18 ส.ค. 2020 เวลา 00:41 • ท่องเที่ยว
วัดราชบพิตร .. นอกเป็นไทย ในเป็นศิลปะตะวันตก
ในวันที่แสงแดดจ้ากลางฤดูร้อน ฉันมุ่งหน้าออกจากบ้าน ใช้บริการของเรือด่วนเจ้าพระยามุ่งหน้าสู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ … การเดินทางโดยทางน้ำก็เป็นตัวเลือกที่ฉันนิยมชมชอบ ด้วยการที่ไม่ต้องไปติดหนึบอยู่ท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดไปทั่งกรุง
ตลอดระยะเวลาของการเดินทางก็มีวิวทิวทัศน์สวยแปลกตาผ่านเข้ามาให้ชมไม่ขาดสาย และที่ดีที่สุดก็คือมีสายลมเย็นโชยผ่าน ทำให้การเดินทางรื่นรมย์ขึ้นอีกอักโข จนถึงจุดหมายปลายทาง
เดินเลียบเลาะริมรั้วสวนสราญรมย์ ระหว่างถนนอัษฏางค์และถนนเฟื่องนคร ก็จะเห็นพระอารามเบญจรงค์ตั้งตระหง่านอยู่
วัดราชบพิตร หรือวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นวัดแรก หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 1 ปี เมื่อ พ.ศ. 2412 เพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี
วัดราชบพิตร เป็นวัดธรรมยุกติกนิกาย สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2413 แล้วมีการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษาอยู่ พร้อมอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
วัดราชบพิตร สร้างเลียนแบบ 2 วัดคือ วัดพระปฐมเจดีย์ กับ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4
ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทรงคำนึงถึงว่า วัดเป็นศาสนสถานที่มีการสร้างขึ้นมากแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนวชิราวุธเป็นสถานศึกษาของกุลบุตร แทนการสร้างวัด
ด้วยแนวทางพระราชดำรินี้ รัชกาลที่ 7 ก็มิได้ทรงสร้างวัด หากทรงรับพระราชภาระทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์พระอารามนี้แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล
วัดราชบพิตร ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าหลายพะองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก เมื่อทรงผนวชเป็ยสามเณร
ภายในวัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง
วัดนี้สร้างตามโบราณราชประเพณี อย่างวัดราชประดิษฐ์ มีพระมหาเจดีย์เป็นหลัก ห้อมล้อมด้วยระเบียงบริวารทิศสองวิหาร เหนือ – ใต้ แบบวัดพระปฐมเจดีย์ คือพระอุโบสถกับพระวิหารวางแนวทิศตรงข้าม
ด้านข้างจะมีทางเข้าไปรอบๆพระเจดีย์ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณี ที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล
พระมหาเจดีย์ เป็นแบบทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณ ประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อัดพิมพ์นูนทั้งองค์
ฐานทักษิณเจาะเป็นซุ้ม 16 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ 14 ซุ้ม และพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช
ในด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก อีก 2 ซุ้ม เป็นประตูเข้าออกภายในพระเจดีย์
ภายในพระเจดีย์มีชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกอยู่ เป็นศิลปะแบบลพบุรี เล่ากันว่า มีการขุดพบใต้ต้นตะเคียนริมคลองหลอด ซึ่งเชื่อกันว่าคนที่อยากมีลูกมาขอพรก็จะมีลูกสมใจ
ภายในพระเจดีย์ยังมีทางขึ้นไปบนฐานเจดีย์ได้ ในอดีตสามารถมองเห็นภูเขาทองได้ด้วย ชั้นประทักษิณทำเป็นพนัก ระเบียงโปร่ง ยอดปลีเป็นลูกแก้วกลม ครอบพระกรัณฑ์และผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนสาเหตุที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม หมายถึงวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพงทั้ง 8 ทิศ ทำให้เสมาของวัดนี้พิเศษไม่เหมือนที่วัดอื่น
“ราชบพิตร” … หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง … “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึงพระอารามที่มีมหาเสมา หรือเสมาใหญ่
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ทั้งพระอุโบสถ วิหาร และเจดีย์ ระเบียงแก้ว ล้วนตกแต่งด้วยลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ทั้งสิ้น ทุกแผ่นเขียนด้วยมือ และออกแบบรูปทรงกระเบื้องขนาดต่างๆอย่างลงตัว ... ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ ระเบียง พระอุโบสถ
