31 ส.ค. 2020 เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การใช้ Wireless signal ร่วมกับ AI เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่บ้าน
ในวันที่การระบาดของไวรัสโคโรน่า (Corona Virus Disease 2019) หรือ COVID-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่ละโรงพยาบาลก็พยายามที่จะป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดอันเนื่องมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่หนาแน่น ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไวรัสโคโรน่ามีโอกาสในการแพร่กระจายจากผู้ป่วยไปยังบุคลากรทางการแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน
โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC: Centers for Disease Control) รายงานว่า มีผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขได้รับเชื้อจากการปฏิบัติงานทำให้เกิดผลตั้งแต่มีไข้เพียงเล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต ในประเทศอิหร่านมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกว่าหมื่นราย สิ่งนี้ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างจับมือกันเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 โดยการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาด และเป็นกำลังเสริมให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขต่อสู้กับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้
ถ้ากล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะอาการที่เข้าข่ายติดเชื้อและมีความจำเป็นต้องกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วันเพื่อรอสังเกตุอาการ แต่การที่ต้องแยกตัวให้ห่างจากคนในบ้านทำให้การติดตามพฤติกรรมนั้นทำได้ยากขึ้น ทั้งในแง่ของการดูแลและการติดตามอาการ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทีมงานจากห้องปฏิบัติการ Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory (CSAIL) ของ MIT จึงได้พัฒนาระบบติดตามไร้สายที่ให้แพทย์สามารถติดตามผู้ป่วยในระยะไกลได้ เพื่อรักษาระยะห่างและป้องกันการสูญเสียบุคคลากรทางการแพทย์
Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory (CSAIL) จาก MIT
เทคโนโลยีที่ใช้ AI เข้ามาช่วยติดตามอาการผู้ป่วย
MIT CSAIL พัฒนาอุปกรณ์กล่องอัจฉริยะไร้สายเพื่อมาช่วยติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ที่บ้าน ภาพจาก MIT CSAIL
ทีมงาน CSAIL ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่าเจ้า Emerald ซึ่งเป็นอุปกรณ์กล่องอัจฉริยะไร้สายเพื่อมาช่วยติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ที่บ้าน ซึ่งอุปกรณ์นี้มีหน้าตาคล้ายกับกล่อง Wi-Fi router ที่ติดอยู่กับผนังบ้าน โดยอุปกรณ์จะส่งสัญญาณไร้สายออกมาซึ่งจะไปสะท้อนกับผู้ป่วย และใช้ระบบ AI ในการวิเคราะห์รูปแบบเหล่านั้นแล้วอนุมานถึงอัตราการหายใจ รูปแบบการนอน และการเคลื่อนไหวของคนนั้นได้ ซึ่งเจ้า Emerald นี้มีความละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะตรวจจับการเคลื่อนไหวบริเวณหน้าอกและให้กลายเป็นอัตราการหายใจได้ โดยสามารถแยกแยะได้พร้อมกันหลายคน รวมถึงสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้รู้ว่าใครเป็นใคร มากกว่านั้นยังสามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อจะเริ่มมีปัญหาการหายใจเมื่อไหร่ และเมื่อเรานำอุปกรณ์นี้ไปติดในห้องผู้ป่วยติดเชื้อก็จะสามารถรู้ข้อมูลได้ว่า ตอนนี้ผู้ป่วยติดเชื้อเดินเร็วหรือเดินช้า มีอัตราการหายใจในลักษณะใด และสามารถบอกระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าอาการดีขึ้นหรือแย่ลง จากการเก็บข้อมูลตลอดเวลาแบบ Real-Time และแพทย์ที่ทำการรักษาก็จะสามารถวินิจฉัยจากระยะไกล ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เพราะไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
ล่าสุดได้มีการนำเอาเจ้า Emerald มาทดลองใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน โดยใช้เพื่อติดตามผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 จากระยะไกลได้ ผลจากการตรวจสอบพบว่า เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อถูกรักษาให้หายดีแล้ว ระบบสามารถตรวจจับได้ว่าอัตราการหายใจได้ลดลงจาก 23 เป็น 18 ครั้งต่อนาที การนอนดีขึ้น และสามารถเดินได้เร็วขึ้นในห้องอพาร์ทเมนท์หลังจากที่ผู้ติดเชื้อหายจากอาการ
ดังนั้นเจ้า Emerald จึงเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการหนักมากให้สามารถอยู่ที่บ้านได้ โดยยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งอนาคต Emerald อาจจะใช้เพื่อติดตามในกรณีอื่น ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคกังวล นอนไม่หลับ หรือหยุดหายใจขณะหลับ ก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถดูแลรักษาระยะไกลด้วยเทคโนโลยีได้ต่อไปในอนาคต
การติดตามอาการของผู้ติดเชื้อ COVID-19 สามารถทำได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้ นับได้ว่ายังมีผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มากนัก และในขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยก็เริ่มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลในประเทศไทยสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด พร้อมทั้งยังมีอุปกรณ์ชุดป้องกัน PPE (PPE: Personal Protective Equipment ) ให้คณะแพทย์และบุคลาการทางการแพทย์ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อซึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสอยู่ตลอดเวลาได้ใช้อย่างเพียงพอแล้วนั้น แต่อย่างไรก็ตามเราต้องอย่าลืมตระหนักถึงว่าถ้าวันหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องแบบประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างเพียงพอ เทคโนโลยีที่ได้กล่าวมาข้างต้นอาจจะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์ในด้านเฝ้าระวังและการติดตามอาการผู้ป่วยว่าเข้าขั้นอาการหนักและย่ำแย่ลงหรือไม่ในระหว่างที่กักตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันการติดต่อเชื้อจากคนไข้สู่แพทย์ และเพื่อลดการเกิดโศกนาฏกรรมที่ผู้ป่วยติดเชื้อพักตัวอยู่บ้านแล้วอาการเกิดย่ำแย่ลงอย่างมาก เป็นต้น
อ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Big Data ได้ที่
#govbigdata #bigdata #bigdatathailand #datascience #dataengineer #dataanalytic #digitalthailand #COVID19
โฆษณา