืองแร่
อดีตทหารสมัยสงครามโลก เคยไปเป็นเชลยศึก
ร่วมสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว
มิสเตอร์แซม หรือนายฝรั่ง ผู้จัดการเหมืองแร่
ผู้เป็นเสมือนแบบฉบับที่อาจินต์อยากจะนำมาเป็นเยี่ยงอย่าง
เป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง ชอบบริจาค และช่วยเหลือสังคม เป็นที่นับถือของทุกคนในเหมือง รวมทั้งชาวบ้าน
และกล้าล้อเล่นกับชีวิต วันหนึ่งไปถามซื้อนาฬิกา
ที่แพงที่สุดในร้านขายนาฬิกา หลังจ่ายเงินเรียบร้อย
จึงมอบนาฬิกาคืนให้แก่ผู้ขาย แล้วบอกกับเขาว่า
“นาฬิกาที่ดีที่สุด ต้องอยู่กับคนขายนาฬิกา”
งานในเหมืองค่อนข้างหนัก เครื่องจักรทำงานทั้งวันทั้งคืน
อาจินต์ต้องตรากตรำงานหนัก เพื่อแสดงให้คนอื่นได้เห็นว่า
ตัวเองไม่ใช่กาฝากของที่นี่ และมิตรภาพก็ได้เกิดขึ้น
ท่ามกลางเม็ดฝนที่ชะล้าง เอาเขม่าควันของเรือขุด
มารมหน้าเหล่าชาวเหมืองแร่ จนกลายเป็นส่วนเดียว
กับชีวิตพวกเขาไปแล้ว
“มหาวิทยาลัยสอนความรักชาติ
แต่เหมืองแร่สอนความรักชีวิต
จากวันนั้นเหมืองแร่ได้กลายเป็นโลกที่ข้าพเจ้าภูมิใจ”
“เรามาจากคนละถิ่น คนละโรงเรียน
ฟังนิทานตอนเด็กมาคนละเรื่อง
หัวเลี้ยวหัวตอของชีวิต
ที่ทำให้เราเดินมาสู่เหมืองแร่ก็เป็นคนละมุม
แต่เราก็อยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัวยิ่งกว่าจะรู้สึกว่ามาทำงาน
มีความเป็นญาติอยู่ในคำเรียก ไอ้ อี่
มีความเป็นกันเองและเปิดเผยและมีความหวังดีต่อกัน
อยู่ในเรี่ยวแรง ยามที่ช่วยกันออกแรงคนละมุม”
“ตาแดง” คนเฝ้ายามประจำเหมือง ผู้แบ่งอาหารให้แก่อาจินต์
เป็นประจำ และเป็นเพื่อนคลายเหงาในยามคำคืนให้แก่เขา
ทั้งยังเป็นที่ปรึกษา แม้ในวันที่ท้อแท้ หมดหวัง
ตาแดงยังคอยให้กำลังใจอยู่ตลอด
“มิตรภาพระหว่างคนแก่ชราบ้านนอก และเด็กหนุ่ม
ผู้เหลวแหลกจากกรุงเทพ ได้ก่อเกิดขึ้นมา
ในเรือนป้อมยามเล็กๆ ของเหมืองแร่ดีบุกแห่งนี้”
และแล้วตำตอบจากการไม่ได้รับตอบจดหมาย ก็ได้ถูกเฉลย
เมื่อแฟนอาจินต์ได้ส่งจดหมายตอบกลับมาฉบับแรก
ซึ่งเป็นการ์ด บัตรเชิญแต่งงาน
อาจินต์เคยบอกกับตาแดงว่าเขามาทำงานเหมือง
เพื่อจะเก็บเงินไปแต่งงาน เมื่อยามเหงาคิดถึงแฟน
อาจินต์มักจะหยิบรูปเธอมามองอยู่เป็นประจำ
เป็นการบ่งบอกว่าความรักคือทุกสิ่งในชีวิต
และวันนั้นทุกอย่างมันได้พังทลายลงไปแล้ว
ฉากนี้อาจินต์ได้เขียนคำกลอนไว้ที่ฝาบ้านก่อนจะเมาหลับไป
“อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอด อนาคตต้องตาย”
แล้วตาแดงก็มาแก้ให้ใหม่ให้ จาก “อนาคตต้องตาย”
เปลี่ยนเป็นคำว่า ปัจจุบันต้องอด..."ทน”
ในความเหงาความเศร้า เขายังมีนายฝรั่งและผองเพื่อน
ร่วมดื่ม ร่วมสังสรรค์ เป็นประจำ เพื่อเอาเหล้ามาปลอบใจ
และคอยหล่อลื่นเอาไว้ ไม่ให้ชีวิตมันฝืดจนเกินไป
การดื่มเหล้า มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวเหมืองแร่
เพราะไม่ว่าจะสุข หรือเศร้า พวกเขาก็จะดื่มเหล้า
มันทำให้ผ่อนคลาย หลังจากกรำงานหนักมาทั้งวัน
ไอ่ไข่ เด็กหนุ่มที่มีแต่รอยยิ้ม และร่างกาย
เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากในเหมือง หลังนายฝรั่งรับเข้าทำงาน
ให้เป็นผู้ช่วยสำรวจแร่กับอาจินต์ จึงทำให้บรรยากาศ
ในเหมืองครึกครื้นขึ้นมา ด้วยความร่าเริงของเขา
เขาติดตามอาจินต์ตลอดเวลาทั้งในยามดื่ม กิน เที่ยว
และยามนอน มีความผูกพันราวกับเป็นญาติแท้ๆ
“บางทีผมก็เห็นมันลูก บางทีผมก็เห็นว่ามันเป็นพ่อ
ในเวลาเดียวกัน”
เกิดสถานการณ์แย่ๆขึ้นอยู่หลายครั้ง ในเหมืองแร่
เช่น การทะเลาะวิวาท การแทงกันตายในวงพนัน
ในหนังจะมีฉาก นายเจียง นักดูเมฆ ตายเพราะน้ำป่า
และนายหวน คนงาน ต้องขาขาดเพราะถูกเครื่องจักรบดขยี้
ให้ความรู้สึกสะเทือนใจ อยู่ไม่น้อย
การสำรวจแร่ มักมีข้อขัดแย้งกับคนในพื้นที่เรื่องหลักเขต
ตาเคลื่อน เจ้าของที่ดินบริเวณใกล้เคียง
เอาดาบ มาขู่ว่าจะฟัน อาจินต์ และไอ่ไข่
วันต่อมานายฝรั่งให้ปืนแก่อาจินต์ เพื่อให้ไปขู่ตอบกลับ
แต่แล้วเรื่องหน้าสิ่วหน้าขวาน กลับกลายเป็นเรื่องตลกขึ้นมา
เมื่ออาจินต์หลอกแย่งพระเครื่องจากตาเคลื่อน
ที่แกเข้าใจว่าสามารถป้องกันกระสุนได้จริง
แม่ละเอียดหญิงสาวในหมู่บ้าน ที่นายจอน หัวหน้าคนงาน
ขออาจินต์เขียนจดหมายให้ ในสำนวนกรุงเทพ เพื่อไปจีบ
แต่แม่ละเอียดที่อ่านหนังสือไม่ออก กลับมาขอให้อาจินต์
อ่านจดหมายที่เขาเขียนขึ้นมาเองให้เธอฟัง จึงทำให้พวกเขาสนิท และคุ้นเคยกันในช่วงระยะหนึ่ง
คนป่าเข้ามาร้านกาแฟ เพื่อหายาใส่แผลให้คนป่าที่แทงกัน
อาจินต์ ไอ้ไข่และตาหมา กินเหล้าอยู่ด้วยกันในร้าน
จึงได้ชวนเขาสนทนา อาจินต์เห็นว่าอาโกเอายาหมดอายุให้ เพื่อแลกกับข้าวโพดของคนป่า ก็เลยทักท้วง แต่ไม่มีผล
วันต่อมาคนป่ามาบอกว่าคนเจ็บหายแล้ว เพราะให้กินยาแดงนั้นทั้งหมด ภายหลังอาโกสำนึกผิดที่ทำไปเช่นนั้น
1
นายเลิศ หัวหน้าคนงานคนใหม่ มาแทนนายจอนที่ลาออกไป
คนที่อาจินต์เหมือนจะไม่ชอบขี้หน้า และพยายามตรวจทดสอบ
ความสามารถของเขา ว่าสามารถ ทำได้ดีกว่านายจอน
มากน้อยเพียงใด
แต่ความดีของนายเลิศก็ซื้อใจทุกคนในเหมืองได้สำเร็จ
และนายเลิศได้เคยช่วยเหลืออาจินต์ใว้ครั้งหนึ่ง
ต่อมาไม่นานอาจินต์เริ่มยอมรับในตัวนายเลิศเช่นกัน
ในตอนท้าย เรือขุดเกิดการชำรุด เสียหายหนัก
เพราะใช้งานหนักมาหลายปี
แร่ก็เริ่มขุดได้น้อยลง เมื่อมองว่าเป็นการซ่อมที่ไม่คุ้มค่า
บริษัทแม่ในปีนัง จึงมีคำสั่งให้ปิดเหมือง เลิกกิจการ
“ทำให้ทุกคนเกิดหดหู่ใจ เมื่อหลายชีวิตต้องมาตกงาน
ขาดรายได้จากการยุบเหมือง คนงานต้องระหกระเหิน
ทยอยออกจากเหมืองไป จนแทบจะกลายเป็นออฟฟิศร้าง”
เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก
หลายคนย้ายไปทำงานที่เหมืองอื่นๆ
ส่วนอาจินต์นั้นนายฝรั่งแนะนำให้กลับกรุงเทพ
ไม่ต้องมาทำงานในเหมืองแร่อีก
และซื้อตั๋วเครื่องบินขากลับกรุงเทพให้อาจินต์
พร้อมเซ็นซ์เอกสารใบรับรองงานให้ด้วย
ก่อนที่จะเดินทางออกจากเหมือง
ไอ่ไข่และแม่ละเอียดได้มาบอกลาอาจินต์
ไอ่ไข่ได้ถามอาจินต์ “อาจินต์ มีเท่าไหร่ถึงจะไปกรุงเทพได้”
และอาจินต์ก็ตอบว่า “ไอ่ไข่ มึงยังมีเวลาอีกเยอะ”
ส่วนแม่ละเอียดได้บอกกับอาจินต์ว่า
“กรุงเทพ มันไกลเหลือเกิน ฉันคงไปไม่ถึง”
แล้วรถก็ค่อยๆเคลื่อนห่างพวกเขาไป
ทิ้งไว้เพียงความฝัน ให้เป็นอดีตที่ยังสร้างไม่เสร็จของอาจินต์ แต่มันเป็นความทรงจำอันล้ำค่าสำหรับเขา
หนังสือมหาลัยเหมืองแร่ เป็นงานเขียนที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่ง
ที่ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้หาอ่าน
เพราะมีถ้อยคำการเขียนบรรยายให้เห็นสุนทรียภาพของชีวิต เสมือนเราได้มองเหตุการณ์นั้นเอง ผ่านวิธีเขียน
ที่อุปมาอุปไมย ได้อย่างสวยงามทางสำนวนภาษา
และหนังเรื่องนี้ก็ทำออกมาดี จนได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
หนังเรื่องมหาลัยเหมืองแร่ ทำให้อาจินต์และตาไข่
กลับมาพบกันอีกครั้ง แม้นผ่านมาหลายปี
หลายคนยังนึกถึงหนังเรื่องนี้ ให้เป็นหนึ่งในเรื่องโปรด
และงานเขียนของคุณ อาจินต์ ปัญจพรรค์
ยังเป็นที่กล่าวขานอยู่เสมอ แม้เขาจะล่วงลับไปแล้ว
สำหรับ Ep.นี้ ข้าพเจ้าได้เขียนเล่าถึงเนื้อหาส่วนใหญ่
ของภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ไว้ในหมวดปรัชญา
เพราะมันเป็นหนังเพื่อชีวิตอย่างแท้จริง
1
หากท่านใดไม่เคยดู หรือเคยดูแล้วให้ลองกลับมาดูอีกครั้ง
ในยามที่พวกท่าน กำลังท้อแท้ หรือกำลังอ่อนแอ
กับสภาวะการณ์ใดก็ตาม หรือเวลาไม่ชอบใครสักสักคน
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม จริงๆแล้วความสุข หรือความทุกข์
ส่วนใหญ่นั้นมาจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
และสภาพแวดล้อม
ในมุมมองของอาจินต์ทำให้เราเห็นว่า ทัศนคติที่ดี
และการมองมุมบวก ก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นความสุขได้
ไม่ว่าสถานการณ์ใด โดยมีความสัมพันธ์เป็นตัวแปร
และมิตรภาพในเหมืองแร่ ก็ได้สร้างสรรค์ เรื่องราวสู่งานเขียน
อันเป็นบทเรียนชีวิตที่ทรงคุณค่าแก่อาจินต์ และผู้อ่านทุกคน
ขอให้ทุกความสัมพันธ์จงเจริญงอกงาม
...ไซตามะ
โฆษณา