18 ส.ค. 2020 เวลา 08:00 • ข่าว
สหรัฐฯเตรียมขายเครื่องบินรบให้ไต้หวัน 66 ลำ การกระทำที่จีนเรียกว่าละเมิดอธิปไตย
-- การซื้อขาย เครื่องบินรบ --
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯได้ประกาศให้สัมปทานการผลิตเครื่องบินรบ F-16 เพื่อขายให้ต่างชาติ 90 ลำ ให้แก่บริษัท ล็อกฮีดมาร์ติน ซึ่งเป็นบริษัทด้านอากาศยาน อวกาศ และการป้องกันประเทศรายใหญ่ของโลก
แม้การประกาศบนเวบไซท์นี้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ซื้อ แต่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างแหล่งข่าวในกระทรวง ระบุว่ามีคำสั่งซื้อจากไต้หวันที่เสนอมาเมื่อปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของการซื้อขายครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะมีส่งไปไต้หวัน 66 ลำ และส่งไปโมร็อกโกอีก 24 ลำ
เครื่องบิน F-16 รุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า F-16V หรือไวเปอร์ (Viper) จะมาจากสายการผลิตที่โรงงานในเมืองกรีนวิลล์ รัฐเซาท์แคโรไลนา
วันเสาร์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน ได้เผยแพร่บทความวิจารณ์การซื้อขายเครื่องบินรบครั้งนี้
“แม้ว่าข้อตกลงการซื้อขายจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาลทรัมป์เมื่อปีที่ผ่านมา และการลงนามอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว แต่การประกาศ (เรื่องสัมปทานเครื่องบินรบ) ในช่วงเวลานี้ เป็นการยั่วยุโดยสหรัฐฯอีกครั้ง และเป็นการเหยียบบนเส้นแดงประเด็นไต้หวัน ที่เสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้า”
อย่างไรก็ตาม อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ดรูว ทอมป์สัน กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า การประกาศของกระทรวงฯ เป็นเรื่องของขั้นตอนมากกว่าที่จะเป็นการยั่วยุ เพราะล็อกฮีดมาร์ตินก็ต้องเตรียมผู้รับสัมปทานช่วงต่อเพื่อซัพพลายชิ้นส่วนในการผลิตอากาศยานครั้งนี้
-- ความตึงเครียด --
เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติการซื้อขายเมื่อปีที่แล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของทั้งฝั่งรีพับลิกันและเดโมแครตต่างออกมาแสดงความเห็นด้วย ว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าจริงจังกับพันธสัญญาของสหรัฐฯที่มีต่อประชาธิปไตยในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก
การอนุมัติการขายเกิดขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนในประเด็นไต้หวันกำลังเพิ่มขึ้นสูง และสถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อเล็กซ์ อซาร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ไปเยือนไต้หวัน นับเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงสุดที่เยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในรอบ 40 ปี
การมาเยือนของอซาร์ สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลจีน จนต้องออกมาประณามสหรัฐฯ และส่งเครื่องบินรบลาดตระเวนที่ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งรายงานของรัฐบาลไต้หวันและสหรัฐฯระบุว่าการลาดตระเวนที่เส้นแบ่งเขตตรงช่องแคบครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังประกาศว่าได้ซ้อบรบที่ทางตอนเหนือสุดและใต้สุดของช่องแคบไต้หวัน และการซ้อมรบครั้งนี้ “มีความจำเป็นเพื่อตอบโต้สถานการณ์ความมั่นคงในปัจจุบันในช่องแคบไต้หวัน และเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ”
1
-- สถานะของไต้หวัน --
เมื่อปี 1949 กลุ่มชาตินิยมจีน ได้แพ้สงครามให้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ และต้องล่าถอยหนีไปยังเกาะไต้หวัน และได้ประกาศให้เกาะไต้หวันนั้นเป็นสาธารณรัฐจีน (Republic of China) และถือเป็นรัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการมาหลายทศวรรษ
จนกระทั่งในปี 1971 สหประชาชาติได้ให้การรับรองรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ จึงทำให้นานาชาติก็เปลี่ยนนโยบายทางการทูตตามจีนแผ่นดินใหญ่แทน
ในยุคปัจจุบัน ไต้หวัน มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเพียง 17 ประเทศเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลแคริบเบียน และอเมริกากลาง
ทั้งนี้ สหรัฐฯคือพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน และยังเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ให้ด้วย แม้ว่าสหรัฐฯจะสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 แล้วก็ตาม
2
ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ แต่ไทยก็มี “สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย” ตั้งอยู่ในเมืองไทเปของใต้หวัน และไต้หวันก็มี “สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย” ในกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนรัฐบาล
-- การซื้อขายอาวุธระหว่างสหรัฐฯและไต้หวัน --
สหรัฐฯมีกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันตั้งแต่ปี 1979 ที่อนุญาตให้สหรัฐฯสามารถขายอาวุธให้ไต้หวันได้ และจีนก็ประท้วงการซื้อขายมาโดยตลอด ระบุว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็ไม่เคยได้ปกครองไต้หวันเลย
1
รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เตือนว่า ความได้เปรียบทางทหารของไต้หวันที่มีเหนือจีนนั้น กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อจีนมีการปรับปรุงกองกำลังให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังรายงานฉบับนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีการซื้อขายยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันมากขึ้น ทั้งรถถัง ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน และตอร์ปิโด
-- นโยบายจีนเดียว --
นโยบายจีนเดียว คือการยอมรับทางการทูตในสถานะของประเทศจีน ว่าจีนมีรัฐบาลเดียว คือรัฐบาลของจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้นโยบายนี้ ประเทศใดก็ตามที่ต้องการมีสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ก็ต้องตัดสัมพันธ์โดยตรงกับไต้หวัน
1
จีนมองว่าใต้หวันเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไป ไม่ใช่ประเทศที่มีสิทธิของตนเอง และวันหนึ่งจะกลับมารวมชาติกับแผ่นดินจีน ไม่ว่าจะต้องใช้กำลังก็ตาม ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ย้ำตลอดถึงความสำคัญของการรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งอันเดียวกัน “เพื่อความรุ่งเรือง”
โจนาธาน ซัลลิแวน นักวิเคราะห์ด้านจีนจากมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม ระบุว่า หากไต้หวันไม่ได้รับการรับรองจากทุกประเทศ ในท้ายที่สุด ก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับจีนในการทำให้รัฐบาลไต้หวันนั้นไม่มีความชอบธรรมในการปกครองประเทศ
1
โฆษณา