จากการที่มีศิลปกรรมกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ที่งามวิจิตรเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในประเทศไทยนี่เอง จึงได้รับการขนานนามว่า “พระอารามเครื่องเบญจรงค์”
จุดเด่นของวัดราชบพิตรอยู่ที่โครงสร้างของพระอุโบสถที่สูงโปร่ง การจัดวางผังที่ลงตัว ใครที่เคยไปที่วัดนี้คงยอมรับว่าเป็นพระอุโบสถที่สวยทั้งภายนอกและภายใน ขณะที่ภายนอกใช้ศิลปะไทยประดับกระเบื้องเคลือบที่งามวิจิตรแห่งเดียวในประเทศไทย
การตกแต่งภายในเห็นได้ชัดว่ามีอิทธิพลของวัฒนธรรมทางโลกตะวันตกอยู่มาก ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ของความลงตัวระหว่างตะวันตก และตะวันออก … สะท้อนจุดเปลี่ยนของไทย ที่เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และการรับเอาศิลปะตะวันตกเข้ามาแสดงให้เห็นผ่านเพดานโบสถ์ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิคของยุโรป
ผนังด้านในเมื่อปี 2472 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ได้ลบภาพพระพุทธประวัติออก และทำเป็นลายดอกไม้ร่วงสีทองบนพื้นสีฟ้าน้ำเงินแทน
รายละเอียดของสถาปัตยกรรมของวัด ยังชวนตื่นตา ตื่นใจ จากการผสานทั้งศิลปะทั้งตะวันออกและตะวันตก
อาทิ บานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถ ภายในปิดทองลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ภายนอกมีลายพิเศษสวยงาม มีนัยยะทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ ลวดลายจำลองมาจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 แบบ เรียงลำดับขั้นสูงต่ำ จากบนลงล่าง 5 ตระกุล ซึ่งการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 บานประตูนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะชิ้นสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์
พระประธาน ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานบนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี มีพระนามว่า “พระพุทธอังคีรส” แปลว่ามีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากพระวรกาย หล่อขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 กะไหล่ทองคำเนื้อแปด หนัก 180 บาท เป็นทองที่แต่งพระองค์รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ฐานบัลลังก์ทองเนื้อหก หนัก 48 บาท
รองรับเหนือพระพุทธอังคีรส มีนพปฎลมหาเศวตฉัตรกั้น เดิมเป็นเศวตฉัตรกั้นเหนือพระโกศพระบรมศพรัชกาลที่ 5
ภายใต้ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองบรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิ 6 พระองค์คือ รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 3 และพระบรมอัยยิกาเธอสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระธิดาในรัชกาลที่ 3 (พระอภิบาลรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงพระเยาว์)
พระพุทธนิรันตราย ประดิษฐานบนฐานชุกชีเบญจาหน้าพระพุทธอังคีรส ฐานชุกชีเบญจาซีกเล็กนี้เคยเป็นฐานประกอบแท่นที่ทรงพระโกศพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร มีเรือนแก้วเป็นพุ่มมหาโพธิ์ ยอดพระมหามงกุฎมีอักษรขอมจารึกพระนามแสดงพระพุทธคุณบนกลีบบัว ด้านหน้า 9 ด้านหลัง 9
ที่ฐานล่างสุดมีที่รองรับน้ำสรงพระ มีท่อทำเป็นรูปศีรษะโต หมายความว่า โคตมโคตร รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริพระราชทานแก่วัดในในคณะธรรมยุกติกนิกาย
พระวิหาร .. ลักษณะเดียวกับพระอุโบสถ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับใบลาน บรรจุในกล่องไม้สักทาน้ำมันบ้าง ทาสีบ้าง ลวดลายทำด้วยเส้นทองเหลืองฝังในเนื้อไม้ ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างวัด
ลวดลาย เส้นสายแบบศิลปะไทยๆถูกใช้ในการประดับตกแต่งผนังของวิหาร โดยมีสีทองอร่ามเป็นโทนสีหลัก .. เมื่อแสงตดลงมากระทบ เปล่งประกายแววับ อลังการมาก เป็นยุดที่คนที่ชอบถ่ายภาพชื่นชอบมากมายในการกดชัตเตอร์
ทางเข้าพระวิหาร
ในแต่ละวัน จะมีผู้ที่เลื่มใสศรัทธามาถวายสิ่งของ ซึ่งจะต้องติดต่อขออนุญาตทางวัดล่วงหน้า ..
