20 ส.ค. 2020 เวลา 09:00 • สุขภาพ
“ไทรอยด์”...มีไว้ทำอะไร?
ต่อมไทรอยด์... อวัยวะลึกลับชิ้นหนึ่งที่คนทั่วไปต่างต้องเคยได้ยิน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า...”มันมีเอาไว้ทำอะไร?"
อวัยวะชิ้นนี้สำคัญมากๆ ถ้าไม่มีมันแล้ว อวัยวะอื่นๆในร่างกายที่ก็จะขี้เกียจทำงานไปด้วยพร้อมๆกัน
เอาล่ะครับ มาดูกันดีกว่าว่า “ต่อมไทรอยด์” มันทำหน้าที่อะไร!
ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่อยู่บนคอด้านหน้าของคุณ แต่โดยปกติคุณจะคลำมันไม่เจอหรอก เพราะว่ามันมีขนาดบางมากๆและกลมกลืนไปกับผิวลำคอของคุณ โดยมีลักษณะเป็นแผ่นแผ่ออกไปทั้ง 2 ข้างลำคอ และด้วยลักษณะที่คล้ายกับโล่ ต่อมๆนี้จึงถูกตั้งชื่อในภาษาละตินว่า”Thyreoidea” ซึ่งแปลว่า”โล่ศึก”
ร่างกายของพวกเราประกอบไปด้วยระบบอวัยวะมากมาย โดยแต่ละระบบก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ระบบหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือด ระบบหายใจทำหน้าที่ฟอกอากาศ ระบบทางเดินอาหารทำหน้าที่ลำเลียงและดูดซึมอาหาร ระบบกล้ามเนื้อทำหน้าที่เคลื่อนไหว เป็นต้น
ระบบต่างๆเหล่านี้ทำหน้าที่ของพวกมันอยู่ตลอดเวลาเหมือนไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เซลล์ทุกๆเซลล์ในระบบต่างๆเหล่านี้ต้องทำงานอย่างแข็งขันเพื่อให้ระบบของตัวเองเดินหน้าต่อไปได้อย่างคงที่ โดยพวกเราเรียกกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ว่า”เมตาบอลิซึม(Metabolism)”
เมตาบอลิซึมเปรียบเสมือนกลไกเครื่องยนต์ระดับย่อยที่สุด โดยกลไกเครื่องยนต์เหล่านี้ต้องได้รับเชื้อเพลิงที่มากเพียงพออยู่ตลอดเวลา โดยเชื้อเพลิงที่สำคัญที่สุดสำหรับเซลล์ก็คือ”ออกซิเจนและสารอาหาร”
1
รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงดีย่อมการันตีว่ามันจะขับเคลื่อนได้ดี แต่อย่างไรก็ตามเซลล์ของมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร พวกมันคือเนื้อเยื่อที่สามารถเหนื่อยล้าได้ พวกมันสามารถรู้สึกเบื่อและขี้เกียจทำงานได้ ดังนั้นการให้เพียงเชื้อเพลิงจึงไม่ได้การันตีว่าเซลล์กว่าหมื่นล้านเซลล์ของพวกเราจะทำงานได้ตามที่คาดหวังไว้!
ต่อให้ม้าของคุณแข็งแรงมากเพียงใด พวกมันก็อาจขี้เกียจวิ่งได้ ต่อให้คุณเป็นคนขยันแค่ไหน คุณก็มีวันที่อยากพักผ่อน เซลล์ของพวกเราก็เช่นเดียวกัน พวกมันไม่อยากทำงานไปตลอดเวลาหรอก
ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่เซลล์ของพวกเราต้องการนอกจากออกซิเจนและสารอาหารนั้นก็คือ”การกระตุ้น”!
1
แล้วสิ่งใดล่ะ ที่คอยกระตุ้นเซลล์กว่าหมื่นล้านเซลล์ในร่างกายของพวกเรา?
คำตอบนั้น อยู่ภายในต่อมไทรอยด์ ซึ่งก็คือ ”ฮอร์โมนไทรอยด์”!
ฮอร์โมนไทรอยด์เพียงฮอร์โมนเดียวสามารถควบคุมการทำงานของเซลล์เกือบทุกเซลล์ที่อยู่ในร่างกาย และแทบทุกระบบอวัยวะที่กล่าวไป
2
สาเหตุที่ฮอร์โมนไทรอยด์สามารถทำเเบบนี้ได้ ก็เพราะมันมีหน้าที่สำคัญในการเพิ่ม”เมตาบอลิซึม”ภายในเซลล์ ไม่ว่าเซลล์นั้นๆจะทำงานอะไร ฮอร์โมนไทรอยด์สามารถกระตุ้นได้แทบทั้งหมด
โดยการใช้วิธีต่างๆ เช่น การเร่งให้มีการขนส่งออกซิเจนและสารอาหารมาที่เซลล์เพิ่มขึ้น การกระตุ้นให้เซลล์เปิดประตูรับสารอาหารต่างๆเหล่านั้นเพิ่มขึ้น กระตุ้นระบบเผาผลาญสารอาหาร กระตุ้นการสร้างวัตถุดิบที่จะใช้ในการทำงาน เป็นต้น
ต้องบอกว่าฮอร์โมนไทรอยด์นั้นมีหน้าที่จับฉ่ายมาก ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการกระตุ้น ฮอร์โมนนี้สามารถทำได้ทั้งหมด
1
ไทรอยด์ก็คือ”บอส”ของทุกๆอวัยวะนั่นเอง!
เมื่อบอสคนนี้มาถึงหน้างานแล้ว...
หัวใจก็จะบีบตัวแรงขึ้น!
ลำไส้ก็จะลำเลียงและดูดซึมอาหารดีขึ้น!
กล้ามเนื้อก็จะเคลื่อนไหวดีขึ้น!
สมองก็จะโลดแล่นมากขึ้น!
และอวัยวะอื่นๆก็จะทำงานมากขึ้นเช่นกัน!
แม้ว่าฮอร์โมนไทรอยด์ไม่สามารถทำหน้าที่ต่างๆเหล่านี้ได้ แต่ว่ามันสามารถสั่งให้อวัยวะต่างๆเหล่านี้ทำงานให้หนักมากขึ้นได้
ถ้าขาดฮอร์โมนไทรอยด์นี้ไป เซลล์ต่างๆก็จะอู้งานทันที หัวใจเริ่มเต้นช้าลง ลำไส้ไม่ทำงานจนท้องผูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไร้เรี่ยวเเรง สมองเฉื่อยชา สมาธิแย่ลง เผาผลาญแย่ลงจนน้ำหนักขึ้น ร่างกายไร้ความอบอุ่น ขี้หนาว และอาการอื่นๆอีกมากมาย นี่คือสิ่งที่จะเกิดพร้อมกันทั้งหมดเพียงแค่การขาดฮอร์โมนเพียงตัวเดียว และนี่ก็คือ”โรคไทรอยด์ต่ำ(Hypothyroidism)” นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม โรคไทรอยด์ต่ำเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับโรคไทรอยด์สูง หรือที่คนทั่วไปคุ้นชินกับคำว่า”ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)”
โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะที่มีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป เมื่อบอสเข้มงวดมากเกินไป ก็ทำให้หัวใจเต้นเร็วจนใจสั่น ลำไส้ทำงานมากจนถ่ายบ่อย หิวบ่อย กล้ามเนื้อทำงานมากขึ้นจนตัวสั่นมือสั่น กระวนกระวาย เผาผลาญทำงานมากเกินไปจนน้ำหนักลด และมีความร้อนเกิดขึ้นมากเกินไปจนทำให้ขี้ร้อน เหงื่อแตกง่าย และอาการอื่นๆอีกมากมาย
โรคไทรอยด์เป็นพิษนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วก็เกิดขึ้นมาเองแม้ไม่มีความเสี่ยงชัดเจนใดๆ ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีป้องกันใดๆที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็โชคดีที่โดยส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาให้หายได้
และนี่ล่ะครับ ก็คือหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ ชื่อที่คุ้นหูแต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามันมีเอาไว้ทำอะไร
ฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบอวัยวะทั่วร่างกาย ดังนั้นเมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มันจึงทำให้เกิดปัญหาได้ทั่วทั้งร่างกายเช่นกัน
มันคือบอสที่คอยช่วยขับเคลื่อนการทำงานทุกๆอย่างที่อยู่ในร่างกายคุณ สุดท้ายก็หวังเพียงว่าต่อมไทรอยด์อย่าขยันทำงานมากเกินไป จนทำให้ไทรอยด์เกิดเป็นพิษขึ้นมาก็แล้วกัน...
#Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
# นพ.เวชกร รัตนนิธิกุล
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
โฆษณา