15 ส.ค. 2020 เวลา 22:58 • ท่องเที่ยว
ศาลเจ้าพ่อโรงเกือก สถาปัตยกรรมแดนมังกร ย่านตลาดน้อย
ตลาดน้อย หรือ ตะลักเกียะ ย่านการค้าเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความคึกคักรองลงมาจากเยาวราช
... เป็นย่านสำคัญที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของชุมชนชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ ....
ปัจจุบันแม้กาลเวลาจะผ่านไป ก็ยังคงทิ้งร่องรอยของวัฒนธรรม การใช้ชีวิต ความเชื่อ ผ่านสถานที่เคารพบูชาทั้งศาลเจ้า และสถาปัตยกรรมบ้านรูปทรงแบบจีน
ชาวตลาดน้อย ยินดีต้อนรับ
ทางเข้ามี ศิลปะบนกำแพง เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนชาวจีน ในย่านตลาดน้อยให้ดูเพลินๆ และจะยังคงเห็นร่องรอยในอดีตผ่านผนังอิฐและหลังคาทรงจีน
... รวมถึงเครื่องรางที่ชาวจีนติดไว้เหนือประตูบ้าน ซึ่งสะท้อนวิถีความเป็นอยู่ของคนจีนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ภาพศิลปะบนกำแพง ... มีอยู่หลายจุดให้ค้นหา
ชาวจีนฮากกาที่อาศัยในย่านนี้มีความชำนาญด้านการตีเหล็ก ซ่อมแซมสมอเรือ ทำเครื่องเหลผ็กต่างๆ ซึ่งรวมถึงการทำเกือกม้า ...
ศาลเจ้าโรงเกือก หรือศาลเจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุง ... อีกหนึ่งมุมที่ผสมผสานความเก่าแก่เข้ากับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ศาลเจ้าเก่าแก่ของคนจีนฮากกาที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ..
... เมื่อตามกลิ่นหอมของควันธูปเข้ามาด้านในจะเจอกับประติมากรรมฝาผนังสีแบบนูนต่ำที่บันทึกเรื่องราวของคนจีนในสมัยนั้นเอาไว้
ตามประวัติที่ถอดความจากแผ่นป้ายศิลาภายในศาลเจ้าได้ความว่า ..
... พ่อค้ชาวจีนฮากกา ได้อัญเชิญเจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุง มาประดิษฐานบูชาในเมืองไทยเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว ก่อนที่จะสร้างเป็นศาลเจ้าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน .. โดยศาลเจ้าหลังเดิมอยู่ทางด้านขวามือ
... ต่อมาเมื่อมีการจัดพิธีแห่เจ้าขึ้น สถานที่เลยคับแคบเกินไป จึงมีผู้ศรัทธารวมตัวกันชักชวนให้ผู้คนมาบริจาคเงินซื้อที่ดินด้านซ้ายของศาลเจ้า เพื่อใช้สร้างศาลเจ้าหลังใหม่
บนผนังของอาคารตรงทางเข้าสู่ศาลเจ้า มีการก่อกรอบสี่เหลี่ยมเป็นช่องๆ ขนาดเล็กและมีกรอบที่มีขนาดใหญ่
... โดยแต่ละช่องมีไว้สำหรับประติมากรรมปูนปั้นประดับกระเบื้องผสมกับภาพจิตรกรรมเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานศิลปกรรมแบบนี้เป็นที่นิยมในศาลเจ้าของชาวจีนแคะ
ช่องหน้าต่างขนาบประตูทางเข้า ... ประดับงานไม้ฉลุลายเมฆพรรณพฤกษาขดเป็นรูปมังกรที่เรียกว่า “ฉีหู่ชวง” ที่หมายถึง “หน้าต่างเสือมังกร” โดยตัวมังกรที่ปรากฏอยู่ในลวดลายมีความหมายมงคลถึงเรื่องอายุยืน
เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับหน้าต่างบานนี้ คือการเจาะช่างหน้าต่างแบบฉีหู่ชวงนั้นเป็นรูปแบบที่พบในงานสถาปัตยกรรมของชาวแต้จิ๋ว แต่กลับพบในศาลเจ้าโรงเกือก ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมภาษาจีนแคะแทน แสดงให้เห็นการรับส่งอิทธิพลทางศิลปกรรมในศาลเจ้าระหว่างวัฒนธรรมจีนภาษาทั้งสองแหล่งได้เป็นอย่างดี
สัตว์มงคลของวัฒนธรรมจีนในคติสัตว์ประจำทิศต่างๆ ซึ่งนิยมนำสัตว์เหล่านี้มาประดับภายในศาลเจ้าเพื่อแสดงถึงฐานะผู้คุ้มครองศาสนสถาน โดยสัตว์ประจำทิศในวัฒนธรรมจีนนั้นประกอบไปด้วย
มังกรเขียว เป็นสัตว์ประจำทิศตะวันออก
เสือขาว เป็นสัตว์ประจำทิศตะวันตก
งูพันเต่าสีดำ เป็นสัตว์ประจำทิศเหนือ
นกแดง เป็นสัตว์ประจำทิศใต้
เสือขาวและมังกรเขียวที่นำมาประดับในศาลเจ้าโดยทั่วไป จะสอดคล้องกับตำแหน่งและทิศทางการหันหน้าของศาลเจ้าที่ส่วนมากจะหันหน้าลงทิศใต้
ที่ศาลเจ้าโรงเกือก มีตำแหน่งการวางของสัตว์ประจำทิศทั้งสองออกจะแตกต่างจากที่เราคุ้นเคยกัน ...