ภายในพระวิหารงดงาม อลังการมาก ... ความอ่อนช้อยของศิลปะไทยผสมผสานอย่างลงตัวกับศิลปะแบบตะวันตก
บานประตูหน้าต่างประดับกระจกปิดทองแกะสลักลงสี ลวดลายจำลองเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เช่นเดียวกับพระอุโบสถ
เส้นสาย ลวดลายบนเพดาน มีกลิ่นอายของศิลปะตะวันตกที่งดงามมาก
ในพระวิหารมีพระประธาน นามว่า “พระพุทธประทีปวโรทัย” ปางมารวิชัย และพระพุทธอังคีรสน้อย (จำลองมา) เหนือองค์พระมีสัปตปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 7 ชั้น) เดิมกั้นเหนือพระโกศพระศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผนังพื้นสีชมพูดอกไม้ร่วงสีทอง
พระวิหารคด .. เป็นส่วนที่งดงามอีกแห่งหนึ่งด้วยส่วนโค้งของระเบียงที่มีความโอ่อ่าอลังการ แม้แต่กระเบื้องเคลือบตามมุมต่างๆก็โค้งมน ไม่มีส่วนที่แหลมยื่นออกมาเลย เป็นมุมพักสายตาที่ยอดเยี่ยมมาก เป็นส่วนที่เชื่อมกัน มี 4 ด้าน ล้อมองค์พระมหาเจดีย์
ผนังประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์
ทางเดินปูด้วยหินอ่อน มีเสาหินกลมรับเชิงชาย ด้านในเป็นพื้น 2 ชั้น ปูหินอ่อนมีเสาก่ออิฐฉาบปูนประดับหินอ่อนรับเครื่องบนและเชิงชาย
ศาลาราย ที่มุมพระวิหารทั้งสี่ด้าน … เป็นสถาปัตยกรรมแบบศาลาไทยเล็กๆ 2 ห้อง ตั้งอยู่หน้าอาคารทั้ง 4 ทิศ หน้าบันเป็นรูปเทพพนมอยู่ท่ามกลางลายกนก ผนังประดับประดาด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบชิ้นเล็ก ที่เพียงมองผ่านก็เห็นได้ชัดเจนถึงความประณีตในงานฝีมือของช่างชั้นครู
หอกลอง อยู่ทางทิศตะวันตก รูปทรงแบบเดียวกับหอระฆัง ประดับด้วยกระจกสี กั้นฝนสาด 3 ด้าน ตั้งอยู่ใกล้ศาลาการเปรียญคณะใน
วัดราชบพิธได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่หลบเสียง แม้ว่าอาณาเขตบริเวณวัดที่เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้จะอยู่ห่างจากถนนใหญ่เพียงไม่กี่ก้าวก็ตาม ทำให้สามารถพานพบทั้งความเงียบ และ ความสงบ ซึ่งนับวันจะหายากขึ้นเรื่อยๆในเมืองกรุง
วัดราชบพิธ ..สุสานหลวง
ในส่วนของบริเวณนอกกำแพงพระมหาสีมา (ใบสีมาธรรมจักรที่แสดงอาณาเขตเพื่อประกอบกิจทางสงฆ์) ด้านตะวันตก มีอนุสาวรีย์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรางคารแห่งสายพระราชสกุลในพระองค์
ทรงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นแม่กองจัดทำและออกแบบก่อสร้าง ต่อมาพระบรมวงศ์ฯ สร้างขึ้นในชั้นหลังบ้าง โดยตกแต่งเป็นงานศิลปกรรมหลากหลาย แต่ล้วนมีคุณค่าด้านงานศิลปะทั้งสิ้น ทั้งรูปทรงสถาปัตยกรรมผสานอิทธิพลทั้งยุโรป มุสลิมและขอม
ปัจจุบันอนุสาวรีย์มีจำนวนทั้งสิ้น 34 องค์ อนุสาวรีย์เหล่านี้เป็นสังเวชนียสถาน เครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงมรณานุสติระลึกถึงความตาย และความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขาร
ซึ่งถึงแม้ว่าด้วยเวลาที่ผ่านไปได้มีการเปลี่ยนแปลงจากต้นไม้และการจัดสวนใหม่บ้าง แต่ก็ยังมีเค้าความโบราณจากต้นไม้เก่าที่ทางวัดรักษาไว้ ทำให้สุสานหลวงยังคงเป็นสถานที่ ที่มีความขลังอยู่เต็มเปี่ยม
หากมีเวลาว่าง วัดราชบพิธ ยังรอให้ผู้คนมาพบกับเสน่ห์ของความลงตัวระหว่างตะวันตกและตะวันออก พร้อมทั้งความสงบภายในวัด ซึ่งเป็นความพิเศษท่ามกลางความเร่งรีบในการใช้ชีวิตของคนในเมืองใหญ่ ..
... เมื่อเดินดูความงามพออิ่มอารมณ์ ใกล้บริเวณวัดยังมีย่านชุมชนที่ตั้งอยู่คู่กับวัดมากว่า 100 ปี ให้เดินหาของอร่อยๆใส่ท้องให้คลายหิวได้ด้วยค่ะ
Note: พระอุโบสถของวัดราชบพิตร จะเปิดเฉพาะวันที่มีกิจพิเศษ จึงไม่มีภาพภายในพระอุโบสถ ต้องขอยืมมาเพื่อให้เรื่องราวสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อผู่ที่เข้ามาอ่าน
ขอบคุณอย่างสูง ภาพจาก :
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา