24 ส.ค. 2020 เวลา 01:00 • สุขภาพ
ความปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัว : การหาจุดร่วมเพื่อควบคุมไวรัสโคโรนา
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในทั่วโลกสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและมหาศาล ถึงแม้ตอนนี้รัฐบาลดูเหมือนจะควบคุมตัวเลขผู้ป่วยได้หลังจากที่ปิดประเทศไปแล้ว แต่ว่าความเป็นไปได้ที่เชื้อโรคนั้นจะกลับมายังมีอยู่หากกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง การแก้ไขปัญหาอย่างการหยุดกิจกรรมทั้งประเทศเป็นมาตรการที่ส่งผลดีต่อจำนวนผู้ป่วย แต่ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องเปิดประเทศและจำเป็นต้องหาทางสกัดกั้นลูกโซ่ของการแพร่ระบาดแทน และต้องยื้อเวลาจนกว่าที่วัคซีนจะถูกค้นพบ การใช้เทคโนโลยีติดตามบุคคลเพื่อการควบคุมโรคจึงเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลสนใจ
วันนี้ เราจะมาตรวจสอบกันว่าทำไมเครื่องมือนี้ถึงถูกเลือก อะไรเป็นข้อควรระวังต่อการใช้เทคโนโลยีนี้ และรัฐบาลแต่ละประเทศมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างไร
ความเร็วและข้อมูลของผู้เดินทางคือหัวใจในการปราบไวรัส
สิ่งที่น่ากลัวของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาคือความเร็วของการแพร่ระบาด การแพร่กระจายเชื้อโรคนี้เป็นไปในอัตราก้าวหน้า การรู้แหล่งแพร่เชื้อก่อนหรือการกักตัวผู้ป่วยก่อนจะทำให้เราสามารถลดจำนวนผู้ป่วยไปเป็นจำนวนมหาศาล ดังในตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างไต้หวันที่มีประสบการณ์การต่อสู้กับโรคซาร์ส ไต้หวันได้ทำการปิดทางเข้าประเทศทั้งทางเรือและทางอากาศตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมและสนับสนุนเครื่องมือป้องกันไวรัสให้แก่ประชาชน สิ่งเหล่านี้ช่วยให้จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่องจนทางรัฐบาลไม่พบผู้ป่วยใหม่เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน (สถิติวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563) นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหากรัฐบาลสามารถระบุต้นตอของโรคได้ไว ก็จะสกัดการแพร่ระบาดเชื้อได้ไวเช่นเดียวกัน
ภาพที่ 1 เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อให้กับประชาชนในประเทศจีน (แหล่งที่มา Business Insider)
อีกหนึ่งตัวอย่างที่รัฐบาลต้องการที่จะหยุดต้นตอการระบาดของเชื้อโรคคือประเทศจีน มาตรการการควบคุมประชากรของจีนนั้น (อ้างอิงจากแหล่งข่าว Business Insider) มีแนวคิดที่ว่ารัฐบาลสั่งให้ประชาชนให้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ถึงแม้จะมีมาตรการที่ค่อนข้างสุดโต่งที่ประเทศอื่น ๆ อาจนำมาปฏิบัติได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น การห้ามการสัญจรในพื้นที่สาธารณะ การบังคับประชาชนให้เปิดเผยเส้นทางการเดินทางผ่านพื้นที่เสี่ยง การติดตั้งแอปพลิเคชันบันทึกเส้นทางการเดินทาง เป็นต้น แต่มาตรการดังกล่าวได้มอบข้อมูลที่ระบุถึงเส้นทางการติดเชื้อของประชาชนทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการแหล่งแพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมผู้ติดเชื้อในประเทศได้อย่างอยู่หมัด ถึงแม้ว่ารัฐบาลต้องทำงานในสภาวะที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนค่อนข้างสูงแล้วก็ตาม
สิ่งที่ต้องแลกกับข้อมูลส่วนตัว
ประเทศผู้นำเทคโนโลยีอย่างเกาหลีใต้ก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อเช่นกัน โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีดิจิตัลรูปแบบต่าง ๆ หนึ่งในเทคโนโลยีดังกล่าวคือแอปพลิเคชันติดตามและบันทึกเส้นทางการเดินทางของผู้ใช้งาน รูปแบบการใช้งานคือการเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ใช้งานไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และสามารถออกหมายจับได้ถ้าผู้ใช้งานฝ่าฝืน ด้วยลักษณะการทำงานของแอปพลิเคชันนี้ การเก็บข้อมูลจึงมีลักษณะรวมศูนย์หรือข้อมูลทั้งหมดอยู่รัฐบาล อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะเปิดเผยข้อมูลเฉพาะของผู้ป่วยในลักษณะที่ไม่เปิดเผยตัวตนบนเว็ปไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ถูกเก็บไปนั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการควบคุมโรคเท่านั้น แต่ว่าก็ยังมีผู้ไม่หวังดีได้สืบสาวข้อมูลดังกล่าวของผู้ป่วย ทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความเป็นส่วนตัวกระทั่งได้รับความเดือดร้อนในที่สุด นั่นจึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เราควรให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวของเรามากขนาดไหนเพื่อให้สังคมนั้นปลอดภัยทั้งจากข้อมูลที่รั่วไหลและจากเชื้อโรคตัวนี้
ความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัว?
อาจกล่าวได้ว่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในสังคมเป็นสองขั้วที่อยู่ตรงข้ามกัน ในแง่หนึ่งการจัดการเชื้อโรคจำเป็นที่จะต้องรู้แหล่งของโรคและจะต้องควบคุมผู้ที่ติดเชื้อให้ได้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งควบคุมแหล่งแพร่เชื้อได้ไวเท่าไหร่ การแพร่เชื้อก็จะจำกัดมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นข้อมูลเส้นทางของแต่ละคนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในทางกลับกัน ความเป็นส่วนตัวของประชาชนก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ความเป็นส่วนตัวถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราทุกคนต่างมีความลับบางอย่างหรือพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ต้องการให้ใครเข้าได้ เราต่างล็อคบ้านของตัวเองก่อนเข้านอน เราต่างใช้พาสเวิร์ดในการเข้าใช้อีเมล หากมีอำนาจใดที่มีความชอบธรรมในการล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวของทุกคน อำนาจนั้นอาจถูกใช้โดนทางที่ผิดและส่งผลต่อความปลอดภัยของปัจเจกบุคคลได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นข้อมูลส่วนตัวจึงสำคัญไม่แพ้กัน
การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสองความคิดนี้จึงเป็นคำถามที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี หากเลือกทางใดทางหนึ่งมากเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหาจากอีกทางหนึ่งได้
บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่คือทางออก?
ภาพที่ 2 Apple และ Google ร่วมมือพัฒนาระบบมือถือเพื่อบันทึกผู้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (แหล่งที่มา Apple)
เพื่อยุติข้อขัดแย้งระหว่างทางสองแพร่งนี้ ทาง Apple และ Google ได้ออกประกาศร่วมกันในการพัฒนาฟังก์ชันของโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ให้สามารถติดต่อกันผ่านเทคโนโลยีเชื่อมต่อระยะสั้น "บลูทูธ" (Bluetooth) ในทางระยะแรกนี้ ทางบริษัทจะพัฒนาหน้าต่างเรียกข้อมูล (Application Programming Interface – API) ให้กับผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทั่วไป ก่อนที่จะพัฒนาให้ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์มือถือของแต่ละคน และเมื่อเปิดใช้งาน และจะเปิดเผยข้อมูลอย่างสาธารณะเพื่อให้ผู้ที่สนใจนำข้อมูลไปวิเคราะห์และต่อยอดได้ ทั้งหมดนี้ ทางบริษัทได้ยึดถือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นหลัก และพร้อมที่จะทำงานกับรัฐบาลและกระทรวงสาธารณะสุขของแต่ละประเทศ
ทวีปที่ไร้พรมแดนกับไวรัสที่ต้องเผชิญ
ภาพที่ 3 สถานการณ์การแพร่ระบาดยังน่ากังวลในทวีปยุโรป (แหล่งที่มา Pexels)
ถึงแม้ว่าทางฝั่งของทวีปยุโรปได้ตื่นตัวกับการควบคุมไวรัสช้าไปสักหน่อย แต่เมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นการใช้เทคโนโลยีอย่างแอปพลิเคชันบันทึกผู้ติดต่อจึงเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างถูกกว่าและมีประสิทธิภาพกว่า ในตอนนี้แต่ละประเทศในทวีปยุโรปต่างเดินหน้าผลิตแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง ในขณะที่ประเทศเยอรมนีเห็นว่าการผลิตแอปพลิเคชันเดียวเพื่อใช้ในทวีปยุโรปทั้งหมดจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากพื้นที่ในทวีปยุโรปนั้นไร้เส้นแบ่งดินแดน ผู้อาศัยในทวีปยุโรปต่างสามารถเข้าออกแต่ละประเทศได้อย่างเสรี การใช้เพียงหนึ่งแอปพลิเคชันจะลดความซ้ำซ้อนของการติดตั้งและป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล
อีกสิ่งที่ทางทวีปยุโรปให้ความสำคัญคือการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล คณะกรรมมาธิการยุโรป (European Commission) ได้วางแนวทางการสร้างแอพบันทึกผู้ติดต่อโดยคำนึงหลักการไว้อยู่หลายข้อ โดยหลัก ๆ แล้วคือฟังก์ชันของแอพนี้ต้องเป็นการเก็บบันทึกข้อมูลการติดต่อของบุคคลโดยใช้บลูทูธ (Bluetooth) และการแจ้งเตือนผู้ที่ติดต่อกับคนที่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส การไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานรวมถึงการไม่ระบุตัวผู้ป่วยต่อผู้ที่มีความเสี่ยง และต้องลบข้อมูลผู้ติดต่อหากเกินระยะเวลาที่กำหนด ด้วยแนวทางเหล่านี้ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่าปลอดความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
แต่ประเด็นการรวมข้อมูลอยู่ที่ศูนย์กลางยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงอยู่ในตอนนี้ ล่าสุดประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสสนับสนุนการเก็บข้อมูลเข้าสู่ส่วนกลาง เพราะการกระจายกำลังการต่อต้านโรคมีประสิทธิภาพมากกว่า ในขณะที่ ประเทศเยอรมนีได้สนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของ Google และ Apple ที่ไม่ต้องการเก็บข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคนเข้าสู่ส่วนกลาง เพราะประเด็นที่สำคัญของการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวคือการระบุถึงแหล่งที่มาของเชื้อและทะลายห่วงโซ่ของการระบาดอย่างเร็วที่สุด การรวมข้อมูลเข้าสู่ศูนย์กลางจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปได้ออกมาเตือนถึงเรื่องนี้ผ่านการเขียนจดหมายเปิดผนึกโดยได้ใจความว่า หากมีการเก็บข้อมูลเข้าสู่ส่วนกลาง จะเกิด “การสอดแนมมวลชน” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ผู้นำทางเทคโนโลยีกับกฎหมายที่ล้าหลัง
ภาพที่ 4 บริษัทเทคโนโลยีชนาดใหญ่ของสหรัฐ Google, Apple, Facebook, Amazon, และ Microsoft – GAFAM (แหล่งที่มา Knolscape)
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกยกตัวอย่างเช่น Google, Amazon, Facebook, Apple และ Microsoft มีข้อมูลประชาชนสหรัฐเป็นจำนวนมาก ข้อมูลเหล่าสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลการเดินทางของผู้คนในสหรัฐ แต่ว่าทางรัฐสภาสหรัฐยังไม่มีกฎหมายออกมาอย่างแน่ชัดสำหรับการจัดการข้อมูลส่วนตัว ความล่าช้าของกระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้การช่วยเหลือทางด้านข้อมูลส่วนบุคคลของ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เหล่านี้ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เบื้องต้นรัฐบาลสหรัฐขอให้กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ยื่นข้อมูลที่ไม่เปิดเผยชื่อโดยเฉพาะข้อมูลการเคลื่อนที่โทรศัพท์มือถือของประชาชน กฎหมายควบคุมข้อมูลสาธารณะนี้สำคัญเพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าการใช้ข้อมูลในเรื่องหนึ่งควรให้ความสำคัญกับส่วนรวมมากกว่าสิทธิส่วนบุคคล และนำไปสู่การบังคับใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
บทสรุปจากทั่วโลก
โดยสรุปแล้ว รัฐบาลแต่ละประเทศต่างดำเนินแนวทางในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน ในขณะที่บางประเทศได้ดำเนินการใช้นโยบายไปบ้างแล้ว บางประเทศก็ยังถกเถียงเพื่อหาจุดลงตัวระหว่างความปลอดภัยในสังคมและความเป็นส่วนตัวของประชาชน นี่อาจเป็นคำถามใหญ่ต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของเราก็ได้ว่าจำเป็นต้องเสียสละสิ่งนี้มากเพียงใดเพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัยในประเทศ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องถ่วงดุลตาชั่งนี้ให้ดี
อ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Big Data ได้ที่
#govbigdata #bigdata #bigdatathailand #datascience #dataengineer #dataanalytic #digitalthailand #datasecurity
โฆษณา