..,โดยก่อนที่เดินเข้าประตูไปยังพื้นที่ภายในศาลเจ้า หากเราสังเกตดีๆ ที่ผนังด้านซ้ายของประตูทางเข้า ในเหล่าบรรดาช่องประดับประติมากรรมนูนต่ำเล่าเรื่องที่ประดับประดาไปทั่วผนังนั้น จะพบว่ามีประติมากรรมเสือขาวตัวน้อยประดับอยู่ที่ช่องด้านล่างสุดของผนัง
ส่วนประติมากรรมมังกรเขียวที่มีตำแหน่งอยู่ตรงข้ามกัน คือบริเวณมุมผนังด้านขวาของประตูทางเข้าศาลเจ้า
... เรียกได้ว่าอยู่ในตำแหน่งเดียวกันเพียงแต่คนละด้านของกำแพงนั่นเอง
ศาลเจ้าโรงเกือก ... ภายในศาลเจ้า เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อ ฮ้องหว่องกุง ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งศาลเจ้าของท่านในที่อื่นในประเทศไทยเลย โดยเทพเจ้า ฮั่นหวังกง (ฮ้อนหว่องกุง) เป็นเทพเจ้าที่มีตำนานเกี่ยวกับปฐมวงศ์ของราชวงศ์ฮั่นหรืออาจเป็นขุนนางระดับท่านอ๋องในสมัยยุคจารีต
... ในศาลเจ้ายังมีเทพเจ้าองค์อื่นๆให้กราบไหว้ด้วย เช่น เจ้าแม่ทับทิม ที่สอดคล้องกับความศรัทธาที่คนเดินเรือเคารพ
มุมสวยงาม อันเป็นส่วนหนึ่งของ living quarter ของคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ ... เราถือโอกาสเก็บภาพมาเป็นที่ระลึก
ชาวจีนโพ้นทะเลทั้งหลายที่ได้พกพาเพียงเสื่อผืนหมอนใบ ใช่จะมีเพียงมรดกติดตัวอันเป็นทุนสร้างตัวจนมั่นคงแก่ตนเท่านั้น แต่พวกเขายังพกพาเอามรดกวัฒนธรรมที่หลั่งไหลในชนชาวจีนทุกรุ่นสมัยติดตัวมาด้วย ...
... และศาลเจ้าจีนคือประจักษ์พยานหนึ่งแห่งความเข้มข้นและเป็นเอกลักษณ์ในวัฒนธรรมของตนอย่างไร้ข้อกังขา
จากความหลากหลายของเส้นทางอพยพ สู่การบรรจบผสมผสานอย่างลงตัว ศาลเจ้าหนึ่งหลังจึงเป็นตัวแทนของการผสมผสานวัฒนธรรมจีนที่หลากหลาย ผ่านพลวัตทางสังคมมากมาย
... จนกลายเป็นศรัทธาสถานที่รวมใจชนชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเอาไว้อย่างเหนียวแน่นยาวนานจนถึงปัจจุบัน
... ติดกับศาลเจ้า เป็นท่าน้ำของกรมเจ้าท่า
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา